รัฐสวัสดิการ...
อเมริกาเริ่มดำเนินการเรื่องนี้จริงจังสมัย Frances Perkins เป็น Secretary of Labour ให้กับประธานาธิบดีรูสเวลท์ มุ่งที่จะสร้างหลักประกันบางอย่างให้แก่ประชาชน เพื่อมิให้ต้องอดอยาก ขาดปัจจัยใช้สอยที่จำเป็นต่อการดำรงชีพเวลาเจอปัญหาวิกฤติ ทั้งนี้ Perkins ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้บุกเบิกเรื่องนี้อย่างจริงจัง
แต่จริงๆ คนคิดเรื่องนี้นั้นต้องย้อนกลับไปสมัยอาณาจักรเยอรมันคือ Otto von Bismarck ซึ่งพยายามทำเรื่องนี้เพื่อป้องกันมิให้ประชาชนหวนคิดอยากกลับไปสนับสนุนแนวคิดการปกครองแบบ Karl Marx และ Friedrich Engels
หากย้อนดูรายละเอียดดีๆ คงเป็นสัจธรรมในสังคม ที่หากเราเปิดให้ใช้ชีวิต ค้าขายธุรกิจตามหลักเสรีนิยม ก็จะมีผู้ชนะและผู้แพ้ คนรวยและคนจน ทั้งนี้คนรวยก็มีแนวโน้มได้เปรียบในการแข่งขันมากขึ้นเรื่อยๆ จนครองทรัพยากรต่างๆ จนหมดหรือเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่คนจนก็จะมากขึ้นเรื่อยๆ โอกาสถดถอยลงเรื่อยๆ หรือที่เราเรียกว่าปรากฏการณ์ช่องว่างทางสังคมที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วดังที่พบเห็นดาษดื่นในปัจจุบัน
ในขณะเดียวกัน หากไม่เปิดเสรี แต่มีรัฐหรือใครสักคนสักพวกที่จัดการเบ็ดเสร็จ สร้างกรอบการใช้ชีวิตสำหรับประชาชน พร้อมจัดสรรสิ่งต่างๆ ให้ เพื่อให้ทุกคนได้เท่ากัน แม้จะดูยุติธรรมในหลักการ แต่เราย่อมรู้กันดีว่าไม่มีความยุติธรรมแบบหมดจดในโลกนี้ ระบบดังกล่าวกลับทำให้วงอำนาจมีสิ่งต่างๆ ล้นเหลือ ทั้งอำนาจ ตำแหน่ง และทรัพยากร ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้สิ่งที่จัดสรรให้แม้จะเท่ากัน แต่โอกาสเพียงพอนั้นแทบไม่มี และนำมาซึ่งการวิ่งเต้นหลากหลายรูปแบบตามมาไม่มีที่สิ้นสุด
ด้วยเหตุดังกล่าว หลายคนจึงประจักษ์ชัดว่า เสรีสุดโต่งก็ไม่ดี รวมศูนย์อำนาจสุดโต่งก็ไม่ไหว เลยถวิลหาแนวทางกลางๆ เป็นแนวทางที่เรียกหรูๆ ในรูปแบบระบบจัดการความเสี่ยงในชีวิตที่เรียกว่า "รัฐสวัสดิการ หรือสวัสดิการแห่งรัฐ"
เล่าไปเล่ามาเริ่มคิดถึงเรื่องคุ้นๆ ใกล้ตัวพวกเราใช่ไหม
สวัสดิการนั้นมีทั้งในรูปแบบผลประโยชน์ที่ได้รับเมื่อคนนั้นมีคุณสมบัติตามที่กำหนด (benefits) และในรูปแบบสิทธิที่ทุกคนจะได้เหมือนกันหมด (rights)
ไม่ว่าที่ใดๆ ก็พบสถานการณ์แบบเดียวกันคือ ทรัพยากรมีจำกัด ในขณะที่ความต้องการของคนนั้นไม่มีที่สิ้นสุด
คำถามสำคัญที่ต้องช่วยกันขบคิดคือ หากจะจัดระบบรัฐสวัสดิการภายใต้ทรัพยากรที่มีจำกัดและความต้องการที่ไม่มีที่สิ้นสุดหรือเกินคาดประมาณนั้นจะมีลักษณะอย่างไร อะไรเป็นผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม (benefits) และอะไรเป็นสิทธิของทุกคน (rights)
