เปิดอก "อส." ในวันท้อ...ตกเป็น "เป้าล่อ" แต่นายไม่เคยเหลียวแล
"ผมท้อมากเลย หากไม่มีภาระต้องส่งลูกเรียนหนังสือจะขอลาออก ไม่ต้องเอาชีวิตมาเสี่ยงแบบนี้ อส.ที่ประจำฐานต่างๆ มี 20 กว่านาย เข้าเวร 4 วัน ให้มาม่าหนึ่งกล่อง ไข่คนละ 3 ฟอง กาแฟคนละห่อ แต่วันหนึ่งต้องกิน 3 มื้อ แล้วจะให้เราเอาแรงที่ไหนไปสู้รบกับเขา"
เป็นเสียงจาก "อาสารักษาดินแดน" หรือที่เรียกกันติดปากว่า "อส." นักรบประชาชนที่จัดตั้งโดยฝ่ายปกครอง ซึ่งกำลังมีบทบาทสำคัญในการดูแลพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในวันที่ "ทหารหลัก" หรือ "ทหารเขียว" ทะยอยถอนกำลังกลับบ้าน
แม้ชีวิตของเจ้าหน้าที่ทุกนายในสามจังหวัดชายแดนจะแขวนอยู่บนเส้นด้าย ไม่รู้จะถูกยิงถูกระเบิดวันไหน แต่สำหรับ อส.แล้ว พวกเขาถือเป็น "เป้าใหญ่" เพราะส่วนใหญ่เป็นคนพื้นที่ที่หันไปทำงานให้กับรัฐ จึงกลายเป็นศัตรูหมายเลข 1 ของกลุ่มก่อความไม่สงบที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน
โดยเฉพาะปีนี้ มีการประเมินสถานการณ์กันชัดเจนว่า ฝ่ายผู้ก่อการตั้งเป้าโจมตีและสังหารเจ้าหน้าที่ที่ถืออาวุธ และ อส.ก็เป็นหนึ่งในนั้น ซ้ำยังจัดเป็นเป้าหมายอ่อนแอที่สุดในกลุ่มผู้ถืออาวุธ เพราะเป็นเพียงกำลังพลกึ่งทหาร
สถิติที่เก็บรวบรวมโดย "ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา" เฉพาะในห้วงครึ่งปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.2555) มี อส.เสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบไปแล้ว 15 นาย บาดเจ็บ 8 นาย ถูกคนร้ายชิงอาวุธปืนประจำกายไปทั้งสิ้น 11 กระบอก รวมทั้งปืนอาก้ารุ่นใหม่ที่ทางราชการการเพิ่งแจกจ่ายให้เมื่อไม่นานมานี้ด้วย
เฉพาะช่วงเดือน พ.ค.ถึง มิ.ย.ที่ผ่านมา อส.ถูกโจมตี 7 ครั้ง ทั้งลอบยิงและลอบวางระเบิด ทำให้ต้องพลีชีพไปถึง 11 นาย สะท้อนให้เห็นว่า อส.กำลังตกเป็นเป้าความรุนแรงของฝ่ายผู้ก่อการอย่างแท้จริง
แต่สิ่งที่ อส.ชายแดนใต้ต้องเผชิญ ไม่ใช่แค่สถานการณ์ความรุนแรงที่มุ่งหมายเอาชีวิตพวกเขาเท่านั้น ทว่ายังมีปัญหาเรื่องสวัสดิการและการดูแลจากทางราชการที่บกพร่อง จนทำให้พวกเขาหลายคน "ทดท้อ" ในภารกิจรอวันตกเป็นเป้าของกลุ่มก่อความไม่สงบ
โวยงานหนักกินแต่มาม่า-เงินฐานหายต้องก่อไฟด้วยฟืน
ยะโก๊ะ สาและ (นามสมมุติ) อส.ประจำ อ.เมืองปัตตานี วัย 45 ปี บอกว่า ไม่รู้จะตอบอย่างไรว่าทำไม่ อส.ถึงตกเป็นเป้าสังหาร อาจจะเป็นเพราะ อส.ส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ จึงง่ายต่อการล็อคเป้าก็เป็นได้ ตอนนี้เขาเองก็ทำอะไรไม่ได้มาก นอกจากระวังตัว ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็จะไม่เดินทางไปไหนมาไหนคนเดียว
อย่างไรก็ดี ยะโก๊ะ บอกว่าการตกเป็นเป้าหมายของคนร้าย ยังไม่เครียดและเจ็บปวดเท่ากับไม่ได้รับการเหลียวแลจากผู้บังคับบัญชา
