อาเซียนบวกและลบ...ผลกระทบจากความไม่พร้อมผ่านมุมมอง อิบราเฮ็ม ณรงค์รักษาเขต
การก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.2558 เป็น "โอกาส" หรือ "วิกฤติ" ยังคงเป็นปัญหาที่หลายฝ่ายขบคิดและตั้งคำถาม...
โดยเฉพาะในมิติของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีปัญหาความไม่สงบเป็นตุ้มถ่วงอยู่ และยิ่งหันไปดูปัญหาพื้นฐานอย่างเรื่องการศึกษา ก็ยังพบความอ่อนแอและต่ำกว่ามาตรฐานหลายประการ
รศ.ดร.อิบราเฮ็ม ณรงค์รักษาเขต รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ร่วมวงวิเคราะห์กับ "ทีมข่าวอิศรา" ถึงอนาคตของสามจังหวัดใต้กับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่สู่ประชาคมอาเซียน 10 ประเทศ
O ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยหลักในพื้นที่ ได้เตรียมการอะไรไว้บ้างเกี่ยวกับประเด็นอิสลามศึกษากับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน?
เรื่องของอิสลามศึกษาระดับอาเซียนเราได้เตรียมพร้อมและดำเนินการมานานแล้ว ในระดับของคณบดีก็ได้ประชุมบ่อยครั้งเพื่อกำหนดทิศทางของนักศึกษาว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ความร่วมมือกับชาติต่างๆ ในอาเซียนด้วยกันจะเกิดในลักษณะไหน ประเด็นอิสลามศึกษาหรือเรื่ององค์ความรู้จะเป็นไปในทิศทางอย่างไร
จริงๆ แล้วมหาวิทยาลัยมองไกลว่าอาเซียน นั่นคือมองถึงการเข้าสู่ระดับนานาชาติ และยังมีเรื่องของกิจกรรมนักศึกษาที่พยายามจะรวบรวมหรือยกระดับกิจกรรมนักศึกษาให้เป็นระดับอาเซียน โดยทำกระบวนการให้เกิดเป็นองค์กรขึ้นมา รองรับเวทีอาเซียน
O เรื่องหลักสูตรการศึกษาที่หลายฝ่ายเป็นห่วงกันมาก ทางวิทยาลัยอิสลามศึกษาได้ปรับหลักสูตรรองรับประชาคมอาเซียนมากน้อยแค่ไหน?
หลักสูตรก็มีการปรับ แต่การปรับเราจะมองถึงความเป็นนานาชาติมากกว่าที่จะมองแค่ความเป็นอาเซียน แต่เราก็ไม่ได้ทอดทิ้งความเป็นอาเซียน เช่น ในเรื่องของภาษามลายู อังกฤษที่ต้องนำไปใช้
เรื่องการอบรมหรือบรรยายสร้างความเข้าใจเพื่อเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาเกี่ยวกับอาเซียน เราทำบ่อยมาก แม้ที่ผ่านมาหลักสูตรนานาชาติจะเป็นเรื่องที่เราเน้นเป็นพิเศษ แต่ความเป็นอาเซียนก็ยังคงอยู่ เช่น ส่งตัวแทนเดินทางไปยังประเทศต่างๆ ในกลุ่มอาเซียน เช่น กัมพูชา พม่า อินโดนีเซีย เพื่อดึงนักศึกษาในประเทศเหล่านั้นให้เข้ามาศึกษากับเรา ซึ่งกิจกรรมดึงนักศึกษาในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศให้เข้ามาที่นี่ เราทำตั้งนานแล้ว
นอกเหนือจากนั้น ประเทศจีนก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่เราพยายามดึงด้วย และปัจจุบันก็มีนักศึกษาจีนเข้ามาเรียนกับเราระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นการดึงนักศึกษาเข้ามาก็ดี หรือส่งเสริมกิจกรรมนักศึกษาระดับอาเซียนก็ดี สองสิ่งนี้เราให้ความสำคัญอย่างมาก
O อาจารย์มองว่าอะไรคือปัญหาของนักศึกษาไทยกับการก้าวสู่ระดับอาเซียน?
เมื่อจะมีการเปิดเสรีอาเซียน ทุกคนก็ตื่นตัว การประสานงานก็ต้องไปด้วยกันให้ได้ แต่ปัญหาคือภาษาในการสื่อสาร การใช้ภาษาของเราถือว่ายังอ่อนอยู่ แม้ภาษามลายูที่ใช้กันในสามจังหวัดภาคใต้ตอนล่างจะเป็นหนึ่งในภาษาอาเซียน แต่ปรากฏว่าเด็กของเราอ่อนมาก รวมถึงภาษาอังกฤษด้วย ยังอยู่ในระดับอ่อน
ฉะนั้นถ้าเรารวมกลุ่มอาเซียนเข้ามา เราเองก็ยังกังวลว่าเราจะเป็นผู้นำได้หรือไม่ เพราะว่าการใช้ภาษายังมีปัญหา การสื่อสารกับเพื่อนประเทศอาเซียนด้วยกัน ยังมีปัญหา เรื่องของภาษายังเป็นปัญหาหลัก เมื่อสื่อสารไม่ได้ อย่างอื่นมันก็ทำยากขึ้นไปอีก
O วิทยาลัยอิสลามศึกษาปิดจุดอ่อนเรื่องนี้อย่างไร?
