อดีตประธานศาลฎีกา "ปัญหายาเสพติดแก้ไม่ตก ถ้ารัฐยังดื้อใช้ไม้แข็งจัดการ"
อดีตประธานศาลฎีกา มองปัญหายาเสพติด แก้ไม่ตก เพราะรัฐยังดำเนินแบบเดิม เอากฎหมาย ใช้ไม้แข็งเข้าแลก ขาดการเข้าใจปัญหา แยกแยะผู้เสพ ผู้ค้า ศาลไม่มีอำนาจใช้ดุลพินิจตัดสิน นอกจากไม่เกิดผลดี รัฐยังต้องรับภาระคนล้นคุก และปัญหาที่แก้ไม่ได้ เพราะยาเสพติดกลายเป็นเรื่องใต้ดิน
เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2560 ที่โรงแรมเซนทารา แกรนด์ แอท เซนทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว สำนักงานกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดการประชุมภายใต้โครงการศึกษาวิจัย เรื่อง “การพัฒนาอย่างยั่งยืน กับ “หลักนิติธรรม” “โลกาภิวัฒน์ ทุนนิยมสุดโต่ง การเสพติด ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ” : “ปัญหาและทางออก”
นายวีระพล ตั้งสุวรรณ อดีตประธานศาลฎีกา กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งถึงภาวะรวยกระจุกจนกระจาย ผู้คนยากจน แต่บางคนรวยล้นฟ้า ความเหลื่อมล้ำทำให้คนในยุคทุนนิยมสุดโต่งสำคัญขึ้นมา คนอยากจะรวยทางลัดในเรื่องยาเสพติด และเหตุใดเราจัดการให้การเสพยาเสพติดเป็นความผิดอาญา นับตั้งแต่ 50 ปีก่อน ตั้งแต่เราเริ่มสูบฝิ่นได้อย่างเสรี โดยมีการจำกัดในโรงเสพ ทันทีที่เราทำให้ผิดทางอาญาขึ้น 50 ปีผ่านไป ปัญหายาเสพติดไม่ได้ลดลง
นายวีระพล กล่าวว่า ปัจจุบันผู้มีฐานะในสังคมใช้ยาเสพติดเป็นเรื่องของความบันเทิง ไม่มีส่วนทำอันตรายสังคม คนที่มีปัญหาจิตใจที่ต้องพึ่งพายาเสพติด พวกพึ่งพาเหล่านี้จะเปลี่ยนเป็นสถานะ จ่ายแจก หลังจากเสพไปสักระยะ เป็นการช่วยผู้จำหน่ายรายใหญ่ ในสังคมสุดโต่งคนพวกนี้อยากร่ำรวยจากทางลัดยาเสพติด และนำไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
นายวีระพล กล่าวถึงปัญหายาเสพติดที่จะแก้ได้ ถ้าเราใช้ปัญหาสามใจง่ายๆ ในการแก้ปัญหายาเสพติด เราก็อาจจะพบแสงสว่าง
1. ความเข้าใจปัญหายาเสพติด
การทำให้การเสพยาเสพติดที่ทำร้ายตัวเอง คนที่เสพเหล่านี้กระทำผิดอะไรเลวร้ายในสังคมหรือไม่ ทัศนคติของคนในสังคม มองพวกนี้เป็นคนไม่ดี เป็นพวกผีปีศาจ ถ้าเราไม่สามารถล้างความคิดของสังคมได้ อยากที่เราจะแก้ปัญหายาเสพติด การทำให้ยาเสพติด การเสพยาเป็นความผิดอาญา เป็นการแก้ปัญหาถูกจุดหรือไม่ เป็นการกลัดกระดุมผิดหรือไม่
“การเสพยา เป็นผิดต่อร่างกายตัวเอง หรือเป็นเรื่องของสังคม ผิดอาญาหรือไม่ แล้วทำไมการเสพสุรา-เหล้า บุหรี่ ซึ่งเสพติดเหมือนกันแต่ทำไมไม่เป็นความผิดอาญา โจทย์ที่เราต้องแก้อีกอย่างคือ เราสามารถควบคุมยาเสพติดได้หรือไม่ ในการให้คนใช้หรือเราจะแยกระหว่างคนไม่เสพกับเสพอย่างไร ยกตัวอย่างในสนามบินการกั้นห้องเฉพาะให้คนมาสูบบุหรี่ เป็นต้น”