"ที่ผมเสียใจก็คือนายไม่สนใจพวกเรา เห็นว่า อส.เป็นแค่อาสาสมัคร ไม่มีความรู้ จะทำอะไรก็ได้ นี่เป็นสิ่งที่เจ็บปวดมากกว่า อส.ที่ประจำตามฐานต่างๆ มี 20 กว่านาย เข้าเวร 4 วัน ให้มาม่าหนึ่งกล่อง ไข่คนละ 3 ฟอง กาแฟคนละห่อ แต่วันหนึ่งต้องกิน 3 มื้อ แล้วจะให้เราเอาแรงที่ไหนไปสู้รบกับเขา"
"บางฐานปฏิบัติการลูกน้องต้องซื้อของเข้าฐานเองหมด บางฐานไม่มีเงินจะเปลี่ยนแก๊ส ต้องก่อไฟด้วยฟืน ทั้งๆ ที่มีเงินอุดหนุนฐานแต่ละเดือนอยู่แล้ว อยากถามว่าเงินเหล่านั้นหายไปไหน นายไม่สน เอาแต่ใช้งาน"
ทนทำเพราะต้องหาเงินส่งลูกเรียน
ยะโก๊ะ กล่าวอีกว่า หากไม่มีภาระต้องส่งลูกเรียนหนังสือ จะขอลาออก ไม่ต้องเอาชีวิตมาเสี่ยงทำงานเครียดๆ แบบนี้
"นายไม่ได้มีแค่คนเดียว แต่มีหลายคน เดี๋ยวคนนี้สั่งอย่างโน้น คนโน้นสั่งอย่างนี้ ไม่รู้ว่าจะทำแบบไหน พอทำไม่ถูกใจนายก็ด่า เงินค่าตอบแทนต่างๆ ก็ออกไม่พร้อมกัน เบี้ยเลี้ยง 3 เดือนออกครั้ง บางครั้ง 4 เดือนยังไม่ออก ไม่เคยนึกเลยว่าเรามีความจำเป็นต้องใช้เงินเหมือนกัน"
อส.ปัตตานีวัย 45 ปี ยังกล่าวถึงความพร้อมเรื่องยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในการปฏิบัติงานว่า อส.ในเขตเมืองไม่ค่อยมีปัญหา แต่ถ้าเป็น อส.อำเภอรอบนอกจะมีปัญหาอาวุธปืนไม่พร้อมเยอะมาก รถก็มีไม่ครบจำนวนคน หรือถึงมีรถแต่ก็พังบ้าง เก่าบ้าง เครื่องตรวจวัตถุระเบิดก็ไม่มี ทั้งหมดนี้คือปัญหาการทำงานและชีวิตจริงของ อส.ที่ชายแดนใต้
เครียดภารกิจ รปภ.รถไฟ-ร้องขอปืนรุ่นใหม่
อนันทวุธ ชูชีพ อส.วัย 28 ปี ซึ่งรับผิดชอบรักษาความปลอดภัยบนรถไฟ (ชุดปฏิบัติการ รปภ.รถไฟ) จากสถานีชุมทางหาดใหญ่ถึงสถานียะลา เล่าให้ฟังว่า ภารกิจที่ทำต้อง รปภ.รถไฟทั้งเที่ยวไปและเที่ยวกลับทุกวัน ทำงาน 10 วัน พัก 5 วัน เวลาทำงานก็เครียด เนื่องจากต้องอยู่กับคนจำนวนมาก ทำให้ยากต่อการระมัดระวัง
"ยิ่งช่วงนี้ อส.ตกเป็นเป้ามากขึ้น เราก็ยิ่งต้องระวังตัว เวลาได้พักกลับบ้านก็จะอยู่แต่ในบ้าน หากไม่มีธุระจำเป็นจริงๆ ก็จะไม่ออกไปไหน เพราะเราไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ก็ไม่รู้ะเอาอย่างไรกับชีวิตเหมือนกัน"
อนันทวุธ ยังกล่าวถึงปัญหาสวัสดิการว่า เป็นแค่อาสาสมัคร การดูแลด้านสวัสดิการย่อมไม่ดีเท่าข้าราชการ แต่ก็ทำใจ ในเมื่อเลือกเดินทางนี้แล้วคงถอยไม่ได้
"เงินค่าตอบแทนที่ได้เดือนละ 12,000 บาท ถ้าเทียบกับคนที่จบแค่ ม.6 มันก็เยอะพอสมควร แต่สิ่งที่อยากเรียกร้องคืออยากเปลี่ยนอาวุธปืนเอ็ม 16 เอ-1 และ เอ-2 เป็นเอ็ม 16 เอ-4 เพราะที่ใช้อยู่ลำกล้องยาวเกินไป ไม่สะดวกกับการใช้ในพื้นที่แคบๆ แบบบนรถไฟ เอ็ม 16 รุ่นใหม่ สั้น กะทัดรัด เหมาะกับงานมากกว่า"
