ตำแหน่งว่างอื้อ! เผยอีก 5 ปีข้างหน้า ขรก.เกษียณกว่า 5 หมื่นอัตรา
ครม.เห็นชอบแนวทางการทดแทนอัตราว่างจากผลเกษียณอายุของข้าราชการด้วยการจ้างงานรูปแบบอื่น ให้ใช้รูปแบบการจ้างงานที่หลากหลาย ไม่จำเป็นต้องเป็นข้าราชการเพียงอย่างเดียว
วันที่ 3 ต.ค. 60) เวลา 11.50 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบแนวทางการทดแทนอัตราว่างจากผลเกษียณอายุของข้าราชการด้วยการจ้างงานรูปแบบอื่น ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการบริหารและพัฒนากำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2557-2561) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการต่อไป
สำหรับสาระสำคัญของแนวทางการทดแทนอัตราว่าง ฯ สรุปได้ดังนี้
1. หลักการ
1.1 ส่วนราชการมีทางเลือกในการทดแทนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการด้วยการใช้รูปแบบการจ้างงานที่หลากหลาย โดยไม่จำเป็นต้องใช้ข้าราชการเพียงอย่างเดียว
1.2 การทดแทนอัตราว่างจากผลเกษียณอายุของข้าราชการต้องคำนึงถึงความจำเป็นตามภารกิจของแต่ละส่วนราชการ ความมีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในการบริหารกำลังคนภาครัฐ
2. เป้าประสงค์
1. เพื่อให้ส่วนราชการเลือกใช้รูปแบบการจ้างงานได้เหมาะสมกับความจำเป็นของภารกิจ
2. เพื่อให้สัดส่วนรูปแบบการใช้การจ้างงานที่ไม่ใช่ข้าราชการเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยลดภาระผูกพันด้านค่าใช้จ่ายด้านบุคคลในระยะยาว
3. แนวทางการดำเนินการ
3.1 ให้ อ.ก.พ. กระทรวง บริหารจัดการอัตราว่างจากผลเกษียณอายุของข้าราชการพลเรือนสามัญ โดยทดแทนอัตราว่างดังกล่าวที่มีในแต่ละปีด้วยรูปแบบการจ้างงานที่ไม่ใช่ข้าราชการตามแนวทางที่ คปร. กำหนด ดังต่อไปนี้
3.1.1 การทดแทนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการในสายงานสนับสนุน ให้ดำเนินการ ดังนี้
(1) ตำแหน่งประเภททั่วไปในสายงานสนับสนุนของส่วนราชการทั้งตำแหน่งที่ปฏิบัติงานประจำพื้นฐานที่สนับสนุนด้านการบริหารจัดการของส่วนราชการ (Corporate Functions) (เช่น ตำแหน่งในสายงานเจ้าพนักงานธุรการ เจ้าพนักงานการเงินและบัญชี และเจ้าพนักงานพัสดุ เป็นต้น และตำแหน่งประเภททั่วไปที่สนับสนุนการปฏิบัติงานของสายงานหลัก (เช่น นายช่างเครื่องกล นายช่างรังวัด และนายช่างเทคนิค เป็นต้น) ให้ทดแทนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการด้วยการจ้างงานรูปแบบอื่นทั้งหมด (ร้อยละ 100 ของอัตราว่างจากผลเกษียณอายุในสายงานสนับสนุนที่ส่วนราชการมีในปีนั้น) ทั้งนี้ สำหรับตำแหน่งประเภททั่วไประดับอาวุโส ให้ยกเว้นการทดแทนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการด้วยการจ้างงานรูปแบบอื่น เนื่องจากเป็นทางก้าวหน้าของข้าราชการในสายงานสนับสนุน
(2) ตำแหน่งประเภทวิชาการในสายงานสนับสนุนของส่วนราชการ เช่น ตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับงานประจำพื้นฐานที่สนับสนุนการบริหารจัดการของส่วนราชการ เช่น ตำแหน่งในสายงานนักทรัพยากรบุคคล นักวิเคราะห์นโยบายและแผน นักวิชาการเงินและบัญชี นักวิชาการพัสดุ และนักวิชาการคอมพิวเตอร์ เป็นต้น หรือตำแหน่งประเภทวิชาการที่สนับสนุนการปฏิบัติภารกิจหลักของส่วนราชการ ให้ทดแทนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการด้วยการจ้างงานรูปแบบอื่นอย่างน้อยร้อยละ 10 ของอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของตำแหน่งประเภทวิชาการในสายงานสนับสนุนที่ส่วนราชการมีในปีนั้น
3.1.2 การทดแทนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการในสายงานหลักให้ดำเนินการ ดังนี้
