- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- กาง รธน.ใหม่‘บิ๊กตู่’ลงเลือกตั้งได้ตอนไหน-กรุยทางนั่งนายกฯอีกอย่างไร?
กาง รธน.ใหม่‘บิ๊กตู่’ลงเลือกตั้งได้ตอนไหน-กรุยทางนั่งนายกฯอีกอย่างไร?
“…เส้นทางสู่นายกรัฐมนตรีสมัยที่สองของ ‘บิ๊กตู่’ จึงยังไม่ปิดประตูลงง่าย ๆ เช่นกันกับเวลาลงจากหลังเสือที่อาจยืดออกไปอีกอย่างน้อย 8 ปี ถ้าได้รับการเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี (ส.ว. ที่ คสช. แต่งตั้งมีอายุ 5 ปี แต่การเลือกตั้งทุก 4 ปี ดังนั้น ส.ว. จึงเลือกได้ 2 ครั้ง) ท้ายสุดถนนการเมืองของ ‘บิ๊กตู่’ และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของ คสช. จะโรยด้วยกลีบกุหลาบเช่นนี้หรือไม่ คงต้องจับตาในช่วงซาวด์เสียงเลือกตั้งกันอีกครั้ง ?...”
หนึ่งในสารพัดเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่ในขณะนี้ หนีไม่พ้นประเด็น ‘สืบทอดอำนาจ’
ไทม์ไลน์เสียงลือเหล่านี้ เริ่มดังขึ้นเมื่อช่วงเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ภายหลังอดีตแกนนำกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ส่งสัญญาณขอกลับพรรคสีฟ้า
กระทั่งมีการนัด ‘กินกาแฟ’ กันเมื่อช่วงกลางเดือน มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา
ท่ามกลางการจับตามองของสังคมว่า เป็นแค่การ ‘ดีล’ ฉากหน้าระหว่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อดีตเด็กปั้น ‘ลุงกำนัน’ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้มากบารมีในพรรคประชาธิปัตย์ อดีตแกนนำของ กปปส. ที่ก่อนหน้านี้เลือกเดินคนละทางมาแล้ว ในช่วงทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
รูดม่านข่าวลือ ‘เตียงหัก’
ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ‘สุเทพ’ หนุน ‘บิ๊กตู่’ เต็มที่ ต่างกับ ‘อภิสิทธิ์’ ที่ยัง ‘แทงกั๊ก’ จะสนับสนุนก็กังวลฝ่ายมวลชนคนเลือกตั้ง จะคัดค้านก็กังวลฝ่าย กปปส. ?
พอดิบพอดีกับเสียงซุบซิบกันในพรรคว่า ‘ผู้ใหญ่’ กำลังหา ‘เฮดใหม่’ ขึ้นมานำแทน ‘อภิสิทธิ์’ ที่เรตติ้งตกลงเรื่อยมาตั้งแต่นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี
คนภายในพรรคประชาธิปัตย์ และบุคคลที่คร่ำหวอดทางการเมืองหลายรายวิเคราะห์กันว่า เสียงในพรรคสีฟ้าตอนนี้ เริ่มแตกเป็นสองเสี่ยง กลุ่มหนึ่งยังคงสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย หนุนให้ ‘อภิสิทธิ์’ เป็นนายกรัฐมนตรี อีกกลุ่มโดยเฉพาะฟาก กปปส. ดีลงานขอให้ตอนโหวตเลือก ‘บิ๊กตู่’ เป็นนายกรัฐมนตรี
จนกระทั่งมีการปูดข่าวแกนนำ กปปส. กำลังกินรวบพรรคประชาธิปัตย์ ?
ไม่ว่าเบื้องลึกเบื้องหลังจะเป็นอย่างไร
ตอนนี้สองพรรคใหญ่ ทั้ง ‘เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์’ ต่างหนุนให้ ‘บิ๊กตู่’ ลงเลือกตั้งอย่างเต็มที่
เชิงออกแนวว่าถ้าคะแนนนิยมดีจริงตามราคาคุย ก็ลงเลือกตั้งซะ ให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจเอง ?
แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จะลงเลือกตั้งได้ไหม-อย่างไร
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญใหม่ ปี 2560 พบว่า ในบทเฉพาะกาล มาตรา 265 บัญญัติว่า ให้ คสช. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่วันก่อนประกาศรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่
ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้หัวหน้า คสช. และ คสช. ยังคงมีหน้าที่และอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 และทีแก้ไขเพิ่มเติม และให้ถือว่าบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจของหัวหน้า คสช. และ คสช. ยังคงมีผลใช้บังคับได้ต่อไป
ให้นำความในมาตรา 263 วรรคเจ็ด มาใช้บังคับแก่การสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ของผู้ดำรงตำแหน่งใน คสช. ด้วยโดยอนุโลม
ทั้งนี้มาตรา 263 วรรคเจ็ด บัญญัติว่า เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกภายหลังจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ สมาชิก สนช. จะสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. มิได้ เว้นแต่จะพ้นจากตำแหน่ง สนช. ภายใน 90 วัน นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560 หากคำนวณระยะเวลา 90 วันตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว เท่ากับว่า ‘บิ๊กตู่’ จะต้องลาออกจากตำแหน่งหัวหน้า คสช. ในช่วงต้นเดือน ก.ค. 2560 หรือประมาณวันที่ 6 ก.ค. นี้ ถึงสามารถสังกัดพรรคการเมือง เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งทั่วไป ที่อาจเกิดขึ้นช่วงปลายปี 2561 ได้ ?
