"ผมพร้อมตรวจสอบกองทัพ": เปิดอก 'พล.อ.ชนะทัพ อินทามระ' ปธ.คตง.โลโก้ 'ทหาร' รบ.สั่งไม่ได้
"...ไม่ใช่การแทรกแซง แต่เรากำหนดนโยบายได้ ทุกอย่างที่ผู้ว่าสตง.ทำต้องให้เกิดความยุติธรรมจริง ไม่ใช่ใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขต เรื่องดุลยพินิจมันตีความกันเยอะ หลายหน่วยงานขอมาว่าท่าทีของสตง.ต้องชัดเจน ถ้าทุจริตก็ให้ทำตามกระบวนการ แต่บางครั้งไปกล่าวหาโดยไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมด ผมจะแก้ปัญหาตรงนี้ ผมจะแก้ปัญหาภายในให้ทุกภาคส่วนยอมรับก่อน จะจัดอบรมทุกภาคเพื่อให้การทำงานเป็นในทิศทางเดียวกัน..."
พลันที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ชุดใหม่ เข้ามารับตำแหน่งเป็นทางการ พร้อมปรากฎชื่อ พล.อ.ชนะทัพ อินทามระ ซึ่งมีโลโก้ 'ทหาร' ติดอยู่อย่างโดดเด่น ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง ประธานคตง.
ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไร หาก ประธาน คตง. คนนี้ จะถูกจับตามองว่า ยากที่จะไปตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มดาบ เพราะเป็น 'ทหาร' เหมือนกัน
โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้ออาวุธ ของหน่วยงานกองทัพ ที่จัดซื้อมาจำนวนมากในรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งกำลังถูกตั้งคำถามจากสังคม ในเรื่องความคุ้มค่ากับเงินงบประมาณที่ใช้จ่ายไปหรือไม่
เพื่อไขข้อข้องใจกับสังคม และเพื่อความเป็นธรรมกับพล.อ.ชนะทัพ อินทามระ ประธาน คตง. รายนี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้ต่อสายพูดคุยโดยตรง แบบเปิดใจชัดๆ กับทุกคำถามที่คนในสังคมต้องการคำตอบยืนยัน
นับจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป ทุกความสงสัยมีคำตอบ!
--------------------------
@ นโยบายและแนวทางการทำงานของคตง.ภายใต้การนำของพล.อ.ชนะทัพเป็นอย่างไร
"ขณะนี้กำลังเตรียมการทำนโยบายใหม่ โดยต้องกำหนดนโยบายให้ครอบคลุมการทำงานทุกมิติมากที่สุด เราจะไม่ตรวจการใช้งบประมาณของรัฐเพียงอย่างเดียว แต่ต้องตรวจการใช้ทรัพยากรของรัฐและสมบัติของชาติทุกอย่าง หากหน่วยงานของรัฐดำเนินการไม่ถูกต้องเราจะแจ้งเตือนในทุกเรื่อง เพื่อให้สมบัติของแผ่นดินถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด"
"นอกจากนี้ผมจะสั่งปรับการทำงานให้เข้ากับยุคไทยแลนด์ 4.0 เช่นการจัดชุดตรวจลงพื้นที่จะต้องทำงานครอบคลุมทุกอย่าง เพราะที่ผ่านมาการจัดชุดตรวจลงพื้นที่ ก็จะแยกเรื่องกันทำงาน แต่ตนจะจัดชุดทีมงานทำงาน เพื่อให้เกิดความคล่องตัว สามารถทำงานเชิงรุกได้รวดเร็ว และสามารถแจ้งเตือนหน่วยงานของรัฐได้ว่าเรื่องไหนเกิดปัญหาขึ้นบ้าง เราจะไม่รอให้เกิดปัญหาแล้วมาสรุป ทำงานเรื่องหนึ่งนานหลายปีมันก็จะเกิดปัญหา"
