รัฐชูผลงานดับไฟใต้ เหตุร้ายลด 77% คนกลับบ้าน 4.5 พัน ถอนฟ้อง 3 นักสิทธิ์
ช่วงเปลี่ยนผ่านปีงบประมาณ 2560 สู่ปี 2561 (จากสิ้นเดือน ก.ย.ข้ามสู่เดือน ต.ค.) หลายหน่วยงานที่ปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้พากันแถลงผลงานในห้วง 1 ปีที่ผ่านมา และแผนยุทธศาสตร์ที่จะเดินหน้าต่อไป โดยในส่วนของการรักษาความสงบเรียบร้อย มีการอ้างตัวเลขว่าเหตุรุนแรงในพื้นที่ลดลงถึงร้อยละ 77
ส่วนราชการที่เป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ปัจจุบันนี้ คือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้แถลงผลงานร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกองกำลังของตำรวจ โดยมี พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า พ.ต.อ.ฉัตรมงคล แก้วประเสริฐ ผู้กำกับการสอบสวน กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. ตั้งโต๊ะแถลงอย่างเป็นทางการ
เหตุรุนแรงลดร้อยละ 77
พ.อ.ปราโมทย์ บอกว่า ผลจากการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล ได้แปรมาสู่การปฏิบัติในพื้นที่ภายใต้แนวคิด "กฎหมายนำ การทหารตาม และงานการเมืองขยาย" ส่งผลให้สถานการณ์ในภาพรวมมีพัฒนาการไปในทิศทางที่ดีขึ้น มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น 432 เหตุการณ์ เป็นเหตุความมั่นคง 140 เหตุ มีผู้เสียชีวิต 99 ราย และบาดเจ็บ 219 ราย
เมื่อเปรียบเทียบเหตุการณ์กับปีที่แล้ว เหตุความมั่นคงลดลง 182 เหตุการณ์ (ปีที่แล้ว 322 เหตุการณ์ : เพิ่มเติมตัวเลขโดยกอง บก.ศูนย์ข่าวอิศรา) คิดเป็นร้อยละ 77 ส่วนการสูญเสียลดลง 226 ราย คิดเป็นร้อยละ 43 (น่าจะหมายรวมถึงทั้งจำนวนผู้เสียขีวิตและบาดเจ็บ: ข้อสังเกตโดยกอง บก.ศูนย์ข่าวอิศรา) ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการปฏิบัติการเชิงรุกทางด้านการเมือง การสร้างความเข้าใจ การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนและการพัฒนาอย่างจริงจัง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ทำให้ประชาชนเห็นถึงความจริงใจและให้การสนับสนุนภาครัฐมากยิ่งขึ้น ประกอบกับได้บังคับใช้กฎหมายต่อภัยแทรกซ้อนอย่างเข้มงวด สามารถลิดรอนการสนับสนุนของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงได้
สำหรับการบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง สามารถควบคุมตัวได้ 478 ราย มีหมาย ป.วิอาญา (หมายจับที่ออกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) 259 ราย ตรวจยึดอาวุธปืน 49 กระบอก ปะทะกับผู้ก่อเหตุรุนแรง 11 ครั้ง ทำให้ผู้ก่อเหตุรุนแรงเสียชีวิต 14 ราย ในห้วงปีที่ผ่านมาเกิดเหตุความรุนแรงที่สำคัญในเขตเมืองเศรษฐกิจเพียง 2 ครั้ง อันเป็นผลจากการให้ความสำคัญเรื่องการรักษาความปลอดภัยในเขตเมือง รวมทั้งได้ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน ทำให้ปัจจุบันมีกำลังภาคประชาชนและกลุ่มเครือข่ายมวลชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาความปลอดภัยเส้นทางและโรงเรียน วันละ 35,000 คน
ส่วนการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแทรกซ้อน (ยาเสพติด น้ำมันเถื่อน สินค้าเถื่อน) สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 4,110 คน ตรวจยึดยาบ้า 3,199,405 เม็ด เฮโรอีน 21.39 กิโลกรัม พืชใบกระท่อม 6,183 กิโลกรัม และตรวจยึดคืนพื้นที่ป่า จำนวน 13,301 ไร่
คนกลับบ้าน 4.5 พัน-สนามบินเบตงคืบ 22%
ด้านการอำนวยความยุติธรรมและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ มีผู้ออกมารายงานตัวแสดงตนเข้าโครงการพาคนกลับบ้านรวม 4,535 คน ส่งคืนกลับสู่สังคม (set zero หมายถึงการปลดพันธะทางกฎหมาย) จำนวน 4,403 คน อยู่ระหว่างดำเนินกรรมวิธี 132 คน
