ผู้ปกครองจอดรับส่งให้ถูกจุด...หยุดอันตรายหน้าโรงเรียน
จากกรณี ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 3 (บุญทวงค์อนุกูล) ต.สวนดอก อ.เมือง จ.ลำปาง มีหนังสือขอบคุณและเชิญมารับเกียรติบัตรเชิดชูเกียรติ ให้กับ ร.ต.ต.สมศักดิ์ แหลมคม รอง สว.จราจร ซึ่งช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่กำลังจะข้ามถนนไม่ให้ถูกรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนจนตัวเองบาดเจ็บ เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2560 ถือเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมยกย่องการปฎิบัติหน้าที่ของตำรวจ โดยมีรายละเอียดตามข่าวและคลิปวงจรปิด https://www.dailynews.co.th/regional/602361
ภาพตัวอย่าง การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อลดความเสี่ยงบริเวณทางข้ามหน้าโรงเรียน โดย ดร.ดนัย เรืองสอน กรมทางหลวง
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่พบจากคลิปเหตุการณ์ มีต้นเรื่องมาจากรถปิกอัพที่ผู้ปกครองมาจอดส่งบุตรหลานติดกับทางม้าลาย ทำให้รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ที่วิ่งตามมา มองไม่เห็นว่าจะมีเด็กกำลังจะข้ามถนน โดยเฉพาะกรณีนี้เป็นเด็กเล็กยิ่งทำให้มองไม่เห็น นอกจากนี้ ยังพบว่ารถที่แล่นผ่านไปมา วิ่งเร็วพอสมควรถือเป็นความเสี่ยงสำหรับคนข้ามถนนและถ้าต้องหยุดรถกระทันหันก็เสี่ยงต่อการชนคนที่กำลังข้าม
แบบแผนความเสี่ยง ที่เกิดจากรถผู้ปกครองจอดรับ-ส่งบริเวณหน้าโรงเรียน ได้แก่
1) ผู้ปกครองจอดรถรับ-ส่ง แล้วทำให้รถที่วิ่งผ่านไปมามองไม่เห็นคนที่กำลังข้ามถนน โดยเฉพาะจอดติดกับทางม้าลาย (อย่างกรณีหน้าโรงเรียน เทศบาล 3 ในครั้งนี้)
2) กรณีที่ถนนไม่มีฟุตบาท รถที่มาจอดริมทางจะทำให้เด็กนักเรียนต้องลงมาเดินบนถนนเพื่อไปโรงเรียนและเกิดอันตรายจากการถูกเฉี่ยวชน รวมไปถึง กรณีรถรับส่งเปิดประตูทำให้เด็กนักเรียนที่เดินผ่านหรือขี่จักรยาน, จักรยานยนต์ ถูกกระแทกเสียหลัก และอาจถูกรถที่แล่นตามมาทับได้ เช่น กรณีที่เกิดเหตุกับนักเรียนโรงเรียนวัดไทร กรุงเทพมหานคร
3) ความเสี่ยงอื่นๆ ที่เมื่อเกิดเหตุแล้วยิ่งรุนแรง
- รถวิ่งผ่านหน้าโรงเรียนด้วยความเร็วสูง โดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่ติดเส้นทางหลวงหรือถนนหลายช่องทาง ถนนหลายช่องทาง (บางแห่งไม่มีสะพานลอยให้เด็กนักเรียนข้าม ต้องใช้ทางม้าลาย)
- มีรถขนาดใหญ่วิ่งผ่านในช่วงเช้า-เย็น ที่รับส่งนักเรียน ในหลายๆ กรณีที่เกิดเหตุหน้าโรงเรียน ยังพบว่ามีการรถขนาดใหญ่ ทั้งรถบรรทุก รถบัส วิ่งผ่านหน้าโรงเรียนในชั่วโมงเร่งด่วนที่มีเด็กนักเรียน
ข้อพิจารณาเพื่อสร้างความปลอดภัยหน้าโรงเรียน
ที่ผ่านมาความเสี่ยงจากการจอดรถของผู้ปกครองบริเวณหน้าโรงเรียน ถูกปล่อยให้เป็นบทบาทเจ้าหน้าที่ตำรวจ ครูเวรหรืออาสาจราจร แต่ในความเป็นจริงจะพบว่าจำนวนเจ้าหน้าที่มีจำกัดไม่สามารถจัดการความเสี่ยงได้ทั่วถึงโดยเฉพาะโรงเรียนขนาดใหญ่มีรถผู้ปกครองมาจอดรับ-ส่งจำนวนมาก ที่สำคัญ ตำรวจหรืออาสาสมัครที่ปฏิบัติหน้าที่ส่วนใหญ่ไม่กล้าหรือลำบากใจที่จะห้ามผู้ปกครองที่ฝ่าฝืน บางครั้งอาจจะถูกต่อว่าไม่อลุ่มอล่วย (จอดรอรับ-ส่งแป๊ปเดียวแค่นี้เอง ฯลฯ)
