กรมวิชาการเกษตรยันปรับพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชฯ คนไทยได้ประโยชน์ ยังเก็บเมล็ดได้
กรมวิชาการเกษตร ย้ำชัดปรับปรุง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ เกษตรกรได้รับ ประโยชน์สูงสุด สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองได้ พร้อมยังคุ้มครองสิทธินักปรับปรุงพันธุ์พืช สร้างแรงจูงใจเร่งปรับปรุงพันธ์ุพืชใหม่ เผยการแก้ไข พ.ร.บ.ผ่านกระบวนการทางกฎหมาย อย่างถูกต้องทุกขั้นตอน
สืบเนื่องจากกรณีที่ มูลนิธีชีววิถีตั้งข้อสังเกตว่า เนื้อหาของร่างกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ที่กำลังเปิดรับฟังความเห็นอยู่ในขณะนี้ เป็นการแก้กฎหมายเอื้ออำนวยประโยชน์ให้บรรษัทเมล็ดพันธุ์เพิ่มการผูกขาดพันธุ์พืชและเปิดช่องให้ลงโทษเกษตรกรที่เก็บรักษาพันธุ์พืชไปปลูกต่อ เป็นการทำลายวัฒนธรรมที่สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ และจะกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ อ่านประกอบ : เก็บเมล็ดพันธุ์โทษจำคุก มูลนิธิชีววิถีจวก กษ.ออกร่างกม.ปล้นเกษตรกรไทย
ล่าสุดผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราwww.isranews.org รายงานว่า กรมวิชาการเกษตร ออกแถลงการณ์ระบุว่า ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวถึงพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ว่าด้วยเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืช 3 ระบบ ประกอบด้วย ระบบการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ ซึ่งเป็น การคุ้มครองเชิงทรัพย์สินทางปัญญา ให้สิทธิกับนักปรับปรุงพันธุ์พืช ระบบการจดทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมือง เฉพาะถิ่นให้สิทธิความเป็นเจ้าของกับชุมชน และระบบการแจ้งและอนุญาตให้ใช้พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปและพันธุ์พืชป่า เพื่อการศึกษา ทดลอง วิจัย และปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งเป็นการคุ้มครองเชิงอนุรักษ์ รวมถึงการบริหารจัดการ กองทุนคุ้มครองพันธุ์พืชที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุ์พืชอย่างยั่งยืน
กรมวิชาการเกษตร ยังระบุด้วยว่า ตัวบทกฎหมายตามพระราชบัญญัตินี้ ได้ผูกโยงระบบการคุ้มครองดังกล่าวทั้งหมดเข้าด้วยกัน เมื่อบังคับใช้กฎหมายมาสักระยะหนึ่งพบว่า มีข้อติดขัดทั้งในด้านกระบวนการปฏิบัติงานและการบังคับ ใช้กฎหมาย นอกจากนี้ กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันยังขาดสาระสำคัญบางประการทำให้ไม่สามารถให้ความคุ้มครองสิทธินักปรับปรุงพันธุ์พืชได้อย่างเพียงพอ มีบางข้อที่จำกัดโอกาสการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ๆ อีกทั้ง ไม่ส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนได้อนุรักษ์พัฒนาและใช้ประโยชน์พันธุ์พืชของชุมชน รวมถึงเป็นอุปสรรคต่อการวิจัย และพัฒนาที่ใช้พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปและพันธุ์พืชป่า และไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ส่งผลให้ไม่ส่งเสริมศักยภาพด้านการแข่งขันการลงทุนและการวิจัยและพัฒนาของประเทศเท่าที่ควร ดังนั้นจึงเห็นสมควรปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืชฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน โดยคงไว้ซึ่งเจตนารมณ์ ของพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ทุกประการ
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การปรับแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชให้เป็นสากลจะส่งผลดีต่อผู้เกี่ยวข้องจำแนกตามกลุ่ม ได้ดังนี้
1. เกษตรกรผู้ค้า/ผู้ปลูก มีทางเลือกมากขึ้นในการเลือกชนิดพืชและพันธุ์พืชใหม่ๆ ที่เหมาะสมใช้ เพาะปลูกตามความต้องการ ทำให้ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพของผลผลิตให้ ได้รับ ผลตอบแทนสูงขึ้น อาชีพเกษตรกรผู้รับจ้างผลิตเมล็ดพันธุ์ (พืชไร่และผัก) มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น สร้างรายได้ให้เกษตรกร นอกจากนี้ เกษตรกรจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ทันสมัยไปด้วย โดยที่ เกษตรกรยังสามารถใช้พันธ์ุพืชพื้นเมืองและเก็บเมล็ดพันธ์ุไว้ปลูกได้เองตามปกติส่วนพันธ์ุพืชใหม่ท่ีได้รับการจดทะเบียนคุ้มครอง เกษตรกรยังสามารถเก็บเมล็ดพันธ์ุไว้เพาะปลูกในพื้นที่ของตนเองได้ตาม สิทธิพิเศษสำหรับเกษตรกรที่กำหนดไว้ในมาตรา 35 ของร่างพระราชบัญญัติฯ
2. นักปรับปรุงพันธุ์พืชไทย มีแรงจูงใจในการลงทุนวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง และมีแหล่ง พันธุกรรมที่มีความหลากหลายใช้ในการปรับปรุงพันธุ์มากขึ้น มีการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการพัฒนาปรับปรุง พันธุ์มากยิ่งขึ้น และจะมีจำนวนนักปรับปรุงพันธุ์เพิ่มมากขึ้น
3. ผู้บริโภคและอุตสาหกรรมแปรรูป มีทางเลือกที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น สามารถเลือกซื้อผลิตผลและ ผลิตภัณฑ์พืชได้ตรงกับความต้องการ มีพันธุ์พืชใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดแคลน ทำให้ประสิทธิภาพ การผลิตดีขึ้น
4. การลงทุนด้านเมล็ดพันธุ์พืช มีการขยายการลงทุนด้านการวิจัยพัฒนาปรับปรุงพันธุ์และการผลิต เมล็ดพันธุ์ทั้งเพื่อใช้ในประเทศและส่งออก นักลงทุนมีความเชื่อมั่น ดึงดูดให้เข้ามาลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาใน ประเทศมากขึ้น ทั้งนี้การดำเนินการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืชที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2553 ปรับปรุงแก้ไข เพิ่มเติม 40 มาตรา จาก 69 มาตรา ได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ข้อสรุปว่า เกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่มีข้อห่วงกังวลต่อการที่จะไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกเองได้ดังเช่นที่เคยปฏิบัติมา ราคาเมล็ดพันธุ์ที่อาจจะสูงขึ้น และการกระทำผิด (ละเมิด) โดยไม่รู้ ซึ่งต่อมาภายหลังจากได้รับความรู้ เกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายจากพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว เกษตรกรมีความเข้าใจและไม่คัดค้านการปรับปรุง แก้ไขกฎหมายดังกล่าว
โดยปัจจุบัน การเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืชทางเว็บไซต์ของกรมวิชาการเกษตรในระหว่างวันที่ 5-20 ตุลาคม 2560 ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการเสนอกฎหมาย ของหน่วยงานซึ่งจะต้องให้กระทรวงพิจารณาเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี และหาก ครม. เห็นชอบ จะต้องส่งร่างดังกล่าวไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาก่อนเสนอให้ สนช. ในขั้นตอนสุดท้าย
หมายเหตุ: ภาพประกอบจาก กรมประชาสัมพันธ์