ด้านเศรษฐกิจ ได้เสนอโครงการให้หน่วยที่เกี่ยวข้องดำเนินการ 58 โครงการ วงเงิน 823 ล้านบาทเศษ ได้รับการสนับสนุนแล้ว 15 โครงการ วงเงิน 192 ล้านบาทเศษ เช่น โครงการจัดตั้งสถานีบริการน้ำมัน โดยร่วมกับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เพื่ออำนวยความสะดวกและเป็นที่พักรถ ณ ฟาร์มตัวอย่างฯ อ.ธารโต จ.ยะลา ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ, สนับสนุนงบประมาณในการทำซั้งให้กับประชาชนที่ทำประมงพื้นบ้านตามแนวชายฝั่งของ จ.ปัตตานี และนราธิวาส, โครงการเพิ่มประสิทธิภาพมูลค่าสินค้าภาคการเกษตร ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจการแปรรูป และโครงการสร้างท่าอากาศยานเบตง ต.ยะรม อ.เบตง จ.ยะลา ซึ่งความคืบหน้าประมาณ 22.80 % คาดว่าสามารถเปิดใช้งานได้ภายในปี 2562
ด้านการสร้างความเข้าใจและการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี ได้สร้างความเข้าใจกับองค์กรภาคประชาสังคม 521 องค์กร จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นและชี้แจงความคืบหน้าการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯในหมู่บ้าน 1,988 หมู่บ้าน ทำให้ทุกฝ่ายมีความตื่นตัวต่อกระบวนการพูดคุย คาดหวังว่าการพูดคุยจะเป็นส่วนหนึ่งในการลดความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างพื้นที่ปลอดภัยนำร่อง
พ.ต.อ.ฉัตรมงคล แก้วประเสริฐ ผู้กำกับการสอบสวน กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ แถลงเพิ่มเติมว่า ในกลุ่มงานสอบสวน กองบังคับการสืบสวนสอบสวนฯ มีคดีสำคัญ 5 คดีที่เกิดขึ้นในห้วงปี 2560 อยู่ระหว่างพิจารณาอัยการทั้งหมด โดยทั้ง 5 คดีนี้สามารถจับคุมผู้ต้องหาได้
ศอ.บต.ชู "เยียวยาทุกภาคส่วน"
ขณะที่ นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. บอกว่า ได้ยึดหลักนโยบายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อความมั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน ในการลดความรุนแรงด้วยสันติวิธี เสริมสร้างพหุวัฒนธรรม สร้างความเข้าใจให้คนในพื้นที่ นอกพื้นที่ และต่างประเทศ โดยดำเนินการ 7 ภารกิจ คือ 1.ด้านการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยเสริมด้านความมั่นคงอาสาป้องกันชาติ 2.ด้านเยียวยา จะเห็นว่าปีที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากฝ่ายทหารและฝ่ายตำรวจ ทำให้การเยียวยาไปถึงทุกภาคส่วน 3.ด้านการสร้างความเข้าใจในพื้นที่และนอกพื้นที่ ทำให้พี่น้องภาคใต้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากขึ้น
4.ด้านการศึกษา สนับสนุนโครงการสานใจไทยสู่ใจใต้ 5.ด้านพัฒนาศักยภาพพื้นที่ จัดทำโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน 6.ด้านงานประสิทธิภาพภาครัฐ รอบปีที่ผ่านมาได้พัฒนาเจ้าหน้าที่ของภาครัฐ พลเรือน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อิหม่าม ผู้นำศาสนา ข้าราชการที่บรรจุใหม่ และ 7.ด้านงานแสวงหาทางออกด้วยสันติวิธี ได้ร่วมขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ปีหน้ามุ่งขับเคลื่อน 8 ภารกิจ
สำหรับแผนการปฏิบัติงานประจำปี 2561 ทั้ง 3 หน่วยงานหลักที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ มุ่งขับเคลื่อนงานสำคัญ 8 งาน ประกอบด้วย 1.งานรักษาความปลอดภัยพื้นที่และบังคับใช้กฎหมาย เน้นเมืองเศรษฐกิจ 8 เมืองหลัก 3 อำเภอนำร่อง ตามโครงการเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ให้มีความปลอดเหตุ และเป้าหมายอ่อนแอปลอดภัยสูงสุด 2.งานขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 3.งานสนับสนุนโครงการเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน"
4.งานโครงการพาคนกลับบ้าน 5.งานสลายโครงสร้างของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง 6.งานเสริมสร้างความเข้มแข็งและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของกำลังอาสารักษาดินแดน (อส.) และภาคประชาชน 7.งานแก้ไขปัญหายาเสพติดและภัยแทรกซ้อนอื่นๆ และ 8.งานสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง
ครม.ส่วนหน้าโชว์ผลงาน 3 ด้าน
อีกองค์กรหนึ่งที่มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรัฐบาล คสช. คือ ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล หรือที่รู้จักกันในนาม "ครม.ส่วนหน้า"
พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ได้จัดประชุมผู้แทนพิเศษ 7 กลุ่มงาน และตัวแทนส่วนราชการในพื้นที่ รวมทั้งเครือข่ายชุมชนท้องถิ่น ที่ค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยได้เน้นย้ำงาน 3 ด้าน คือ
