ป.ป.ช.สั่ง จนท.ศึกษารื้อคดี‘ทักษิณ’แล้ว! ‘เอ็กซิมแบงก์-หวยบนดิน’โดนหมด
ป.ป.ช. สั่ง จนท. ศึกษา กม.ลูกคดีอาญานักการเมืองใหม่แล้ว ไม่ใช่รื้อแค่คดี ‘ทักษิณ’ แต่ดูหมดทุกคน แนวโน้มต้องยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯ เหตุมีผลใช้บังคับ ‘คดีกรุงไทย-คดีเอ็กซิมแบงก์-คดีหวยบนดิน’ ติดโผ
จากกรณีนายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุว่า เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2560 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะพิจารณา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น ประมวลกฎหมายอาญา เพื่อหารือว่า จะมีมติยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีที่ ป.ป.ช. เคยเป็นโจทก์ฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้พิจารณาคดีดังกล่าวอีกครั้งหรือไม่นั้น (อ้างอิงข่าวจาก ไทยโพสต์ออนไลน์)
เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2560 สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวระดับสูงในสำนักงาน ป.ป.ช. ถึงกรณีนี้ว่า เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2560 ที่ผ่านมาที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้หารือประเด็นนี้จริง เบื้องต้นมีมติให้เจ้าหน้าที่ไปศึกษาข้อมูลคดีว่า เหลือคดีไหนบ้างที่ยังค้าง หรือติดขัดอยู่ รวมถึงดูอายุความคดีด้วย อย่างไรก็ดีไม่ใช่แค่เฉพาะคดีของนายทักษิณเท่านั้น แต่หมายถึงคดีอื่น ๆ ด้วย อย่างไรก็ดีการศึกษาข้อมูลคดีดังกล่าวอาจติดขัดอยู่บ้าง เพราะเรื่องเกิดขึ้นมานานแล้ว และเจ้าหน้าที่บางรายที่รับผิดชอบเติบโต หรือโยกย้ายไปดำรงตำแหน่งอื่น จึงต้องใช้ระยะเวลาสักระยะ
แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า เชื่อว่าแนวโน้มจะต้องดำเนินการยื่นคำร้องทั้งหมด เพราะ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้แล้ว และกฎหมายฉบับนี้บัญญัติไว้ชัดเจนว่า สามารถยื่นคำร้องให้ดำเนินคดีได้ เนื่องจากเปิดช่องให้ศาลฎีกาฯพิจารณาลับหลังจำเลยได้ จากเดิมหากจำเลยไม่มาศาล หรือหลบหนี ต้องจำหน่ายคดีออกจากสารบบชั่วคราว
แหล่งข่าว กล่าวว่า สำหรับคดีของนายทักษิณ เท่าที่ตรวจสอบพบตอนนี้มีอยู่ 2 คดีด้วยกัน ได้แก่ คดีปล่อยเงินกู้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ และคดีการออกสลากหวยบนดิน เป็นต้น แต่ต้องศึกษาให้รอบคอบชัดเจนว่า ยังมีคดีไหนที่ค้างอยู่อีกบ้าง และคดีไหนหมดอายุความลงไปแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 27 ระบุว่า ในการยื่นฟ้องคดีต่อศาล ให้อัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหามาศาลในวันฟ้องคดี ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาศาลและอัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหลักฐานแสดงต่อศาลว่าได้เคยมีการออกหมายจับผู้ถูกกล่าวหาแล้วแต่ยังไม่ได้ตัวมา หรือเหตุที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาศาลเกิดจากการประวิงคดี หรือไม่มาศาลตามนัดโดยไม่มีเหตุแก้ตัวอันควร ให้ศาลประทับรับฟ้องไว้พิจารณาได้ แม้จะไม่ปรากฏผู้ถูกกล่าวหาต่อหน้าศาล
มาตรา 28 ในกรณีที่ศาลประทับรับฟ้องไว้ตามมาตรา 27 และศาลได้ส่งหมายเรียกและสําเนาฟ้องให้จําเลยทราบโดยชอบแล้วแต่จําเลยไม่มาศาล ให้ศาลออกหมายจับจําเลยและให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการติดตามหรือจับกุมจําเลยรายงานผลการติดตามจับกุมเป็นระยะตามที่ศาลกําหนด
ในกรณีที่ได้ออกหมายจับจําเลยและได้มีการดําเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว แต่ไม่สามารถจับจําเลยได้ภายในสามเดือนนับแต่ออกหมายจับ ให้ศาลมีอํานาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทําต่อหน้าจําเลยแต่ไม่ตัดสิทธิจําเลยที่จะตั้งทนายความมาดําเนินการแทนตนได้
บทบัญญัติมาตรานี้ไม่เป็นการตัดสิทธิจําเลยที่จะมาศาลเพื่อต่อสู้คดีในเวลาใดก่อนที่ศาลจะมีคําพิพากษา แต่การมาศาลดังกล่าวไม่มีผลให้การไต่สวนและการดําเนินกระบวนพิจารณาที่ได้ทําไปแล้วต้องเสียไป
ส่วนมาตรา 69 ระบุว่า บทบัญญัติในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ นี้ไม่กระทบต่อการดําเนินการใด ในคดีที่ยื่นฟ้องไว้และได้ดําเนินการไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ส่วนการดําเนินการต่อไปให้ดําเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้