ดังนั้นหากช่วงต้นเดือน ก.ค. 2560 พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่ยอมลาออกจากตำแหน่งหัวหน้า คสช. คือจะไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งทั่วไป ตามระบอบประชาธิปไตยที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้
อย่างไรก็ดีแม้จะไม่ลาออก แต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังคงไม่ปิดช่องให้ ‘บิ๊กตู่’ มานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเสียทีเดียว ?
มาตรา 269 ระบุสรุปได้ว่า ในวาระเริ่มแรก ให้วุฒิสภา (ส.ว.) ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 250 ราย ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่ คสช. ถวายคำแนะนำ โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี
มาตรา 272 ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
ในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้งดเว้นได้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้
อธิบายให้ง่ายขึ้นคือ การเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีแบ่งเป็นสองขั้นตอน
หนึ่ง หากเลือกตั้งแล้วเสร็จมีการประชุมของ ส.ส. เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีตามบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองที่แจ้งไว้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตั้งแต่ลงเลือกตั้ง โดยการเสนอนายกรัฐมนตรีตามบัญชีรายชื่อนั้น ต้องมีจำนวนบุคคลที่ถูกเสนอชื่อไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของที่ประชุม ส.ส. และต้องมีสมาชิกรับรองบุคคลนั้น ๆ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของที่ประชุม ส.ส. ด้วย
สอง ถ้าไม่ได้ตามขั้นตอนปกติ ให้ ส.ส. และ ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด (ส.ส. ประมาณ 500 ราย ส.ว. แต่งตั้งโดย คสช. 250 ราย) เข้าชื่อเสนอประธานรัฐสภายกเว้นไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีตามบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง และให้จัดประชุมร่วม ส.ส. และ ส.ว. โดยทั้งสองสภาต้องลงมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามเพื่องดเว้นการดำเนินการเลือกนายกรัฐมนตรีตามบัญชีรายชื่อ และเสนอชื่อผู้อยู่นอกเหนือบัญชีพรรคการเมืองได้
นอกจากนี้การให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ให้อำนาจแก่ ส.ส. และ ส.ว. เป็นคนเลือกด้วย ซึ่งเป็นผลพวงจากคำถามพ่วงในการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา
หมายความว่า หากเกิดเหตุวุ่นวายขึ้นจนไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีตามบัญชีที่แจ้ง กกต. ไว้ ให้ ส.ส. และ ส.ว. ลงชื่อเพื่อขอให้เปิดประชุมรัฐสภางดเว้นการเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อ และให้เลือก ‘คนนอก’ ได้ โดยที่ ส.ว. มีสิทธิ์ได้โหวตด้วย
แต่ต้องไม่ลืมว่าตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ส.ว. คือคนที่ คสช. คัดสรรมากับมือ ?
นี่ยังไม่นับอำนาจของหัวหน้า คสช. ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 คือ มาตรา 44 จะยังมีผลบังคับใช้จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ นั่นหมายความว่า หากผลการเลือกตั้งออกมาไม่เป็นไปตาม 'หมาก' ที่วางไว้ ก็อาจใช้มาตรา 44 ทำอะไรบางอย่างได้อีก ?
เส้นทางสู่นายกรัฐมนตรีสมัยที่สองของ ‘บิ๊กตู่’ จึงยังไม่ปิดประตูลงง่าย ๆ เช่นกันกับเวลาลงจากหลังเสือที่อาจยืดออกไปอีกอย่างน้อย 8 ปี ถ้าได้รับการเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี (ส.ว. ที่ คสช. แต่งตั้งมีอายุ 5 ปี แต่การเลือกตั้งมีทุก 4 ปี ดังนั้น ส.ว. จึงเลือกได้ 2 ครั้ง)
ท้ายสุดถนนการเมืองของ ‘บิ๊กตู่’ และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของ คสช. จะโรยด้วยกลีบกุหลาบเช่นนี้หรือไม่ คงต้องจับตาในช่วงซาวด์เสียงเลือกตั้งกันอีกครั้ง ?
(อ่านรัฐธรรมนูญปี 2560 ฉบับเต็ม ที่นี่)
หมายเหตุ : ภาพประกอบ พล.อ.ประยุทธ์ จาก bangkokpost