ฉบับเต็ม!‘บิ๊ก ธ.อิสลาม’ได้ช่องโหว่ กม.รอดปมทุจริตค่านายหน้า-แต่ รก.ผจก.โดนไล่ออก
เปิดคำวินิจฉัยกฤษฎีกา พฤติการณ์ฉบับเต็ม ‘บิ๊ก ธ.อิสลาม’ ทุจริตเงินค่านายหน้า บ.ประกันชีวิต-ประกันภัย ไม่ยอมส่งคืนแบงก์ แต่ส่งต่อรักษาการผู้จัดการ ชนวนถูกไล่ออกต้นปี’59 แต่ ‘บิ๊ก’ รอด เหตุเกษียณอายุทำงานก่อน กม. ไม่เปิดช่องให้เอาผิด
“เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ไอแบงก์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินการสอบสวนทางวินัยกรณีนี้แล้ว เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2559 แต่พนักงานรายนี้เกษียณอายุเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2559 โดยข้อบังคับดังกล่าวมิได้กำหนดให้ไอแบงก์สามารถดำเนินการทางวินัยกับพนักงานทีเกษียณอายุหรือพ้นสภาพการทำงานไปแล้วได้ ด้วยเหตุนี้แม้ไอแบงก์จะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินการสอบสวนทางวินัยกับพนักงานรายนี้ก็ตาม แต่เมื่อระหว่างสอบสวนพนักงานรายนี้ได้เกษียณอายุไปแล้ว ข้อบังคับดังกล่าวจึงไม่อาจนำมาใช้ได้
แตกต่างจากการสอบสวนและลงโทษทางวินัยแก่ข้าราชการพลเรือนตามมาตรา 100 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ที่กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาสามารถดำเนินการสอบสวนข้าราชการที่ออกจากราชการไปแล้วภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ผู้นั้นพ้นจากราชการ ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) เมื่อปี 2545 2556 และ 2557
ดังนั้นไอแบงก์จึงไม่สามารถดำเนินการทางวินัยแก่พนักงานผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเกษียณอายุการทำงานไปแล้วได้”
บางส่วนจากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) ที่ตอบข้อหารือของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท. หรือไอแบงก์) ในประเด็นอดีตพนักงานรายหนึ่ง ทุจริตเงินค่านายหน้าบริษัทประกันชีวิต และ/หรือบริษัทประกันภัย แต่เกษียณอายุไปแล้ว ทำให้ไม่สามารถลงโทษทางวินัยได้ (อ่านประกอบ : เกษียณแล้วเอาผิดไม่ได้!กฤษฎีกาชี้ ธ.อิสลามอดฟัน'บิ๊ก'โกงเงินนายหน้าประกันชีวิต)
อย่างไรก็ดีเงื่อนปมที่น่าสนใจประเด็นนี้คือ พฤติการณ์ของอดีตพนักงานรายนี้ ที่ไม่ยอมส่งมอบเงินค่านายหน้าดังกล่าวคืนให้แก่ไอแบงก์ แต่กลับไปมอบให้รักษาการผู้จัดการ (ขณะนั้น) แทน ขณะที่รักษาการผู้จัดการรายนี้ ปฏิเสธว่า ไม่ได้รับเงินดังกล่าว ส่งผลให้ถูกไล่ออกเมื่อต้นปี 2559 ที่ผ่านมา
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org พลิกแฟ้มคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) เกี่ยวกับกรณีการทุจริตฉาวในไอแบงก์ สรุปได้ ดังนี้
ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เมื่อปี 2557 ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจไอแบงก์ มีหนังสือถึงรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฝ่ายเศรษฐกิจ (พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง) ขอให้ คสช. เข้ามาแก้ไขปัญหาการดำเนินงานและการทุจริตในไอแบงก์ ต่อมาปี 2558 ประธานบอร์ดไอแบงก์มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีเงินรายได้ของไอแบงก์ที่เป็นค่านายหน้าธุรกิจประกันชีวิต และ/หรือประกันภัยหายไป คณะกรรมการสอบฯมีความเห็นว่า เงินที่บริษัทประกันชีวิต หรือประกันภัยเสนอผลตอบแทนและส่งมอบแก่ธนาคารเป็นเงินของไอแบงก์
อย่างไรก็ดีขณะนั้นไอแบงก์ยังมิได้มีการวางระเบียบหรือหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินรายได้ดังกล่าวแต่อย่างใด โดยมอบหมายให้พนักงานผู้ถูกกล่าวหารักษาเงินดังกล่าว แต่ผู้ถูกกล่าวหาได้นำเงินดังกล่าวส่งมอบให้แก่รักษาการผู้จัดการในเวลานั้น แต่รักษาการผู้จัดการธนาคารปฏิเสธว่า มิได้รับเงินดังกล่าว