(1)ตำแหน่งประเภทวิชาการ ให้พิจารณาทดแทนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการด้วยการจ้างงานรูปแบบอื่น โดยคำนึงถึงความจำเป็นตามภารกิจของส่วนราชการ ความมีประสิทธิภาพและความคุ้มค่า และเงื่อนไขในการจ้างงานภาครัฐ เช่น ความจำเป็นในการดึงดูดผู้มีความรู้ความสามารถและการแข่งขันกับภาคเอกชนและภาคส่วนอื่น ความเร่งด่วนในการใช้ผู้มีศักยภาพในการปฏิบัติงาน เป็นต้น
(2) ตำแหน่งประเภททั่วไป ให้ทดแทนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการด้วยการจ้างงานรูปแบบอื่นอย่างน้อยร้อยละ 10 ของอัตราว่าง จากผลการเกษียณอายุของตำแหน่งประเภททั่วไปในสายงานหลักที่ส่วนราชการมีในปีนั้น ทั้งนี้ สำหรับส่วนราชการ/กรมขนาดเล็กที่มีอัตรากำลังไม่เกิน 1,000 อัตรา ให้พิจารณาใช้รูปแบบการจ้างงานอื่นทดแทนการบรรจุข้าราชการตามความเหมาะสมและตามความจำเป็นของภารกิจ
3.2 ให้คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) บริหารจัดการอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการในแต่ละปี โดยทดแทนอัตราว่างดังกล่าวด้วยรูปแบบการจ้างงานที่ไม่ใช่ข้าราชการ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ คปร. กำหนดโดยอนุโลม รวมทั้งให้ฝ่ายเลขานุการร่วม คปร. สื่อสารให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลอื่นนอกฝ่ายบริหารตระหนักถึงความจำเป็นและดำเนินการตามมาตรการนี้โดยอนุโลมด้วยเช่นกัน
3.3 ให้ฝ่ายเลขานุการร่วม คปร. ศึกษาแนวทางและมาตรการเพื่อจูงใจให้ส่วนราชการทดแทนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการด้วยการจ้างงานรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่ข้าราชการ เช่น หากส่วนราชการมีอัตราข้าราชการประเภทวิชาการเกษียณอายุ จำนวน 1 อัตรา อาจกำหนดให้ทดแทนด้วยพนักงานราชการ จำนวน 2 อัตรา เป็นต้น รวมทั้งหามาตรการจูงใจให้ส่วนราชการใช้อัตรากำลังอย่างมีประสิทธิภาพ
4. เงื่อนไขการดำเนินงาน
4.1 ในการจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการคืนให้กับส่วนราชการ อ.ก.พ. กระทรวง ก.ต.ร. และ ก.ค.ศ. ยังคงดำเนินการตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ คปร. กำหนดไว้ในมาตรการบริหารและพัฒนากำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2557-2561) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2556 โดยอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการที่จะนำไปจัดสรรให้กับส่วนราชการ ต้องผ่านการพิจารณาทดแทนด้วยการจ้างงานรูปแบบอื่น ตามที่กำหนดไว้ในแนวทางการดำเนินการด้วยแล้ว
4.2 ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อให้ส่วนราชการมีระยะเวลาเตรียมตัวและสามารถวางแผนการทดแทนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการด้วยการจ้างงานรูปแบบอื่นล่วงหน้า จึงเห็นควรให้การดำเนินการตามแนวทางนี้มีผลบังคับใช้สำหรับทดแทนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการ ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป รวมทั้ง ให้ฝ่ายเลขานุการร่วม คปร. (สำนักงาน ก.พ.) สื่อสารสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับส่วนราชการด้วย
5. โดยที่แนวโน้มอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการใน 5 ปี ข้างหน้า (พ.ศ. 2560-2564) พบว่า จะมีอัตราว่างฯ ประมาณ 50,584 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 2.5 ของจำนวนข้าราชการพลเรือนสามัญในแต่ละกระทรวง ดังนั้น การมีมาตรการบริหารจัดการและทดแทนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการที่เหมาะสมจะช่วยให้การบริหารกำลังคนภาครัฐมีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่า