ล่า 6 หมื่นชื่อ ยื่น คกก.ปฏิรูปฯ ใช้หลักประเมิน 'ปล่อยตัวชั่วคราว' ไม่ต้องวางเงินประกัน
เครือข่ายฯ คลอดแคมเปญ “ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน” ล่า 6 หมื่นชื่อ ยื่น คกก.ปฏิรูปฯ หวังใช้ระบบประเมินความเสี่ยงปล่อยตัวชั่วคราว พิจารณาจากข้อมูล ไม่ต้องใช้เงินประกัน ข้อมูลวิจัยฯ ชี้ใช้เงินประกันทำลายชีวิต-โอกาสคนจน กว่า 6 หมื่นคน/ปี เสียหาย 8.5 พันล.
วันที่ 11 ต.ค. 2560 เครือข่ายปฏิรูปการประกันตัวเพื่อคนจน จัดแถลงข่าวและเสวนาวิชาการ หัวข้อ ปฏิรูปการประกันตัวเพื่อความเสมอภาคในสังคม:ร่วมกันแสวงหามาตรการทดแทนการขังระหว่างการพิจารณา ณ ห้องประชุม จิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
นายมุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา กล่าวถึงประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำในการพิจารณาขังเหมือนกับไทย คือ สหรัฐอเมริกา ได้ใช้เงินเป็นหลักในการปล่อยตัวชั่วคราว และเกิดอาชีพ ‘นายประกัน’ ขึ้น อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ พยายามแก้ไขปัญหา โดยใช้ระบบประเมินความเสี่ยงปล่อยตัวชั่วคราว มีวิธีการรวบรวมสำนวนคดีทั้งหมด จนค้นพบ 10 ปัจจัยหลัก ที่ทำให้คนหนี และจากการนำมาใช้ที่ศาลกรุงวอชิงตัน ดีซี เป็นแห่งแรก ปรากฎว่า เมื่อปล่อยตัวออกไป ส่วนใหญ่กลับมารายงานตัวที่ศาล มีเพียงร้อยละ 8 เท่านั้น ที่หนี
“ประเทศไทยได้นำระบบการประเมินความเสี่ยงปล่อยตัวชั่วคราวจากสหรัฐฯ มาใช้ ซึ่งได้มีการพัฒนางานวิจัย โดยการให้ค้นสำนวนคดีของศาลอาญา ศาลจังหวัดเชียงใหม่ และศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ค้นพบ 14 ปัจจัยหลัก ที่ทำให้คนหนี ซึ่งปัจจัยเหล่านั้นไม่ใช่จำนวนเงิน” ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลฯ กล่าว และว่า สิ่งที่ค้นพบจากการทำนาย คือ คนที่เคยหนีจะมีความเสี่ยงจะหนีอีกถึง 17 เท่า ในขณะที่คนผูกพันกับท้องถิ่น จะไม่หนี อย่างไรก็ตาม ระบบการประเมินความเสี่ยงฯ จะต้องมีการพัฒนาทุก 2-3 ปี
นายมุขเมธิน ยังกล่าวปัจจุบันได้ขยายการใช้ระบบประเมินความเสี่ยงฯ 20 แห่งทั่วประเทศ แต่ยังพบข้อจำกัด ‘บุคลากร’ ซึ่งระบบราชการไม่สามารถเพิ่มบุคลากรในศาลได้ตามต้องการ ทำให้การนำร่องจะต้องคัดเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับคนจนเท่านั้น โดยผลปรากฎว่า สามารถปล่อยคนได้ 700 คน มีคนหนีเพียงร้อยละ 5 ซึ่งในกลุ่มคนหนีส่วนใหญ่ ไม่มีเจตนา แต่เดินทางมาศาลไม่ได้ เพราะไม่มีเงิน ดังนั้น เบื้องต้นจึงต้องพึ่งพาเจ้าหน้าที่ตำรวจอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ทั้งนี้ กระบวนการทั้งหมดจะต้องเร่งขยายผล ยกเว้นในคดีที่เกี่ยวข้องกับความผิดร้ายแรงเท่านั้น