"และหลังจากนี้จะกำชับไม่ให้เจ้าหน้าที่ที่ทำการตรวจสอบหรือลงไปปฏิบัติให้ข่าวกับสื่อมวลชน เพราะจะทำให้คู่กรณีเกิดความเสียหาย เพราะหลายเรื่องเมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วให้ข่าวไป แต่สุดท้ายกลับไม่พบการกระทำผิด จะทำให้คู่กรณีถูกพิพากษาไปแล้วว่าทุจริต ถูกสังคมตราหน้าเรียบร้อยแล้ว แบบนี้มันไม่ยุติธรรม ฉะนั้นการให้ข่าวก็ต้องมาคิดกันใหม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบไหน"
@ จะบอกว่าคนที่จะแถลงข่าวหรือให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนไม่ควรเป็นผู้ว่าสตง. แต่ควรเป็นคณะกรรมการคตง.มากกว่า
"การที่ผู้ว่าสตง.มารับผิดชอบเรื่องการแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ผมคิดว่ามันไม่น่าถูก ควรจะทำแบบมติของคณะกรรมการคตง.มากกว่า เพราะจะเกิดความยุติธรรมที่สูงกว่า"
"ขณะนี้เรากำลังดูว่าจะสามารถให้ผู้ว่าสตง.เข้ามาชี้แจงกับคณะกรรมการคตง.ได้มากแค่ไหน เพราะผู้ว่าสตง.อ้างว่าเขามีอิสระ แต่อิสระควรอยู่ในรูปแบบการวางแผนการตรวจ เมื่อตรวจสอบแล้วก็น่าจะทำให้เกิดความยุติธรรมกับทุกภาคส่วน ไม่ใช่ไปอิสระหมด จนเกิดปัญหามากมายแบบที่ผ่านมา บางทียังไม่ชัดเจน แต่เขาเสียหายไปแล้ว"
@ หากกำหนดกฎเกณฑ์การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ จะถูกมองว่าแทรกแซงการทำงานของฝ่ายประจำหรือไม่
"ไม่ใช่การแทรกแซง แต่เรากำหนดนโยบายได้ ทุกอย่างที่ผู้ว่าสตง.ทำต้องให้เกิดความยุติธรรมจริง ไม่ใช่ใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขต เรื่องดุลยพินิจมันตีความกันเยอะ หลายหน่วยงานขอมาว่าท่าทีของสตง.ต้องชัดเจน ถ้าทุจริตก็ให้ทำตามกระบวนการ แต่บางครั้งไปกล่าวหาโดยไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมด ผมจะแก้ปัญหาตรงนี้ ผมจะแก้ปัญหาภายในให้ทุกภาคส่วนยอมรับก่อน จะจัดอบรมทุกภาคเพื่อให้การทำงานเป็นในทิศทางเดียวกัน"
@ แสดงว่าจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการตรวจสอบด้วย
"ใช่ เพราะที่ผ่านมาผู้ว่าสตง.จะพิจารณาโดยใช้ดุลยพินิจได้เลย ผมคิดว่ามันยังขาดกระบวนการจากคณะกรรมการคตง.อยู่ ซึ่งจะต้องดูอีกทีว่าจะปรับรูปแบบการทำงานกันอย่างไร อย่าลืมว่าการลงโทษคนบางทีมันก็เป็นบาปนะ ยิ่งถ้าเกิดเขาไม่ผิด แล้วเขาถูกตราหน้าว่าผิด มันจะยิ่งบาป"
@ ถูกมองว่าเข้ามานั่งเก้าอี้ประธานคตง.ได้ด้วยพลังพิเศษจากคสช. การตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลชุดนี้อาจจะไม่เข้มข้น
