รวมวาทะ "แม่ทัพใต้" สะใจหรือจุดไฟขัดแย้ง
"ก็จะเดินหน้าต่อไปเหมือนเดิม สิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนหนู เหมือนแมลงสาบเข้าบ้าน เราก็ไล่ออกไป" (สัมภาษณ์หลังเหตุคาร์บอมบ์บิ๊กซี ปัตตานี)
"ผมมองว่าเป็นการแสดงความเลวมากกว่า ในสมัยเด็กๆ อาจไม่ได้กินนมแม่ แต่ไปกินนมวัว นมควาย ทำให้ไม่มีความคิดดี ๆ มีแต่แบบโง่ๆ เหมือนวัวเหมือนควาย" (สัมภาษณ์หลังเหตุระเบิดที่ อ.ยะหา จ.ยะลา)
"ต่อไปนี้ผมจะไม่เรียกว่าผู้เห็นต่าง เพราะเป็นการให้เกียรติเกินไป...ผู้ที่ก่อเหตุผมจะเรียกว่าคนเลว เป็นศัพท์ง่ายๆ และเข้าใจง่ายอีกด้วย" (สัมภาษณ์หลังเหตุระเบิดที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี)
ที่ยกมาเป็นคำพูดของ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ที่ใช้วาทกรรมดุเดือดกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนมีเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวางจากทั้งในและนอกพื้นที่
บทความนี้ไม่ได้ต้องการสื่อว่าเราต้องยอมอ่อนให้ผู้ใช้ความรุนแรง เพียงแต่จะบอกว่าการพูด หรือใช้ "วาทกรรม" เพื่อท้าทาย บางครั้งไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร หนำซ้ำยังอาจเป็นการยั่วยุ หรือราดน้ำมันบนกองเพลิง ทำให้ฝ่ายที่นิยมความรุนแรงอยู่แล้ว เลือกใช้ความรุนแรงหนักขึ้น ถี่ขึ้น และไม่เลือกเป้าหมายมากขึ้น สวนทางกับความพยายามพูดคุยเจรจาเพื่อสร้างสันติสุข
ถามว่าคนสูญเสียคือใคร ก็คือชาวบ้านตาดำๆ กับตำรวจ ทหารชั้นผู้น้อย และเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร
ลูกน้องตายบ่อยเข้า เยอะเข้า โดยที่ยังมองไม่เห็นยุทธศาสตร์การป้องกัน นอกจากบรรดานายๆ ออกมาด่าโจรด้วยใบหน้าขาวผ่อง นั่งห้องแอร์ ระยะหลังจึงเริ่มเห็นไวรัลในโซเชียลมีเดียในท่วงทำนอง "เราจะรบจนนายรวย" ไม่ทราบต้นตอว่ามาจากกำลังพลอึดอัดแอบทำกันเอง หรือเป็นไอโอจากฝ่ายตรงข้าม แต่บอกได้คำเดียวว่าตรงใจคนส่วนใหญ่
ยิ่งมีภาพ มีข่าวการใช้งบประมาณของหน่วยงานราชการที่ทำงานในพื้นที่ในลักษณะฟุ่มเฟือย ไม่โปร่งใส ไม่สนใจผลสัมฤทธิ์ จนถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวน หรือร้ายกว่านั้นคือหาประโยชน์ไปเรื่อย ทำให้กระแสแบบนี้ยิ่งแรง
ชีวิตความเป็นอยู่ที่ระกำลำบากของกำลังพลถูกแฉผ่านสื่อสังคมออนไลน์ จริงบ้าง ฉวยจังหวะดราม่าบ้าง แต่ก็ทำให้ภาพของบรรดา "นายๆ" เป็นลบมากขึ้นไปอีก
เราจะดับไฟใต้ด้วยวิธีการแบบนี้จริงๆ หรือ?
----------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4
ขอบคุณ : ภาพจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ ตีพิมพ์ในคอลัมน์แกะรอย ปกโฟกัส หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 2 ต.ค.60 ด้วย