ออมเงินให้เป็น (เพียงพอ) สร้างสุขวัยเกษียณ
หมายเหตุ:รายงานพิเศษ นำเสนอเนื้อหาในงาน SEC Retirement Saving Symposium 2017โอกาสครบรอบ 25 ปี ก.ล.ต. ถึงแนวทางกระตุ้นให้นายจ้างและลูกจ้างเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) เพื่อความมั่นคงทางการเงินหลังเกษียณให้มีความสุข ณ โรงภาพยนตร์สยามภาวลัย ศูนย์การค้าสยามพารากอน
เราเคยคิดและวางแผนหรือไม่ว่า ต้องมี ‘เงินเก็บ’ เท่าไหร่ จึงจะใช้ชีวิตหลัง ‘เกษียณ’ อย่างมีความสุข
มีผลวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า เราต้องมีเงินเก็บอย่างต่ำ 3 ล้านบาท กับการใช้ชีวิตอีกอย่างน้อย 20 ปี หลังเกษียณ แต่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นลูกจ้างเอกชนมากกว่าครึ่ง กลับมีเงินเก็บไม่ถึง 1 ล้านบาท
สาเหตุที่คนไทยออมเงินน้อย จนอาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในชีวิตบั้นปลาย ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระบุเกิดจากนายจ้างภาคเอกชน จัดตั้งกองทุนสำรองฯ น้อยไป โดยมีเพียง 1.7 หมื่นแห่ง หรือร้อยละ 3 ของนายจ้างภาคเอกชนทั้งหมด และมีเพียง 3 ล้านคน หรือร้อยละ 21 ของลูกจ้างในระบบเอกชน ที่เป็นสมาชิก
ประกอบกับอัตราการส่งเงินสะสมเข้ากองทุนผ่านทั้งลูกจ้างและนายจ้าง มีค่าเฉลี่ยเพียงร้อยละ 4-5 เท่านั้น ทั้งที่ระดับเพียงพอถูกกำหนดไว้สูงสุดที่ร้อยละ 15 รวมถึงที่ผ่านมาพบว่า กองทุนสำรองฯ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 80 นำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งให้ผลตอบแทนต่ำ ในขณะที่การลงทุนในหุ้น ซึ่งให้ผลตอบแทนสูง มีเพียงร้อยละ 16 (อ่านประกอบ:ก.ล.ต.เผยสมาชิกกองทุนสำรองฯ เกินครึ่ง ออมไม่พอใช้วัยเกษียณ-เงินเก็บต่ำกว่าล้าน)
รพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต.
"รพี สุจริตกุล" เลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยถึงข้อดีในการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีโอกาสที่จะได้รับการลดหย่อนภาษี 3 ต่อ
ต่อที่หนึ่ง นายจ้างสามารถนำเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองฯ ที่จ่ายให้ลูกจ้าง ไปคำนวนรวมเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อลดหย่อนภาษีได้ ในขณะที่ลูกจ้างสามารถนำเงินสะสมไปลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน
ต่อที่สอง ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจากการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะไม่ถูกเก็บภาษี
และต่อที่สาม เมื่อลูกจ้างอายุครบ 55 ปี และเป็นสมาชิกกองทุนต่อเนื่องมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในกรณีที่นำเงินออกจากกองทุน
วันนี้จึงจำเป็นต้องเร่งสร้างความเข้าใจว่า เงินในกองทุนสำรองฯ เป็นเงินก้อนสุดท้ายที่เก็บไว้ใช้ในวัยเกษียณ ซึ่งจะต้องรู้จักบริหารจัดการเงินให้เป็น ไม่ว่าจะเป็นการเลือกกองทุนที่เหมาะสมกับตัวเอง รู้จักการคำนวนว่า ควรต้องมีเงินเท่าไหร่หลังเกษียณ และสนับสนุนให้ภาครัฐออกกฎหมายจัดตั้งกองทุนสำรองฯ ภาคบังคับ เพื่อให้ลูกจ้างและนายจ้างเข้าสู่ระบบ
ศ.(พิเศษ) ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
“การออมไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การออมในมิติเดิมกับสถาบันการเงิน น่าจะไม่ตอบโจทย์”
ศ. (พิเศษ) ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความเห็นในเวที SEC Retirement Saving Symposium 2017 ในโอกาสครบรอบ 25 ปี ก.ล.ต.
