“กลุ่มทุนรุกป่า” ใช้ที่ดินผิดประเภท ปมปัญหาน้ำท่วม
“ประเทศไทยโชคดีที่ไม่ค่อยประสบกับภัยธรรมชาติรุนแรงเหมือนอย่างประเทศอื่นๆ” เป็นประโยคที่จางหายไปแล้วในวันนี้ อีกปมปัญหาน้ำท่วมที่ถูกเปิดคือการรุกป่าของนายทุน-การใช้ที่ดินผิดประเภท
เพราะตลอด 2-3 ปีมานี้คนไทยต้องประสบภัยทางธรรมชาติทั้งอุทกภัย ดินโคลนถล่ม เกือบทุกพื้นที่อย่างซ้ำซาก มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก บางรายต้องสินเนื้อประดาตัวเพราะทรัพย์สินที่เก็บหอมรอมริบมาทั้งชีวิตได้ถูกกระแสน้ำกวาดหายชั่วพริบตา
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนำไปสู่การช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย มาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลทยอยออกมาเป็นระยะๆ แต่กลับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเพราะดูเหมือนไม่มีหน่วยงานใดหยิบยกสาเหตุหลักที่เป็นต้นตอของการเกิดภัยทางธรรมชาติมาหารือเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
“ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์” หนึ่งในกรรมการปฏิรูปและอนุกรรมการปฏิรูปที่ดิน ฐานทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และน้ำ ในคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ระบุ ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศต้องเผชิญกับปัญหาอุทกภัยและดินโคลนถล่มมาจากปัญหาโครงสร้างของที่ดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปมการกระจายถือครองที่ดิน และการวางผังเมืองสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในเวลานี้จึงถือเป็นสัญญาณที่บ่งบอกอย่างชัดเจนว่าถึงเวลาที่ที่จะต้องมีการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ
โดยในห้วงเวลา 50 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยสูญเสียป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์ถึง ๘๐ ล้านไร่ ซึ่งทำให้ระบบนิเวศป่าซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพ ถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก ผ่าน “กลโกง” ของนายทุน ทั้งการถางป่าแล้วนำไปสร้างหลักฐานกู้เงินจากสถาบันการเงิน เมื่อที่ดินถูกยึดขายทอดตลาด ก็สามารถซื้อกลับมาได้เป็นที่ดินที่ถูกกฎหมาย รวมไปถึงการกว้านซื้อที่ดิน “ผ่านนอมินี”ของชาวต่างชาติ
ที่สำคัญยิ่งคือปัญหาการจัดสรรที่ดินโดยโครงการจัดที่ดินเพื่อช่วยเหลือคนจนที่ไร้ที่ดินต่างๆ ของรัฐ ถูกเปลี่ยนมือมาเป็นของนายทุน และผู้ครอบครองที่ไม่ได้ไร้ที่ดินทำกินมากกว่าครึ่ง ทำให้เกษตรกรผู้เคยได้รับการจัดสรรที่ดินจากรัฐ ต้องกลับไปถางป่าใหม่เมื่อพื้นที่ป่าถูกทำลายทำให้ไม่มีต้นไม้ที่คอยชะลอการไหลของน้ำจึงทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากอย่างที่เกิดขึ้น “เพิ่มศักดิ์” ยังมองว่า การที่อำนาจการจัดการทรัพยากรที่ดินอยู่ในอำนาจของรัฐหรืออยู่ในกลไกตลาด โดยที่ไม่ได้อยู่ในมือของเกษตรกร ส่งผลให้การบริหารจัดการน้ำทำได้ลำบาก
“เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง ต้องเช่าที่นายทุน เมื่อเป็นเพียงคนเช่าที่นา ก็ทำให้ไม่มีอำนาจที่จะตัดสินใจเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ขณะเดียวกันกลไกของการชลประทานอยู่ในมือของกรมชลประทาน ซึ่งไม่ได้รับฟังความเห็นของเกษตรกรแต่อย่างใด ซึ่งการจะดำเนินการผันน้ำหรือใดๆ มาจากความคิดของคนเพียงไม่กี่คนเท่านั้น”กรรมการปฏิรูปและอนุกรรมการปฏิรูปที่ดินฯ ระบุ
อย่างไรก็ตาม อาจารย์เพิ่มศักดิ์ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อขาดข้อมูลรอบด้าน ขาดการคานอำนาจระหว่างเกษตรกรและผู้ตัดสินใจ ทำให้การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจึงเกิดขึ้นอย่างไม่เป็นระบบ
นอกจากกรณีดังกล่าวแล้ว ยังมีสิ่งที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ดินในประเทศไทยอีกประเด็นหนึ่งคือข้อพิพาทในการถือครองที่ดินวังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการจัดการที่ดินของรัฐและปัญหาในเชิงกฎหมายที่เรื้อรังมานาน ที่ดินวังน้ำเขียวในทุกวันนี้มีทั้งที่ดินที่บุกรุกเขตอุทยาน และพื้นที่ที่ผู้ครอบครองไม่มีสิทธิตามกฎหมายต้องถูกเพิกถอนสิทธิ ซึ่งปัญหาดังกล่าวยังเกิดขึ้นในพื้นที่ทั่วประเทศ ในลักษณะคล้ายๆกันนั่นก็คือชาวบ้านได้ที่ ส.ท.ก. หรือที่ส.ป.ก.แล้วขายสิทธิให้แก่นายทุน โดยผู้มีอิทธิพลที่มีนักการเมืองหนุนหลัง จะนำเอาที่ ส.ป.ก.ไปออกหนังสือเอกสารสิทธิโดยมิชอบ ซึ่งถือเป็นการใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์เดิม โดยภาระก็ต้องกลับมาตกอยู่ที่รัฐที่ต้องหาที่ดินทำกินใหม่ให้กับเกษตรกร ทรัพยากรของชาติก็จะตกไปอยู่ในมือนายทุน และผู้มีอิทธิพล