"(ตอบสวนทันที) ผมสมัครเข้ามาตามขั้นตอน ไม่ได้เกี่ยวกับรัฐบาลและคสช. ผมไม่เคยไปหาใครเลย และคณะกรรมการชุดนี้ได้คนที่ยึดมั่นว่าการทำงานต้องถูกต้อง แม้ที่ผ่านมาสตง.จะถูกโจมตีเยอะ เพราะงานขาดกระบวนการที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพ ผมยืนยันเลยว่าโครงการของรัฐหากโครงการใดส่อว่าจะเกิดการใช้งบประมาณไม่คุ้มค่า ผมก็จะสั่งให้ตรวจสอบทันที แต่ต้องทำอย่างรอบคอบ ต้องไม่รีบร้อนจนมากเกินไป"
@ การจัดซื้ออาวุธของกองทัพที่หลายฝ่ายกำลังจับตามอง พร้อมเข้าไปตรวจสอบหรือไม่
"ครับ เราต้องเข้าไปดูว่าเขาดำเนินการอย่างไร เพราะกองทัพมักจะวางแผนซื้ออาวุธในระยะยาว เนื่องจากบางทีงบประมาณจะยังมีไม่เพียงพอ เขาก็รอจนถึงจังหวะที่พอมีงบประมาณรองรับได้ จึงจะมีการดำเนินการจัดซื้อ"
@ หากจัดซื้อมาแล้ว และใช้งานไปแล้วก็สามารถตรวจสอบได้หรือไม่
"ผมพร้อมตรวจสอบกองทัพ เพราะเกี่ยวกับการใช้งบประมาณ แต่ปัญหาของการจัดซื้ออาวุธคือ เมื่ออนุมัติซื้อกว่าจะได้ของก็อีก 3-4 ปี เมื่อได้ของมาผู้ซื้อก็ไม่ใช้ เพราะมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งไปแล้ว และการใช้งานบางทีใช้ได้แค่แป็บเดียว อาวุธดีๆบางทีมันล้าสมัยไปแล้ว อาวุธมันพัฒนาเร็วมาก จึงอาจจะต้องแก้ตรงนี้ แต่เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังที่จะออกข้อกำหนด แต่เราเสนอแนวทางไปให้รัฐบาลได้"
@ ช่วงที่ผ่านมาหลายเรื่องสตง.ถูกมองว่าไปปกป้อง-ฟอกขาวให้รัฐบาล จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบ จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีกหรือไม่
"ผมจะต้องทำทุกอย่างให้มีมาตรฐาน ทำให้ถูกต้อง ผมต้องการทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้น และใช้หลักยุติธรรมกับทุกอย่าง มันต้องไม่มีสองมาตรฐาน เราจะยึดความถูกต้อง มีมติอย่างไรก็ถือว่าเป็นที่สิ้นสุดในคณะกรรมการ เราจะไม่มองว่านี่เป็นของกลาโหม ของกองทัพ ทุกหน่วยเป็นหน่วยงานของรัฐที่จะต้องตรวจสอบเหมือนกันหมด"
@ แต่มีกระแสข่าวว่าคตง.สั่งให้สตง.ตรวจสอบโครงการของรัฐบาลให้น้อยลง เพื่อให้โครงการต่างๆลงสู่พื้นที่โดยเร็ว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง
"ผมก็ได้ยินกระแสข่าวนี้มาเหมือนกัน แต่ผมยืนยันว่าไม่จริง ผมขอให้สตง.ตรวจสอบทุกโครงการเต็มที่เหมือนเดิม แต่ต้องมีข้อมูลที่รอบด้าน เพื่อให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย รัฐบาลไม่เคยมาสั่งอะไรผม เขาสั่งผมไม่ได้ และผมคิดว่าเขาก็คงไม่สั่งอะไรแบบนี้หรอก"
------------------------
ทั้งหมดนี่ คือ รายละเอียดในคำตอบของ พล.อ.ชนะทัพ อินทามระ ประธาน คตง. ที่ยืนยันกับสำนักข่าวอิศรา
ส่วนผลงานจะออกมาเป็นอย่างไรนั้น สาธารณชนโปรดจับตามองร่วมกันต่อไป
เพราะเมื่อท่านพูดคนจะฟัง เมื่อลงมือทำคนจะเชื่อถือ!