ดร.สังศิต ชี้ทุนนิยมโดยรัฐฟื้นคืนชีพ ยุค ‘บิ๊กตู่’ ทหารตัดสินใจ เมินแก้ยากจน
ดร.สังศิต ชี้ทุนนิยมโดยรัฐฟื้นยุคประยุทธ์ เข้มข้นมากที่สุดตั้งแต่ปี 2516 แนะ รบ.เร่งแก้ปัญหายากจน กระจายรายได้เป็นธรรม พัฒนาการศึกษา ด้าน ตุลาการศาล รธน. ระบุเหตุคนล้นคุก เพราะอยากได้ โดยไม่รู้ แนะเลิกเขียน กม.ส่งคนผิดโทษไม่เยอะเข้าคุก เน้นเฉพาะคดีร้ายแรงเท่านั้น
วันที่ 2 ต.ค. 2560 สำนักกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ จัดงานเสวนาวิชาการ โลกาภิวัฒน์ ทุนนิยมสุดโต่ง การเสพติด ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ:ปัญหาและทางออก ณ โรงแรมเซนทารา แกรนด์ กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ ในเวทีเสวนาย่อย “ทุนนิยมสุดโต่ง ผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรม :ปัญหาและทางออก รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงทุนนิยม มี 2 ระบบ คือ 1.ทุนนิยมเสรี ซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ และกลายเป็นอิทธิพลทำให้ประเทศอื่น ๆ ในโลกเข้าสู่ระบบทุนนิยมดังกล่าว ซึ่งไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศเหล่านั้นด้วย จะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญมีการกำหนดให้เศรษฐกิจของไทยเป็นทุนนิยมเสรี ซึ่งเชื่อว่า กลไกราคาตลาดจะทำหน้าที่ด้วยความยุติธรรม และเกิดการจัดสรรทรัพยากรต่าง ๆ อย่างเป็นธรรม
2.ทุนนิยมเพื่อสังคม เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศยุโรป เช่น เยอรมัน ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม ซึ่งแตกต่างจากสหรัฐฯ โดยให้ความสำคัญเรื่องระบบการศึกษา เพราะเห็นว่า มนุษย์เกิดมาไม่เท่าเทียมกัน ดังนั้นความเท่าเทียมที่รัฐจะจัดสรรให้ได้ คือ การให้การศึกษาฟรีและสวัสดิการ
นักวิชาการ ม.รังสิต กล่าวต่อว่า สำหรับไทยในอดีตเคยเป็นทุนนิยมเช่นกัน แต่เป็นทุนนิยมโดยรัฐ ซึ่งผู้ที่มีบทบาทสำคัญ คือ ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และดูเหมือนว่า สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มจะเข้าใกล้ทุนนิยมโดยรัฐมากขึ้น เพราะไม่ว่าการบริหารรัฐวิสาหกิจ หรือคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจต่าง ๆ ล้วนมีทหารคอยตัดสินใจ แต่ความเข้มข้นไม่เท่าสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม อย่างไรก็ตาม แม้ไม่เข้มข้นเท่าสมัยนั้น แต่ถือว่าเป็นทุนนิยมโดยรัฐมากที่สุด ตั้งแต่ปี 2516 เป็นต้นมา
“ถ้าจะทำทุนนิยมในไทยให้มีหน้าตาเป็นมนุษย์มากขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องดำเนินนโยบายกระจายรายได้อย่างเป็นธรรมและพัฒนาระบบการศึกษา เพื่อจะแก้ไขปัญหาความยากจน แต่น่าเสียดายที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ยอมทำ และหากยังไม่แก้ไขปัญหานี้ รัฐบาลจะเสียโอกาสไป” รศ.ดร.สังศิต กล่าว
ขณะที่ ศ.(พิเศษ) จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า สังคมไทยไม่ใช่ทุนนิยมสุดโต่ง แต่เป็นทุนนิยมผูกขาดหรือกึ่งผูกขาด มีการเอารัดเอาเปรียบ ไม่ให้โอกาสคนใหม่เข้าไปแข่งขันหรือพัฒนา กลายเป็นจุดเปราะบางของระบบทุนนิยมเสรี ทั้งนี้ หลายคนต่างวิเคราะห์ว่า ระบบทุนนิยมไทยมีมิติทุนนิยมสามานย์ หรือถึงขนาดบางสำนักเรียกว่า ทุนนิยมหายนะ ซึ่งอาจจะมองในแง่ร้ายมากเกินไป
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า แนวคิดในครั้งนี้ไม่ได้ต้องการเผยแพร่ลัทธิสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ แม้จะฟังดูเหมือนเป็นวาทกรรมล้มล้างทุนนิยมเสรี เพราะปัจจุบันคนไทยเห็นว่า ระบบดังกล่าวเหมาะสม แต่ขออย่าให้สุดโต่งจนเอารัดเอาเปรียบได้อย่างไม่มีขอบเขต และจะกลายเป็นจุดแตกหักได้ และเห็นว่า ปัญหาจากทุนนิยมสุดโต่งจะนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ ตามมา
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุปัญหาหนึ่งในนั้น คือ ผู้ต้องขังล้นคุก ซึ่งจะขจัดได้ ต้องดำเนินการที่สถาบันหลักของชาติ ตั้งแต่สถาบันครอบครัว ซึ่งแตกสลายเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นทำอย่างไรจึงจะกู้ฟื้นคืนสถาบันครอบครัวของไทยให้มีเวลาอยู่กับลูกได้มากขึ้น ไม่ต้องมากเหมือนสมัยก่อน แต่ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
สถาบันการศึกษา ครูต้องดูแลลูกศิษย์ได้มากกว่าบทเรียน และคำสอนทางวิชาการ และให้สถาบันการศึกษามอบและถ่ายทอดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 ปสู่ลูกศิษย์ให้มากกว่าวิชาการความรู้ที่ให้เพื่อไปสอบแข่งขัน และ สถาบันศาสนา ให้ทุกคนได้เข้าถึงมากขึ้น หลังจากปัจจุบันเริ่มห่างไกลออกมาทุกที
“ทำไมต้องตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่ เพราะรู้ผิด อยากได้โดยไม่รู้ จึงไม่ต่างอะไรจากทำไมถึงเป็นคนเดินยา ค้ายา และเป็นลูกค้าของเรือนจำ” ศ.(พิเศษ) จรัญ กล่าว และระบุด้วยว่า ต่อไปจะต้องเขียนกฎหมายที่ไม่ส่งคนเข้าคุก แต่เขียนส่งคนเข้าคุกเฉพาะคดีที่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อสังคมเท่านั้น ซึ่งอาจต้องมีส่วนร่วมจากผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์ จากสาขาอาชญวิทยา สังคมวิทยา ร่วมตัดสินใจด้วย ไม่ควรมีเฉพาะนักกฎหมายหรือบุคลากรกฎหมายเท่านั้น