หลังจากนั้นจึงแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยแก่รักษาการผู้จัดการ และคณะกรรมการสอบสวนฯ มีมติเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2559 เสนอให้ลงโทษไล่ออก และเสนอให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงพนักงานรายนี้ด้วย ต่อมาที่ประชุมบอร์ดไอแบงก์ มีมติเห็นชอบให้ลงโทษไล่ออกรักษาการผู้จัดการรายนี้ และตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงพนักงานรายนี้
ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2559 คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงมีความเห็นว่า พนักงานรายนี้ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ไม่ปฏิบัติตามระเบียบหรือหลักเกณฑ์ของธนาคาร และทำให้เกิดความเสียหายกับธนาคาร ประธานบอร์ดไอแบงก์ จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยผู้ถูกกล่าวหา เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2559
ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2559 พนักงานรายนี้ได้เกษียณอายุการทำงาน คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยจึงได้รายงานสรุปผลการสอบสวนต่อที่ประชุมบอร์ดไอแบงก์ว่า พนักงานผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยได้เกษียณอายุเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2559 แล้ว และตามข้อบังคับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 8 ว่าด้วยการทำงานและสวัสดิการของพนักงานและลูกจ้างธนาคาร พ.ศ. 2551 (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 7) มิได้กำหนดให้ไอแบงก์สามารถลงโทษทางวินัยแก่พนักงานที่พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานไปแล้วได้
กระทั่งคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) วินิจฉัยชี้ชัดลงไปแล้ว ไอแบงก์ไม่สามารถเอาผิดอดีตผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการรายนี้ได้จริง เนื่องจากเกษียณการทำงานไปแล้ว และข้อบังคับของไอแบงก์ไม่เปิดช่องให้ลงโทษพนักงานที่เกษียณไปแล้วด้วย
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) มีข้อสังเกตว่า กรณีการทุจริตเกี่ยวกับรายได้ค่านายหน้าธุรกิจประกันชีวิต และ/หรือประกันภัยของไอแบงก์ ตามกรณีข้อหารือดังกล่าว เกิดจากการที่มิได้วางระเบียบหรือหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินรายได้ดังกล่าวไว้ เป็นเหตุให้มีการทุจริตนำเงินดังกล่าวไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ไอแบงก์ จึงสมควรที่จะได้พิจารณาตรวจสอบ และแก้ไขระเบียบ และข้อบังคับของไอแบงก์ในเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินรายได้ทุกประเภทให้มีความรัดกุม และมีกระบวนการตรวจสอบการรับจ่ายเงินที่ชัดเจนและตรวจสอบได้
นอกจากนี้เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับดำเนินการทางวินัยกับพนักงานที่เกษียณอายุไปแล้ว สมควรมีการปรับปรุงแก้ไขข้อบังคับของไอแบงก์ให้สามารถดำเนินการทางวินัยกับพนักงานภายหลังที่พ้นจากการเป็นพนักงานไปแล้วด้วย ทั้งนี้กระทรวงการคลัง (สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ) ในฐานะที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจทั้งหมด ควรพิจารณาเสนอนโยบาย กฎหมาย ระเบียบ และมาตรการเกี่ยวกับการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจให้มีกระบวนการในการบริหารจัดการเงินรายได้อย่างรัดกุม และมีกระบวนการในการตรวจสอบที่ชัดเจน และตรวจสอบได้ รวมถึงการมีระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยแก่พนักงานที่สอดคล้องเป็นไปในแนวทางเดียวกัน
(อ่านฉบับเต็ม : http://app-thca.krisdika.go.th/Naturesig/GetContent?path=comment/comment2/2560/&file=c2_1023_2560&ext=tif)
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก muslimvoicetv.com