ใจเย็นครับ ค้นหาให้พลิกแผ่นดินพลิกโลกก็ไม่มีคำตอบสำเร็จรูปให้เราก๊อปปี้มาใช้ เพราะยังไม่มีที่ใดเลยที่จะตอบคำถามดังกล่าวได้
หลายคนจึงเริ่มตระหนักว่า คนที่จะตอบได้นั้นมีแค่คนในสังคมนั้นที่จะช่วยกันคิด ช่วยกันลองทำ และเรียนรู้ไป หรือง่ายๆ สั้นๆ ว่า โลกสวยด้วยมือเรานั่นเอง
เมืองไทยจะทำอย่างไรคงต้องติดตามกันดูว่า วิวาทะที่ผ่านมาระหว่างกลุ่มในวงการสุขภาพก่อให้เกิดความขุ่นข้องหมองใจระดับหนึ่ง ภายใต้ความปรารถนาที่จะปรองดอง แต่สุดท้ายก็ดูเหมือนสงบลงไปผ่านเกมส์การชิงไหวชิงพริบ จนเกิดการจัดสรรอำนาจบทบาทหน้าที่กันอย่างสุขสมอารมณ์หมาย ตอนนี้เหมือนจะอยู่ในระยะเก็บตัว และขับเคลื่อนแบบเงียบๆ ระแวดระวังท่าทีเลยทีเดียว
เรื่องรัฐสวัสดิการนั้นหลายที่ในโลกพยายามทำ แคนาดาก็เช่นกันตั้งแต่ช่วงค.ศ.1970 ต้นๆ โดยรัฐบาลสมัยนั้นทดลองทำโครงการจัดสรรเงินเลี้ยงชีพขั้นพื้นฐานให้ประชาชนทุกคนเท่าๆ กัน ในพื้นที่นำร่อง 3 เมือง ได้แก่ Winnipeg, Manitoba และ Dauphin ภายใต้ชื่อว่าโครงการทดลอง Mincome โดยทำในลักษณะการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม แล้วติดตามดูว่าจะเกิดผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพหรือไม่ อย่างไร
ทำไป 4 ปี พอเปลี่ยนรัฐบาลก็ยุติไป ไม่มีรายงานอย่างเป็นทางการออกมา แต่มีรายงานย่อยๆ ในลักษณะผลวิจัยจากกลุ่มนักวิชาการแต่ละแขนงที่ติดตามโครงการนี้ออกมาเรื่อยๆ สรุปได้ความว่า การแจกเงินในลักษณะดังกล่าวใช้งบจำนวนมากเพื่อสร้างหลักประกันความเสี่ยงไม่ให้ประชาชนขัดสนจนอดอยากนั้นไม่ได้ทำให้เกิดผลกระทบทางลบที่หลายคนกังวล กล่าวคือ ไม่ได้ทำให้คนลาออกจากงานมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (เพื่อรอรับแต่เงินเลี้ยงชีพโดยไม่ทำงาน)
ที่น่าสนใจคือ หลังจากการดำเนินการดังกล่าวไป อัตราการมาใช้บริการรักษาพยาบาลของประชาชนในพื้นที่นำร่องเหล่านั้นลดลงราวร้อยละ 10 ทั้งแผนกผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน และฉุกเฉิน รวมถึงรายงานปัญหาด้านจิตเวช เช่น เครียด ซึมเศร้า ก็ลดลงในอัตราใกล้เคียงกัน
เล่ามาให้อ่านเล่นประดับความรู้ และคิดต่อยอดกันตามอัธยาศัย เพราะยังไม่มีการติดตามศึกษาความคุ้มค่าโดยรวมจากการดำเนินนโยบายเช่นนี้ และความเป็นไปได้ในการจัดการระดับประเทศ เพราะเห็นค่อนข้างชัดเจนว่างบประมาณที่ใช้อาจเป็นก้อนใหญ่เบ้อเริ่มแปรผันตามระดับเงินเลี้ยงชีพที่จัดสรรให้ประชาชน
รัฐสวัสดิการเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทั่วโลก ภายใต้สังคมเศรษฐกิจที่อิงแอบแนบชิดกับระบบทุนนิยม
แต่ช่างท้าทายเหลือเกินว่า เราจะจัดการระบบสวัสดิการนี้ให้คนของเราอย่างไรดี
ด้วยรักต่อทุกคน
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก thestandard.com