2. คนในสังคมรู้สึกต่อคนเสพยาอย่างไร ถ้าเรายังรู้สึกว่าเขาเป็นตัวเลวร้ายของสังคม สมมติว่าเราจะปล่อยให้คนเสพไม่มีความผิดอาญา เหมือนเช่นใน 50 ปี ก่อน คนโดยรวมจะรู้สึกอย่างไร สื่อมวลชนเข้าใจเรื่องนี้หรือเปล่า สังคมโดยรวมเข้าใจหรือไม่
3.ถ้าเราทำให้การเสพผิดกฎหมาย มีส่วนผลักดันให้คนเสพลงไปใต้ดินและจำหน่ายอย่างไม่ถูกต้อง การควบคุมคุณภาพชีวิตของคนขายรายใหญ่ มีแต่จะจำหน่ายให้มากที่สุด ไม่เคยสนใจเรื่องสุขอนามัย รายใหญ่ไม่เคยถูกจับได้ ข่าวที่จับแสนเม็ด ล้านเม็ด เป็นเพียงแค่คนขนยา ไม่ใช่เจ้าของยาเสพติดอย่างแท้จริง ดังนั้นการทำให้คนเสพผิดกฎหมาย ทำให้เกิดผลราคาที่แพงขึ้น คนกลุ่มหนึ่งลงมาสร้างความร่ำรวยในภาวะทุนนิยมสุดโต่ง
นายวีระพล กล่าวอีกว่า ถ้าเราตั้งโจทย์ให้เข้าใจ มี 4 ประเภท 1.คนที่ใช้เพื่อครั้งคราว ไม่ใช้คนติด 2.คนที่ใช้ยาบ่อยๆ ต้องพึ่งพายา เมื่อพึ่งพายา เกิดสภาพติด พอปราศจากยาก็ต้องจำหน่าย คนพวกนี้ ที่จะเป็นตัวแทนให้รายใหญ่ คนรายใหญ่ไม่เคยเสพยา การผลิดยาจะมีผลต่อสุขอนามัยหรือไม่ไม่มีใครสนใจ รัฐออกกฎหมายในเรื่องการคุ้มครองตรงนี้ไม่มีเลย ในการดูเเลคนที่เป็นผู้เสพมีแต่จะใส่โทษให้มากขึ้น 3. คนที่เริ่มจำหน่าย เพราะตัวเองเคยติด และโลภมากขึ้นจากการจำหน่าย และ 4.กลุ่มนายทุน ซึ่งในประวัติศาสตร์น้อยมาก หลังจากเราทำให้ การเสพผิดอาญา เราไม่เคยจับผู้ค้ารายใหญ่ได้เลย
อดีตประธานศาลฎีกา กล่าวถึงทิศทางการปราบยาเสพติดที่เดินตามสหรัฐอเมริกา เราต้องทบทวนหรือยัง ในสหรัฐฯ เริ่มทำสงครามยาเสพติดในปี 1971 สมัยปรธานาธิบดีนิกสัน สุดท้ายสู้ไม่ได้ ในที่สุดสหรัฐฯเองยาเสพติดบางประเภท เช่น กัญชา พบว่ากว่าครึ่งของมลรัฐทั่วสหรัฐฯ ทำให้ไม่เป็นความผิดอาญาเเล้ว เมื่อไม่เป็นความผิดอาญา การลงใต้ดินก็ลดลง
ย้อนกลับมาดูกฎหมายไทย พ.ร.บ.ยาเสพติดปี 2522 เป็นเรื่องการทำสงครามยาเสพติด โทษรุนแรงมาก เดินตามรอยสหรัฐฯ วันนี้ทั่วโลกถอยหมดเเล้ว ยกเว้น ฟิลิปปินส์ ประเทศไทยเรามีพ.ร.บ.ยาเสพติดฉบับแก้ไข เราแก้คนเสพเป็นผู้ป่วย แล้วการลงมือปฏิบัติต่อผู้เสพเป็นผู้ป่วยจริงหรือเปล่า
นายวีระพล กล่าวอธิบายเพิ่มว่า ในส่วนที่ที่แก้ปี2545 บอกว่าคนเสพเป็นผู้ป่วยแต่ถ้ามีมากกว่า 15 เม็ด หรือมีสารบริสุทธิ์ เกิน 3.75 มิลลิกรัมให้ถือเป็นผู้จำหน่าย การทำแบบนี้เข้าใจผู้เสพแล้วหรือ กฎหมายลักษณะนี้ ทำให้ศาลต้องฝืนหลักกฎหมายในพยานหลักฐาน ไม่มีกฎหมายไหนในโลกที่บอกว่าถ้ามีจำนวนเท่านี้ถือว่ามีไว้เพื่อจำหน่าย
“ในกฎหมายฉบับปรับปรุง เมื่อวันที่ 20 มกราคม 60 เปิดโอกาสให้ศาลใช้ดุลพินิจว่ามีครอบครองเท่านี้ ไม่ใช่เพื่อจำหน่าย ซึ่งจะทำให้ปัญหาคนล้นคุกที่ปัจจุบันมีคนในคุกอยู่ 308,000 กว่าคนจะหายไปครึ่งหนึ่ง” อดีตประธานศาลฎีกา กล่าว และว่า ข้อสันนิษฐานเด็ดขาดว่าเสพเองเป็นผู้ป่วย แต่พอมีมากเรากลับโยนบาปให้ศาลตัดสินเลยโดยไม่ชั่งน้ำหนัก ปัจจุบันกำลังยกร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดซึ่งตอนนี้อยู่ในชั้นกฤษฎีกา โดยตรรกะของการทำให้เป็นความผิดอาญาควรจะมีอะไรบ้าง ก.สาธารณสุข ปปส. กระทรวงยุติธรรม ต้องคุยแล้วว่าคนเสพทำร้ายอะไรให้สังคม