ด้านความมั่นคง เฉพาะที่น่าสนใจก็เช่น จัดตั้งชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) จำนวน 60 ชุด, ให้กระทรวงยุติธรรมจัดตั้งศูนย์ยุติธรรมชุมชนทุกตำบลในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ครบ 290 ตำบล, เสนอขอปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรฯ มาตรา 21 เพื่อเสริมประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายพิเศษด้านความมั่นคง, เพิ่มประสิทธิภาพพนักงานสอบสวนคดีความมั่นคง โดยจัด "ชุดพนักงานสอบสวนคดีความมั่นคง" จำนวน 9 ชุด ทำให้สามารถสั่งฟ้องผู้ต้องหาคดีความมั่นคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 40, จัดตั้งกองกำกับการเก็บกู้และตรวจสอบวัตถุระเบิด เพื่อยกระดับขีดความสามารถของงานเก็บกู้วัตถุระเบิด เพิ่มความรวดเร็วในการตรวจสอบวัตถุพยาน และสร้างความน่าเชื่อถือในการออกหมายจับดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด รวมทั้งจัดตั้ง "คณะกรรมการร่วมบริหารพื้นที่ปลอดภัย" โดยสร้างกลไกความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และแนวร่วมกลุ่มผู้เห็นต่าง ให้มีส่วนร่วมในการรักษาความปลอดภัยตามแนวทางสันติวิธี สนับสนุนการพูดคุยเพื่อสันติสุข
ด้านการพัฒนา เช่น โครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสร้างโอกาสและจูงใจเยาวชนในพื้นที่เข้าสู่สถานศึกษาของรัฐมากขึ้น ปัจจุบันมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการ 8 แห่ง นักเรียนในโครงการ 919 คน และในปีการศึกษา 2561 จะขยายไปยังโรงเรียนอีก 4 แห่ง, จัดทำหลักสูตรอิสลามศึกษาสำหรับสถาบันศึกษาปอเนาะ เพื่อป้องกันการบิดเบือนหลักศาสนา และลดการบ่มเพาะในสถานศึกษา, จัดตั้งศูนย์ประสานการบริการและการลงทุนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อบูรณาการงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในพื้นที่อย่างเบ็ดเสร็จ, อำนวยความสะดวกผู้ประกอบการให้เข้าถึงบริการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ Soft Loan โดยมีธนาคารออมสินเป็นตัวกลางระหว่างผู้กู้กับแหล่งเงินกู้ในโครงการ
ถอนฟ้อง 3 นักสิทธิ์-ให้งบประชาสังคม
ด้านการสร้างความเข้าใจ เช่น ประสานงานและร่วมต้อนรับคณะผู้แทนองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี ในโอกาสเยี่ยมชมการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ ทำให้เกิดความเข้าใจอย่างดี, สร้างความร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคม และแก้ไขสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน โดยประสานการถอนฟ้อง 3 นักสิทธิมนุษยชน ส่งผลดีต่อการชี้แจงในเวที ICCPR (ประชุมทบทวนการบังคับใช้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง) ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นำไปสู่ความร่วมมือป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างยั่งยืน, จัดตั้งสมาพันธ์เครือข่ายไทยพุทธจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเป็นองค์กรเชื่อมโยงเครือข่ายชาวพุทธในการร่วมมือแก้ไขปัญหาและสร้างความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม
ที่สำคัญคือ ขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการสนับสนุนให้องค์กรภาคประชาสังคมเสนอโครงการเพื่อขอรับงบประมาณในการดำเนินกิจกรรมสร้างความเข้าใจ และร่วมแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยมีองค์กรภาคประชาสังคมเสนอโครงการทั้งหมด 488 องค์กร จำนวน 492 โครงการ ประเด็นที่องค์กรภาคประชาสังคมสนใจมากที่สุด คือ งานการพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่และคุณภาพชีวิตของประชาชน มีจำนวนองค์กรเสนอโครงการ 203 องค์กร 203 โครงการ
------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 และ 2 การแถลงผลงานของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ตำรวจ และ ศอ.บต.
3 การแถลงผลงานของผู้แทนพิเศษของรัฐบาล หรือ ครม.ส่วนหน้า