วิเคราะห์หมาก คสช.ต่ออำนาจ-แกะไทม์ไลน์ถ้า สนช.ตีตก กม.ลูก เลือกตั้งวันไหน?
“…นี่ยังไม่นับปัญหาอุปสรรคสำคัญคือ หาก สนช. ดำเนินการตีตกกฎหมายลูก ตรงนี้รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้ระบุไว้ว่า ต้องดำเนินการอย่างไร แต่เขียนรัดกุมอย่างมากว่า การจะผ่านกฎหมายเป็นหน้าที่ของรัฐสภา (ปัจจุบันคือ สนช.) นั่นคือ หากกฎหมายลูกไม่ผ่าน สนช. ก็ไม่สามารถทูลเกล้าฯถวาย เพื่อประกาศใช้ได้ หมายความว่า หากมีการตีตกกฎหมายลูกจริง กรธ. ที่รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้ต้องพ้นจากตำแหน่งภายใน 240 วันหากทำกฎหมายลูกเสร็จ จะไม่สามารถร่างกฏหมายลูกฉบับใหม่ขึ้นมาได้อีก…”
กระแสเรียกร้องเลือกตั้งถูกตีปีกอีกครั้งจากบรรดานักการเมือง ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้คำมั่นสัญญากับ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ช่วงไปเยือนเมื่อวันที่ 2-4 ต.ค. 2560 ที่ผ่านมา ว่า จะประกาศวันเลือกตั้งในปีหน้า หรือปี 2561 ที่จะถึงนี้
อย่างไรก็ดี ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ในบทเฉพาะกาล มาตรา 267 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต้งร่างกฎหมายลูกสำคัญ 4 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ฉบับสำคัญ 4 ฉบับ ได้แก่ 1.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของ ส.ว. 3.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และ 4.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ถึงจะจัดการเลือกตั้งได้
มาตรา 268 ระบุว่า เมื่อกฎหมายลูกทั้ง 4 ฉบับ ถูกประกาศใช้ ต้องมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นภายใน 150 วัน
ท่ามกลางกระแสข่าวว่า หมากของฝ่ายรัฐบาล คสช. อาจดำเนินการ ‘คว่ำ’ กฎหมายลูกฉบับใดฉบับหนึ่ง เพื่อให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปอีก เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้บัญญัติไว้ว่า หากกฎหมายลูกถูกตีตกในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะต้องทำอย่างไรต่อไป ?
เพียงแต่เขียนว่า หากเสียงของ สนช. มีมากกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ ไม่เห็นชอบกฎหมายลูกดังกล่าว ให้ถือว่าตกไป และให้ดำเนินการตามมาตรา 81 ที่ระบุว่า กฎหมายลูก และ พ.ร.บ. อื่น ๆ จะตราขึ้นเป็นกฎหมายได้ เมื่อได้รับความยินยอมจากรัฐสภาเท่านั้น
นายวิษณุ เครืองาม ‘เนติบริการระดับครุฑ’ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย รัฐบาล คสช. ยืนยันว่า กรธ. ต้องส่งร่างกฎหมายลูกให้ สนช. พิจารณาในต้นเดือน ธ.ค. 2560 คาดการณ์ว่าน่าจะได้เห็นการจัดเลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่ประมาณปลายปี 2561 หรือต้นปี 2562 โดยอ้างว่า เหตุล่าช้ามาจากขั้นตอนการรับรองผลการเลือกตั้ง
รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560 ดังนั้น กรธ. มีเวลาจัดทำกฎหมายลูกให้เสร็จภายในเวลา 240 วัน หรือ 8 เดือน หากเกินกว่านั้นจะต้องพ้นจากตำแหน่ง หากนับจนถึง ณ วันนี้ (6 ต.ค. 2560) เท่ากับว่า กรธ. ใช้เวลาไปแล้วประมาณ 7 เดือน เหลือเวลาอีกประมาณ 1 เดือนเท่านั้น ที่จะต้องร่างกฎหมายลูก โดยเฉพาะกฎหมายลูกสำคัญ 4 ฉบับให้แล้วเสร็จเพื่อส่งให้ สนช. ดำเนินการพิจารณา
ไทม์ไลน์ต่อมา สนช. ต้องพิจารณากฎหมายลูกดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน หากไม่พิจารณาให้เสร็จตามกำหนดดังกล่าวถือว่าให้ความเห็นชอบ และต้องส่งให้ศางรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง และ กรธ. พิจารณา ถ้าหน่วยงานเหล่านั้นเห็นว่า กฎหมายลูกดังกล่าวไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ให้แจ้งประธาน สนช. ทราบภายใน 10 วัน กและให้ สนช. ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญขึ้นคณะหนึ่ง 11 คน ประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญ หรือประธานองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง และสมาชิก สนช. และ กรธ. ฝ่ายละ 5 คน เพื่อพิจารณาแล้วเสนอต่อ สนช. ภายใน 15 วัน