ดังนั้น “ความเสี่ยง” ที่เกิดขึ้น จำเป็นต้องอาศัย มาตรการทางสังคม โดยแต่ละโรงเรียนต้องสร้างความร่วมมือหรือข้อกำหนด (กติกา) ให้ผู้ปกครองที่มารับ-ส่งถือปฏิบัติร่วมกัน รวมทั้ง มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยกำกับพฤติกรรมเสี่ยงควบคู่ไปกับ มาตรการบังคับใช้จากตำรวจและอาสาจราจร โดยมีข้อพิจารณาเสนอแนะ ดังต่อไปนี้
(1) มาตรการทางสังคม : โดยโรงเรียนกำหนดแนวทางการมารับ-ส่งที่ชัดเจน เน้นไม่ให้กีดขวางทางเดินนักเรียนหรือบดบังบริเวณทางข้ามหรือทางม้าลายหน้าโรงเรียน เช่น ห้ามจอดรับ-ส่งชิดกับทางม้าลาย จากนั้นมีกระบวนการเพื่อให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมรับรู้และเสนอแนะ และสรุปเป็น “ข้อกำหนด” (กติกา) ร่วมกัน ตัวอย่างเช่น
- สื่อสารผู้ปกครองในช่วงที่นำบุตรหลานมามอบตัวหรือช่วงปฐมนิเทศผู้ปกครอง โดยอาจจะเปิดคลิปภาพให้เห็นความเสี่ยงของการจอดรถรับ-ส่งที่สร้างความเสี่ยงกับเด็กนักเรียนคนอื่นๆ
- สื่อสารผ่านสมาคม/ชมรมผู้ปกครอง เพื่อให้รับรู้กติกาและช่วยเฝ้าระวังสอดส่องดูแลผู้ปกครองที่ฝ่าฝืน ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตำรวจหรืออาสาจราจรแต่ฝ่ายเดียว
- ติดตั้งกล้อง CCTV หน้าโรงเรียน ซึ่งนอกจากจะช่วยเฝ้าระวังความเสี่ยงต่างๆ หน้าโรงเรียน ยังช่วยให้โรงเรียนนำภาพรถผู้ปกครองที่ฝ่าฝืนกติกามาแชร์ให้มีการรับรู้ เพื่อเป็นการป้องปรามได้อีกทางหนึ่ง (รวมทั้งกล้องหน้ารถผู้ปกครองท่านอื่นๆ ก็สามารถนำมาช่วยในการกำกับผู้ที่ฝ่าฝืนกติกาจอดรถของโรงเรียนได้)
(2) มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม : โดยเน้นทางกายภาพ มีการนำอุปกรณ์มาช่วยจัดการความเสี่ยงควบคู่ไปด้วย ได้แก่
- จัดทำป้าย/ประกาศเตือน จุดที่ห้ามจอด
- วางกรวยสะท้อนแสงในตำแหน่ง¬ติดกับทางม้าลาย เพื่อป้องกันไม่ให้มีรถมาจอด รวมทั้งวางกรวยที่เส้นแบ่งถนนเพื่อเตือนให้รถที่วิ่งผ่านไปมาเห็นได้ชัดและชะลอความเร็ว
- มีการทาสีทางม้าลาย เส้นหยุดรถให้เห็นชัดเจน รวมไปถึงการเตือนด้วยป้ายไฟ การทาสีตีเส้นเพื่อเตือนให้ชะลอความเร็ว ตามหลักทางวิศวกรรมจราจร
- กรณีโรงเรียนที่ประตูติดถนนใหญ่ ควรมีประตูข้างที่ติดกับถนนสายรองให้รถผู้ปกครองหรือนักเรียนเดินเข้าออก เพื่อป้องกันการข้ามถนนในเส้นทางที่รถวิ่งเร็ว
- มีสะพานลอยข้ามถนน กรณีที่ถนนหลายช่องทางรถวิ่งด้วยความเร็ว คมีประตูรับ-ส่ง หรือเดินข้ามถนนด้านข้าง ในเส้นทาง
(3) มาตรการเสริมอื่นๆ
- มีการสอบสวนสาเหตุกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่หน้าโรงเรียน เพื่อนำมาทบทวนและปรับปรุงมาตรการต่างๆ ของโรงเรียน รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ภายนอกความปลอดภัยจากการจอดรถรับ-ส่งนักเรียน แม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องเล็ก เพราะเกิดไม่บ่อยครั้ง แต่ต้องไม่ลืมว่าในแต่ละวันช่วงโรงเรียนเปิดเทอม จะมีรถผู้ปกครองจำนวนมากที่มาจอดรับ-ส่งนักเรียนหน้าโรงเรียนที่มีกว่า 4 หมื่นแห่งทั่วประเทศ ไม่นับรวมศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอีกหลายพันแห่ง
ดังนั้น มาตรการเพื่อจัดการความเสี่ยงเหล่านี้ คงไม่สามารถอาศัยบทบาทเจ้าหน้าที่ตำรวจและอาสาจราจรซึ่งมีจำกัด แต่ทุกโรงเรียนต้องหันมาสร้างมาตรการทางสังคมและมาตรการทางสิ่งแวดล้อมเพื่อกำกับให้ ผู้ปกครองจอดรับส่งให้ถูกจุด...หยุดอันตรายหน้าโรงเรียน