วงจรนี้จะหมุนเวียนไปไม่มีที่สิ้นสุดวงจรปัญหาที่เกิดขึ้นนี้คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปได้เสนอทางออกผ่านข้อเสนอการปฏิรูปการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรไว้ หลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระจายและการกำหนดเพดานการถือครองที่ดินที่จะสามารถจำกัดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้และขจัดปัญหานายทุนครอบครองที่ดินโดยมิชอบได้
“หัวใจสำคัญคือมาตรการจำกัดการถือครองที่ดินไม่เกิน 50 ไร่ เพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ที่ถือครองที่ดินได้ทำการถือครองและใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรอย่างแท้จริง อันจะส่งผลให้เกิดแรงจูงใจในการผลิต มีความเป็นธรรม มีความสามารถในการแข่งขันและลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเกษตรรายย่อยและเกษตรกรรายใหญ่หรือกลุ่มธุรกิจให้น้อยลง” อาจารย์เพิ่มศักดิ์กล่าวย้ำถึงหัวใจของการปฏิรูปที่ดิน
ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวจะควบคู่ไปกับการส่งเสริมสนับสนุนการเกษตรทั้งระบบอย่างครบวงจร ด้วยการจำกัดการถือครองที่ดินให้เป็นมาตรฐานเดียวอย่างจริงจังและไม่เลือกปฎิบัติ แต่หากจะมีการทำการเกษตรขนาดใหญ่ในรูปของสหกรณ์หรือบริษัทก็สามารถทำได้เพียงแต่ต้องเสียภาษีในอัตราก้าวหน้า กล่าวคือแทนที่กลุ่มนายทุนจะถือครองที่ดินจํานวนมากแล้วใช้วิธีจ้างเกษตรกรเป็นลูกจ้างโดยจ่ายค่าแรงราคาถูก สามารถปรับเปลี่ยนมาเป็นวิธีกระจายที่ดินออกไปให้เกษตรกรรายย่อยในท้องถิ่นเป็นผู้ถือครองที่ดิน แล้วบริษัทใช้หลักธุรกิจในการบริหารจัดการให้เกษตรกรรวมกลุ่มกัน มีการเสนอแผนการผลิตการตลาดที่จูงใจเกษตรกรทําการผลิต ทําสัญญาว่าจ้างที่เป็นธรรมและไม่เอารัดเอาเปรียบ
วิธีการดังกล่าวจะช่วยให้เกษตรกรรายย่อยมีอํานาจต่อรอง เพราะมีการกระจายที่ดินให้เกษตรกรผู้ผลิตเป็นเจ้าของที่ดิน ทั้งบริษัทและเกษตรกรรายย่อยมีฐานะเป็นเจ้าของกิจการร่วมกัน ส่วนมาตรการทางภาษีเพื่อจัดเก็บภาษีที่ดินที่ถือครองเกินขนาดจํากัดในอัตราก้าวหน้านั้น ได้กำหนดไว้ว่าที่ดินขนาดต่ำกว่า 10 ไร่ ซึ่งเป็นขนาดที่จําเป็นต่อการทํากินยังชีพให้เสียภาษีในอัตราต่ำ ร้อยละ 0.03 ต่อไร่ ที่ดิน 10-50 ไร่ เสียภาษีอัตราปานกลางร้อยละ 0.1 สําหรับที่ดินปล่อยทิ้งร้างหรือส่วนที่เกินจาก 50 ไร่ ให้เสียภาษีอัตราก้าวหน้าสูงร้อยละ 5 ซึ่งมาตราการดังกล่าวเป็นมาตรการสากลที่ทั่วโลกใช้กัน
ข้อเสนอดังกล่าวนี้ ได้ถูกบรรจุไว้ในคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ในนโยบายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำพร้อม โดยการปฏิรูปการจัดการที่ดินให้มีการกระจายสิทธิที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน โดยใช้มาตรฐานทางภาษี ควบคู่ไปกับการจัดตั้งธนาคารที่ดินให้แก้คนจนและเกษตรกรรายย่อย ตลอดจนพิจารณาให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ที่ดินทิ้งร้างทางราชการ ปกป้องที่สาธารณประโยชน์ ที่ดินทุ่งเลี้ยงสัตว์ ห้ามการปิดกั้นชายหาดสาธารณะ และผลักดันกฎหมายในการรับรองสิทธิของชุมชนในการจัดการทรัพยากร ที่ดิน น้ำ ป่าไม้ และทะเล ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แก้ไขปัญหาการดำเนินคดีโลกร้อนกับคนจน
นโยบายดังกล่าวอยู่ในแผนการทำงานภายในช่วงระยะเวลา 4 ปีของรัฐบาลชุดนี้ ถือว่าเป็นการประสบความสำเร็จในก้าวแรกของคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปในการผลักดันเรื่องนี้
………………..
ดังนั้นต่อจากนี้ไปจึงเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะร่วมกันทวงถาม “สัญญา” ที่รัฐบาลให้เอาไว้ ก่อนที่สถานการณ์ที่ดินในประเทศไทยจะเลวร้ายยากเกินที่จะเยียวยา!!!
ที่มาภาพ : http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2010/05/K9237226/K9237226.html