ขณะที่ นายเฮนนิ่ง กลาซเซอร์ ผอ.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนโยบายสาธารณะและธรรมาภิบาล เยอรมัน-อุษาคเนย์ (CPG) กล่าวเพิ่มเติมถึงรูปแบบการพิจารณาปล่อยชั่วคราว โดยไม่ต้องใช้เงินประกัน ในเยอรมัน จะได้รับการยกเว้นในคดีไม่ร้ายแรง และจะพิจารณาฝากขังต่อเมื่อมีข้อสงสัยหนักแน่นแล้วว่า กระทำความผิด ซึ่งแตกต่างจากไทย ที่ปรากฎเพียงมูลเหตุเข้าเงื่อนไขฝากขังได้แล้ว หรือพิจารณาแล้วหากปล่อยตัวไปจะมีสัดส่วนก่อให้เกิดความเสียหายกับรัฐและการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ อย่างไรก็ตาม ศาลในเยอรมันจะพิจารณาเป็นรายคดี และหากจะใช้เงินประกันจะต้องคำนึงถึงสภาวะเศรษฐกิจของจำเลยแต่ละคนด้วย
ด้านนายบุญรอด ตันประเสริฐ ผู้พิพากษาอาวุโส ศาลอุทธรณ์ ภาค 1 กล่าวว่า ปี 2555-57 มีคนไม่ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวมากถึงกว่าร้อยละ 60 ในขณะที่กว่าร้อยละ 30 ที่มีการยื่นคำร้อง กว่าร้อยละ 90 ศาลมีคำสั่งอนุญาต ซึ่งชี้ให้เห็นว่า การทำงานของศาล หากไม่มีการยื่นคำร้องเข้ามา ศาลจะไม่พิจารณาให้ปล่อยตัวชั่วคราว แต่จะออกหมายขังจนกว่าการพิจารณาคดีจะเสร็จสิ้น ทางออกจะต้องทำงานในเชิงรุกในเรื่องข้อมูล เพราะปัจจุบันสรุปได้แล้วว่า เงินไม่ใช่หลักประกันที่จะแสดงว่าจะไม่หนี เพราะหลักประกัน 30 ล้านบาท ในบางคดีจะหนี ดังนั้น คนคิดหนีจึงไม่ขึ้นอยู่กับเงินประกัน
สุดท้าย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวถึงความเป็นไปได้จะทำให้ระบบประเมินความเสี่ยงฯ เกิดขึ้นทุกศาลทั่วประเทศ เครือข่ายฯ ได้จัดแคมเปญ ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน ผ่านช่องทาง Change.org/BailReform ซึ่งปัจจุบันมีผู้ร่วมลงชื่อแล้ว 10,462 รายชื่อ จากเป้าที่ตั้งไว้ 6 หมื่นรายชื่อ ซึ่งเท่ากับจำนวนผู้ต้องขังระหว่างดำเนินคดีต่อปีของประเทศไทย โดยจะนำรายชื่อทั้งหมดที่ได้ยื่นต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ให้บรรจุอยู่ในแผนปฏิรูปแห่งชาติด้านกระบวนการยุติธรรม และคาดหวังจะไม่มีวลีที่ว่า คุกมีไว้ขังคนจน อีกต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ข้อมูลการวิจัยของสถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์ สำนักงานศาลยุติธรรม พบว่า ที่ผ่านมาระบบการใช้เงินเพื่อประกันตัวทำลายชีวิตและโอกาสของคนจนกว่า 6 หมื่นคน/ปี คิดเป็นตัวเลขความเสียหายราว 8.5 พันล้านบาท/ปี แบ่งเป็นเรือนจำต้องมีค่าใช้จ่าย กว่า 2.5 พันล้านบาท/ปี และคนเสียโอกาสในการทำงานหารายได้กว่า 6 พันล้านบาท/ปี .