นายวีระพล กล่าวเพิ่มเติมว่า หากดูฤทธิ์ของเหล้า สุรา และแมทเอมเฟตตามีนหรือยาบ้า เหล้าอยู่อันดับที่สูงกว่า ศาลเองถ้าเป็นการเสพยาบ้าขับรถให้โทษสูงกว่า แต่คนเสพสุราแล้วขับรถ ทั้งๆ ที่สุรามีผลทันทีต่อการตัดสินใจในขับรถกลับโทษน้อยกว่า
2.คนต้องเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจแก้ปัญหายาเสพติดไม่ได้
ประธานศาลฎีกา กล่าวว่า คนเสพทำอะไรที่เป็นอันตรายต่อสังคมบ้างที่เป็นความผิดอาญา ความเข้าใจในการแก้ปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องสำคัญที่สุดตอนนี้ การจัดการด้วยวิธีรุนแรงยากที่จะแก้ปัญหา โดยเราไม่เข้าใจ ในกฤษฎีกาเองพูดว่า ความผิดฐานเสพยังมีอยู่แต่ผ่อนคลายให้ศาลใช้ดุลพินิจในการส่งตัวไปบำบัด
3.ต้องมีความจริงใจ
นายวีระพล กล่าวถึงคนที่เกี่ยวข้องยาเสพติด ปปส. สาธารณสุขเป็นเรื่องการดูเเล ผู้ป่วย ถ้าเราเห็นว่าผู้เสพเป็นผู้ป่วยต้องรับไปบำบัดไม่ใช่หน้าที่ศาลที่จะไปลงโทษผู้ป่วย วันนี้คุยได้หรือยังในความจริงใจที่จะแก้ปัญหา
1.ทำให้ถูกกฎหมาย สามารถซื้อขายได้โดยมีการควบคุม แนวคิดนี้สังคมไทยอาจรับไม่ได้เพราะสุดโต่งไป
2. decriminalise หรือการลดโทษ เช่นเราต้องเข้าใจกัญชาว่าโทษเป็นยังไง การทำให้ถูกกฎหมายอาจยาก แต่การลดโทษจะช่วยได้
3. ปัจจุบัน พ.ร.บ.ยาเสพติดไทย เป็น over criminalise คือทำให้เกินความจำเป็น ผู้ต้องขังล้นคุกจำนวน 2 แสนกว่าคน คนเหล่านี้ไม่ใช่ผู้จำหน่ายรายใหญ่ แต่เป็นคนแก่ ผู้หญิงที่ถูกใช้ให้เป็นสายของการจำหน่ายให้รายใหญ่ ถ้าเราไม่จริงใจในการแก้ปัญหาจะมีปัญหามากมายตามมาในเรื่องความจริงใจ
4.ความร่วมมือร่วมใจ เป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับ บุคคลากรในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด
สิ่งที่ทำให้ไม่เกิดความร่วมใจ นายวีระพล กล่าวว่า เพราะประโยชน์จากเงินรางวัล ถ้าเรายังดำเนินมาตรการแบบนี้ การแก้ปัญหายาเสพติดจะดำเนินยากมาก ต้นทุนยาบ้าไม่เกิน 50 สตางค์ ราคาขาย200บาท รางวัลนำจับบาทสองบาทเม็ด แรงจูงใจในการจับ ผลพวงทุนนิยมอยากมีอยากเป็น สุดท้าย ภาระหนักตกที่ศาล ศาลทำหน้าที่ตั้งรับมาโดยตลอด นิติบัญญัติออกกฎหมายมา ศาลหลับตาใช้ไป อะไรก็ตามที่กระทบต่อเสรีภาพของประชาชนโดยปราศจากเหตุผล เป็นหน้าที่ของตุลาการที่จะเเสดงเหตุผล
“เรามีพ.ร.บ.ยาเสพติด ปี 2522 คดีเพิ่มขึ้นทุกปี ผมรับตำแหน่งในปี 58 มีคดียาเสพติด280,000เรื่อง ด้านหนึ่งบอกว่า ผู้เสพเป็นผู้ป่วยอีกด้านกลับบอกว่า ถ้ามีเกินเท่านี้เป็นคนจำหน่าย หรือการกำหนดจำนวนเรื่องนำเข้า ส่งออก เข้มงวดมาก ไม่เปิดโอกาสให้ศาลใช้ดุลพินิจเลย กฎหมายแบบนี้ เราก็แก้ ทำให้มีโทษขั้นต่ำคนที่นำเข้าเม็ดครึ่งก็ไม่ต้องขัง30 ปี”