ถ้า สนช. มีมติไม่ถึง 2 ใน 3 ดังกล่าว ให้ถือว่า สนช. ให้ความเห็นชอบ แต่ถ้า สนช. มีมติไม่เห็นชอบด้วยคะแนนเสียงเกิน 2 ใน 3 ให้ถือว่ากฎหมายลูกฉบับนั้นตกไป
หากนับไทม์ไลน์ กรณีที่ สนช. ไม่ตีตกกฎหมายลูก นั่นคือ กรธ. ต้องทำกฎหมายลูกสำคัญ 4 ฉบับเพื่อจัดการเลือกตั้งให้เสร็จในเดือน พ.ย. 2560 หลังจากนั้นให้เวลา สนช. พิจารณาอีก 60 วัน ล่าช้าที่สุดประมาณเดือน ม.ค. 2561 หลังจากนั้นหากมีการแก้ไขภายในเวลา 25 วัน จะล่วงไปถึงเดือน ก.พ. 2561 และ กรธ. จะต้องพ้นจากตำแหน่งทันที
เมื่อดำเนินการกฎหมายลูกในชั้น สนช. แล้วเสร็จ ประธาน สนช. จะทูลเกล้าฯถวาย โดยใช้เวลาประมาณ 90 วันเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือประมาณเดือน พ.ค. 2561 เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะต้องจัดเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน คือประมาณเดือน ต.ค. 2561 หลังจากนั้นจึงเป็นหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา (ที่ คสช. สรรหา) ในการเลือกนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี และดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลต่อไป (อ่านรัฐธรรมนูญปี 2560 : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/040/1.PDF)
หากดูไทม์ไลน์ตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญปี 2560 เทียบกับคำให้สัมภาษณ์ของนายวิษณุ จะเห็นได้ว่า ค่อนข้างใกล้เคียงกันนั่นคือ จะมีรัฐบาลใหม่อย่างเร็วที่สุดช่วงปลายปี 2561 หรือช้าสุดต้นปี 2562 นั่นเอง
อย่างไรก็ดีนี่ยังไม่นับปัญหาอุปสรรคสำคัญคือ หาก สนช. ดำเนินการตีตกกฎหมายลูก ตรงนี้รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้ระบุไว้ว่า ต้องดำเนินการอย่างไร แต่เขียนรัดกุมอย่างมากว่า การจะผ่านกฎหมายเป็นหน้าที่ของรัฐสภา (ปัจจุบันคือ สนช.) นั่นคือ หากกฎหมายลูกไม่ผ่าน สนช. ก็ไม่สามารถทูลเกล้าฯถวาย เพื่อประกาศใช้ได้
หมายความว่า หากมีการตีตกกฎหมายลูกจริง กรธ. ที่รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้ต้องพ้นจากตำแหน่งภายใน 240 วันหากทำกฎหมายลูกเสร็จ จะไม่สามารถร่างกฏหมายลูกฉบับใหม่ขึ้นมาได้อีก
ปัญหาคือจะทำอย่างไร ?
ประเด็นนี้อาจเป็นไปได้ว่า
หนึ่ง คสช. แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 เพื่อเปิดช่องว่า หาก สนช. ตีตกกฎหมายลูก จะดำเนินการอย่างไรต่อไป
สอง คสช. อาจใช้มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ เพื่อดำเนินการร่างกฏหมายลูกดังกล่าวให้แล้วเสร็จ อย่างไรก็ดีรัฐธรรมนูญปี 2560 บัญญัติไว้ว่า อำนาจของหัวหน้า คสช. ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ไม่สามารถก้าวก่ายรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ ดังนั้นไม่ปรากฏข้อเท็จจริงแน่ชัดว่า จะทำได้จริงหรือไม่
ไม่ว่าจะเป็นไปตามข้อ หนึ่ง และสองดังกล่าว แน่นอนว่า การเลือกตั้งจะต้องถูกยืดให้ยาวออกไปอีก จนไม่สามารถคำนวณตามไทม์ไลน์โร้ดแม็พในรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ ?
ท่ามกลางความกังวลของนักการเมืองทุกพรรค โดยเฉพาะพรรคใหญ่ที่กุมฐานเสียงจำนวนมากมาโดยตลอด เช่น พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นต้น
แต่ต้องเน้นย้ำว่า ไทม์ไลน์เหล่านี้ จะเกิดขึ้นต่อเมื่อ สนช. ตีตกกฎหมายลูกเท่านั้น !
แม้ว่าตอนนี้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 จะขอให้นักการเมือง สื่อมวลชน หรือประชาชน คาดเดาไปก่อนว่าจะมีการตีตกกฎหมายลูกหรือไม่ก็ตาม ขณะที่นายมีชัย ฤชุพันธ์ุ ประธาน กรธ. ยังไม่รับประกันว่า สนช. จะคว่ำกฏหมายลูกหรือไม่
แต่บนเกมกระดานการเมืองไทย จะออกหน้าไหนไม่มีใครรู้ และอะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ?
อ่านประกอบ : กาง รธน.ใหม่‘บิ๊กตู่’ลงเลือกตั้งได้ตอนไหน-กรุยทางนั่งนายกฯอีกอย่างไร?