หลายๆ ฝ่ายก็พยายาม ไม่ว่าจะจัดอบรม ติวเข้มเรื่องภาษา การส่งนักศึกษาไปดูงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในต่างประเทศ โดยผ่านโครงการที่สนับสนุนทุนจากกระทรวงการต่างประเทศ หรือใช้ระบบนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่ทางมหาวิทยาลัยส่งไป เพื่อที่จะกลับมาเรียนรู้และสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ แต่ด้วยข้อจำกัดของการส่งไป เทียบกับนักศึกษาของเราที่มีจำนวนมาก มันจึงยังขาดความสมดุลอยู่ ตรงนี้ก็พยายามที่จะหาทางให้นักศึกษาได้รับโอกาสมากที่สุด
O อาจารย์มองว่าประชาคมอาเซียนจะเป็นโอกาสหรือวิกฤติของปัญหาไฟใต้?
ถ้าดูภาพรวมภายใต้ความไม่พร้อมของเราก็น่าเป็นห่วง เพราะเมื่อถึงเวลาแล้ว เราเองยังตอบไม่ได้ว่าเราจะได้ประโยชน์อะไร ตรงนี้น่าเป็นห่วง แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นจะห้ามไม่ให้เกิดมันคงไม่ได้แล้ว แต่ภาพรวมผมเชื่อว่ายังสามารถที่จะรักษาผลประโยชน์ของประเทศได้ และเราก็คงไม่ด้อยไปกว่าประเทศอื่นๆ
หากมองปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในมุมกว้าง ถ้าหากรัฐพยายามมองในแง่เอาอาเซียนเป็นตัวช่วยในการแก้ปัญหา คงจะเป็นประโยชน์มาก แต่ถ้าหากรัฐไม่ได้มองประเด็นนี้ แล้วอาศัยคนในอาเซียนให้มาช่วยกัน ก็คงน่าเป็นห่วง เพราะคนในพื้นที่เองยังขาดความพร้อมอีกมาก ถือเป็นประเด็นสำคัญ
แต่เมื่ออาเซียนเกิดขึ้น ผมเชื่อว่าอย่างไรเสียคนในพื้นที่ก็ต้องพยายามทำให้เกิดประโยชน์ที่สุด หรือแม้กระทั่งอาจทำอะไรที่รัฐไม่พอใจก็ได้ เช่น อาจจะนำเสนอข่าวไปสู่อาเซียนมากขึ้น เรียกร้องให้อาเซียนช่วยออกรับมาผิดชอบ ซึ่งเป็นข่าวที่รัฐเองอาจไม่ชอบ ฉะนั้นผมยังเชื่อว่าความเป็นอาเซียนจะก่อประโยชน์มากกว่าผลกระทบต่อคนในพื้นที่
อย่างเหตุการณ์ความไม่สงบ ผมมองว่าถ้ามีคนกลางมาช่วยแก้ หมายถึง 10 ประเทศอาเซียนมาร่วมรับรู้ปัญหาของประเทศไทย แล้วช่วยกันแก้ น่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่าที่จะตีกรอบแค่ 2 ฝ่ายมาแก้ปัญหาโดยไม่มีคนกลาง ผมคิดอย่างนั้นนะ
O มีโอกาสที่ปัญหาจะยกระดับไปสู่สากลหรือไม่?
เมื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ผมคิดว่าปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังเป็นปัญหาท้องถิ่นอยู่นะ ยังเป็นปัญหาในพื้นที่มากกว่าจะเป็นปัญหาระดับประเทศหรือนานาชาติ เพราะถ้าต่างชาติจะเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาความไม่สงบ มันก็ไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดอาเซียน เขาสามารถเข้ามาได้เลย เหมือนกับที่เกิดในหลายๆ ประเทศ แต่มันต้องมีเงื่อนไข
แต่ถึงจะเป็นอย่างที่ผมบอก ก็คือให้ 10 ชาติอาเซียนมาร่วมรับรู้ปัญหาและเป็นคนกลาง แต่มันก็จะไม่ขยายวงไปเป็นประเด็นนานาชาติแน่นอน เพราะในปัจจุบันนี้การเคลื่อนไหวของกลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่ก็พยายามผลักให้เป็นนานาชาติอยู่แล้ว แต่มันก็ทำได้แค่ระดับหนึ่ง ยังทำได้ไม่หมด แต่การแก้ปัญหาหลักๆ คือหน่วยงานในบ้านเราที่ต้องประสานหน่วยงานในประเทศอื่นๆ ด้วย
ส่วนในเรื่องขบวนการที่ก่อการ ไม่ใช่ว่าพอรวมตัวเป็นอาเซียนแล้ว ขบวนการในมาเลเซีย อินโดนีเซียจะมาร่วมหมด คงไม่ใช่แบบนั้น เพราะถ้าจะร่วมจริงๆ คงไม่ต้องรออาเซียน
O ในแง่การนำเสนอข่าว เมื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน สื่อมวลชนควรมีบทบาทอย่างไร?
ในช่วงของการเตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียน สื่อน่าจะมีบทบาทเรื่องการสร้างองค์ความรู้ สร้างความเข้าใจ และให้ข้อมูลแก่ประชาชนเพื่อให้เกิดการตื่นตัวและเตรียมพร้อม
ส่วนประเด็นความรุนแรงในพื้นที่ก็ต้องดูเจตนาเป็นหลักว่านำเสนอแล้วได้อะไร เกิดประโยชน์หรือไม่ แม้หลายๆ ครั้งข่าวที่ถูกนำเสนอจะเน้นไปเพื่อการตลาดอย่างเดียวก็ตาม แต่มันไม่สำคัญเท่ากับความรับผิดชอบและวัตถุประสงค์ในใจของสื่อมวลชนเอง ซึ่งถ้าหากมีเจตนาที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา ก็ควรพิจารณาว่าเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ควรนำเสนอหรือไม่ อย่างไร เพราะข่าวที่สร้างสรรค์อย่างน้อยมันก็จะสามารถช่วยสร้างภาพลักษณ์ในพื้นที่ให้ดีได้ในระดับหนึ่ง