พร้อมกันนี้ อาจารย์ธงทองได้ยกตัวอย่างคุณพ่อ ที่เลือกออมเงินด้วยการนำเงินไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ เพื่อปลูกบ้าน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ โดยมองว่า จะเก็บเงิน 3 ล้านบาท ไว้ใช้หลังเกษียณได้นั้น ต้องมีที่อยู่อาศัยก่อน
ทั้งนี้ เขายังเห็นว่า การวางแผนการออมขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละบุคคล ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า “ออมให้เร็วที่สุด”
ศ. (พิเศษ) ธงทอง กล่าวถึงคนส่วนใหญ่จะคิดออมเมื่ออายุ 55 ปี คงไม่ทัน แต่การออมที่ดี จะต้องทำตั้งแต่วันแรกที่เข้าทำงาน จะปลอดภัยที่สุดกับการนำไปใช้ในวัยเกษียณ ส่วนจะออมเท่าไหร่นั้น ต้องวางแผน และเชื่อว่าอีก 20 ปีข้างหน้า เงินออม 3 ล้านบาท อาจมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นผลจากอัตราเงินเฟ้อ แต่สุดท้าย จะออมอย่างไร ปล่อยให้เป็นอิสระ
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองเขายังเห็นว่า การใช้กลไกทางกฎหมายให้นายจ้างและลูกจ้างเข้าสู่ระบบกองทุนสำรองฯ จะทำให้ระบบเงินออมมีประสิทธิภาพสุด เพราะผลที่จะได้รับ คือ ลูกจ้างจะได้รับความมั่นคงทางการเงิน ขณะที่นายจ้างจะผูกน้ำใจให้ลูกจ้างทำงานระยะเวลานาน ทั้งหมดจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกัน
“เราจึงต้องเร่งสร้างความเข้าใจร่วมกันว่า ระบบเงินออมเป็นกลไกที่พิสูจน์ให้เห็นว่า จะช่วยสร้างการมีประสิทธิภาพในการทำงาน และสนับสนุนให้ใส่เงินเข้าไปในระบบมากที่สุด ไม่จำเป็นต้องเสมอกัน เงินสมทบของนายจ้างจะเปรียบเหมือนการผูกพันทางจิตใจ” ศ.(พิเศษ) ธงทอง ระบุ
ด้าน รศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการกำกับตลาดทุน ระบุให้ข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พบผู้สูงอายุมีค่าใช้จ่ายหลังเกษียณสูงสุด 5,000 บาท/เดือน ซึ่งหากคำนวณแล้วจะพบว่า ต้องมีเงินเก็บราว 1 ล้านบาท แต่ข้อเท็จจริงพบว่า ขณะนี้ 2 ใน 3 ของผู้สูงอายุ มีรายได้เพียง 2,467 บาท/เดือน ซึ่งต่ำกว่าเส้นความยากจน
ส่วนสมาชิกกองทุนสำรองฯ มีค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ 8,000 บาท/เดือน ฉะนั้นจะต้องมีเงินเก็บอย่างต่ำ 3 ล้านบาท ซึ่งจะพอเพียงสำหรับใช้ชีวิตอยู่ได้ สำหรับกลุ่มข้าราชการไม่น่าเป็นห่วงมากนัก
"อยากให้ทุกคนให้ความสำคัญกับการออม เพราะต้องใช้ชีวิตหลังเกษียณมากกว่าระยะเวลาในการทำงาน ตราบใดที่การออมในกองทุนสำรองฯ ไม่ถึงร้อยละ 10 ขึ้นไป เชื่อว่าปัญหาจะเกิดขึ้นแน่นอน"
ขณะที่ วิน พรหมแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ซีไอเอ็มบี -พรินซิเพิล กล่าวว่า ประเทศไทยมีแรงงาน 38 ล้านคน อยู่ในระบบนายจ้าง 13 ล้านคน ทำงานอิสระ 25 ล้านคน จำนวน 13 ล้านคนที่อยู่ในระบบนายจ้าง มีเงินออม 2 ส่วน คือ ประกันสังคม และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ในจำนวนนั้น 12 ล้านคน ที่มีประกันสังคม และ 3 ล้านคน ออมเงินต่อยอดด้วยกองทุนสำรองฯ แต่มีเงินออมเฉลี่ยคนละ 3 แสนบาทเท่านั้น
“น่าห่วง คือ แรงงาน 25 ล้านคน ที่ทำงานอิสระ ไม่มีเงินออม ซึ่งมีเพียง 5 แสนคนเท่านั้น ที่ออมเงินกับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพราะฉะนั้น ไทยจะพบกับปัญหาเหล่านี้ไม่จบ” ประธาน จนท. การลงทุนฯ กล่าวทิ้งท้าย
...คนไทยยังออมน้อย และลงทุนไม่เป็น นี่จึงเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้สูงวัยใช้ชีวิตหลังเกษียณไม่สุข จึงต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ สะสมเงินออม และเลือกลงทุนในระยะยาว เพื่อความมั่นคงในอนาคต .
ภาพประกอบหลัก:https://moneyhub.in.th/article/money-plan-after-retirement/