แห่ทดสอบร่างกายเป็น "อส.ชายแดนใต้" สุดคึก!
ช่วงครึ่งหลังของเดือนกันยายน หลายพื้นที่ในจังหวัดชาแดนภาคใต้ได้เปิด "ทดสอบสมรรถภาพร่างกาย" สำหรับผู้ที่สมัครเข้าเป็น "อาสารักษาดินแดน" หรือ อส. ซึ่งจัดเป็นกองกำลังภาคประชาชนของฝ่ายปกครอง ถือเป็นกองกำลังติดอาวุธของรัฐที่ช่วยดูแลความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ชายแดนใต้ เหมือนกับทหาร ตำรวจ
แต่ความต่างของ อส.ชายแดนใต้ในปัจจุบันก็คือ เป็นคนในพื้นที่ทั้งหมด ฉะนั้นนอกจากจะส่งผลดีต่อการให้ "คนพื้นที่" ดูแลกันเองแล้ว ยังเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนสามจังหวัดด้วย
วันแดดจัดวันหนึ่งของเดือนกันยายน ที่สนามกีฬา อบจ.ปัตตานี มีการจัดทดสอบสมรรถภาพร่างกายของผู้ที่สมัครเป็น อส. ประจำอำเภอโคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ซึ่งมีผู้สมัครมากกว่า 400 คน เพื่อไปทำหน้าที่ “ชุดคุ้มครองตำบล” หรือ ชคต.
เกณฑ์การทดสอบ ต้องผ่านการตรวจสอบความฟิตถึง 3 สถานีด้วยกัน เริ่มจากสถานีแรก ทดสอบดันพื้น หรือวิดพื้น สถานีที่สอง ลุกนั่ง หรือที่เรียกว่า "ซิตอัพ" และสถานีที่สาม "วิ่ง" ระยะทางถึง 2 กิโลเมตร แต่ละสถานีจะมีการจับเวลาด้วย แต่เกณฑ์เวลาและจำนวนครั้งที่ทดสอบ มากน้อยต่างกันตามอายุ ผู้ที่ผ่านการทดสอบสมรรถภาพร่างกายจะยังไม่ได้รับการบรรจุเป็น อส.ทันที แต่ต้องผ่านการสอบสัมภาษณ์อีกในขั้นตอนสุดท้าย โดยในส่วนของ อส.อำเภอโคกโพธิ์ รับได้เพียง 144 นายเท่านั้น
สำหรับจำนวน อส.ที่เปิดรับสมัครทั้งหมดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีทั้งสิ้น 2,161 อัตรา เพื่อไปบรรจุและปฏิบัติงานในชุดคุ้มครองตำบล จำนวน 60 ชุด กระจายไปทั้งสามจังหวัด แยกเป็น จ.ปัตตานี 38 ชคต. ต้องการสมาชิก อส. 1,368 นาย จ.ยะลา 11 ชคต. ต้องการสมาชิก อส. 396 นาย และ จ. นราธิวาส 11 ชคต. ต้องการสมาชิก อส. 396 นายเช่นกัน
ว่าที่นายกองตรี วิชิต อ่อนทองอิน ป้องกันจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า การสมัคร อส.ครั้งนี้ เป็นการสนับสนุนจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ภาคประชาชนในพื้นที่เข้ามาดูแลความปลอดภัยทดแทนกำลังทหารที่ถอนออกไป
"อส.จะมาช่วยทำให้บ้านเมืองของเราสงบสุข เพราะเขาเป็นคนพื้นที่ รู้จักพื้นที่เป็นอย่างดี เขาจะไปทำภารกิจทุกด้านเกี่ยวกับงานด้านความมั่นคง" ว่าที่นายกองตรี วิชิต กล่าว และว่าการทดสอบสมรรถภาพร่างกายใช้เจ้าหน้าที่สามฝ่าย คือ ทหาร ตำรวจ และปกครอง มาร่วมทดสอบ เพื่อให้ได้กำลังพลที่พร้อมและสมบูรณ์ ที่สุดเพื่อปฏิบัติภารกิจร่วมกันกับฝ่ายอื่นๆ
ด้าน นพดล สะอิ ชาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ซึ่งเข้าร่วมทดสอบสมรรถภาพร่างกายเพื่อสมัครเข้าเป็น อส. บอกว่า ดีใจมากที่สามารถสอบผ่านการวิ่งระยะทาง 2 กิโลเมตร การดันพื้น และลุกนั่งได้ หลังจากนี้ต้องทดสอบภาคความรู้ และประสบการณ์ ก่อนที่คณะกรรมการจะรตัดสินให้เข้าบรรจุเป็นกำลังพล อส.ประจำจังหวัดปัตตานี
"อยู่ในพื้นที่งานหายาก ถ้าได้เป็น อส. เราก็จะมีฐานะทางครอบครัวที่มั่นคง และสามารถปกป้องพี่น้องของเราให้ปลอดภัยได้ด้วย หวังมากว่าจะสามารถผ่านการทดสอบและบรรจุเข้าเป็น อส.ได้" หนุ่มโคกโพธิ์ กล่าว
สำหรับ "กองอาสารักษาดินแดน" เป็นกำลังกึ่งทหาร จัดเป็นกำลังสำรองที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งเมื่อถูกร้องขอจากฝ่ายทหารทั้งในยามปกติและยามศึกสงคราม โดยรับสมัครจากราษฎรที่สมัครใจเข้ามาเป็นสมาชิก อส. มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (รมว.มหาดไทย) เป็นประธานกรรมการ และผู้บัญชาการโดยตำแหน่ง
ชั้นยศของ อส.แบ่งออกเป็นชั้นยศของผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดน กับชั้นยศของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน
ชั้นยศของผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดน แบ่งออกเป็น 7 ชั้นยศ ได้แก่ นายกองใหญ่ นายกองเอก นายกองโท นายกองตรี นายหมวดเอก นายหมวดโท และ นายหมวดตรี
ส่วนชั้นยศของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน แบ่งออกเป็น 4 ชั้นยศ ได้แก่ นายหมู่ใหญ่ นายหมู่เอก นายหมู่โท นายหมู่ตรี ขณะที่สมาชิก อส.หน้าใหม่ที่ยังไม่มียศ ก็ยังแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ สมาชิกเอก สมาชิกโท สมาชิกตรี และสมาชิก
กำลังพล อส.จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขึ้นการบังคับบัญชากับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งมีอัตรากำลังรวมทุกหน่วย 61,604 นาย แยกเป็นส่วนกองกำลัง 53,343 นาย ในจำนวนนี้แบ่งเป็นกำลังทหาร 26,957 นาย ตำรวจ 16,724 นาย และ อส. 9,662 นาย
------------------------------------------------------------------------------------
เรื่อง/ภาพ : อับดุลเลาะ หวังหนิ
บรรยายภาพ :
1, 2, 3, 5 และ 6 บรรยากาศการทดสอบสมรรถภาพร่างกาย
4 ว่าที่นายกองตรี วิชิต อ่อนทองอิน
7 กราฟฟิกแสดงจำนวนกำลังพลแต่ละประเภทในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ขอบคุณรายการล่าความจริง เนชั่นทีวี)
อ่านประกอบ :
รู้จัก "อส." นักรบประชาชน...อีกหนึ่ง"เป้านิ่ง"ที่ชายแดนใต้
เปิดอก "อส." ในวันท้อ...ตกเป็น "เป้าล่อ" แต่นายไม่เคยเหลียวแล