"ที่สำคัญก็อยากให้นายดูแลเรื่องสวัสดิการชีวิต อส.ให้มากกว่านี้ ถึงแม้ว่าเราจะเป็นแค่อาสาสมัคร แต่ก็มีความเสี่ยงเหมือนกับข้าราชการตำรวจ ทหารในพื้นที่" อนันทวุธ กล่าว
ของบเฉียดพันล้านเพิ่ม อส.อีก 2.7 พันอัตรา-สร้างศูนย์ฝึกอบรม
แม้ว่า อส.ในพื้นที่จะยังคงเรียกร้องเรื่องสวัสดิการและการดูแลจากภาครัฐเพิ่มขึ้น โดยที่ยังไม่มีคำตอบชัดๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทว่าในขณะเดียวกัน ที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เมื่อวันพุธที่ 27 มิ.ย.2555 ได้เห็นชอบแนวทางการพัฒนาสร้างความเข้มแข็งของกองกำลังประจำถิ่น (อส.) และกำลังประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยอ้างเหตุผลเรื่องอัตรากำลังไม่เพียงพอ
ทั้งนี้ เพื่อรองรับแผนการถ่ายโอนภารกิจเชิงรับจากฝ่ายทหารในการดูแลเฝ้าระวังพื้นที่ให้มีความปลอดภัยแบบยั่งยืน กพต.จึงเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่กองกำลังประจำถิ่น (อส.) จำนวน 943 ล้านบาทเศษ แบ่งเป็น
1.เงินสนับสนุนเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำกองร้อย อส.เพื่อเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติหน้าที่ รปภ.จำนวน 318 นาย เริ่มปฏิบัติงานในปีงบประมาณ 2556 ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 46 ล้านบาทเศษ
2.ก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมกองกำลังประจำถิ่นและกำลังประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ ต.ท่าสาป อ.เมือง จ.ยะลา งบประมาณ 48 ล้านบาทเศษ
3.เพิ่มกรอบอัตรากำลังพลสมาชิก อส.จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา จำนวน 2,400 อัตรา เพื่อปฏิบัติหน้าที่เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่กองกำลังประจำถิ่นและกำลังประชาชนในการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่หมู่บ้าน ตำบล และเพิ่มอัตรากำลังพลสมาชิก อส.ให้แก่ จ.สงขลา เพื่อปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยในพื้นที่เขตเมืองเป็นการเฉพาะอีกจำนวน 300 อัตรา รวมทั้งสิ้น 2,700 อัตรา ซึ่งเป็นไปตามแผนแม่บทการพัฒนาศักยภาพกองอาสารักษาดินแดน ระยะ 5 ปี งบประมาณ 848 ล้านบาทเศษ
มติที่ประชุม กพต.ได้มอบหมายให้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักและเสนอขอแปรญัตติเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2556 ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 ต่อไป
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : รู้จัก "อส." นักรบประชาชน...อีกหนึ่ง "เป้านิ่ง" ที่ชายแดนใต้
http://www.isranews.org/south-news/scoop/38-2009-11-15-11-15-01/1617-qq-qq.html
ภาพโดย : อับดุลเลาะ หวังหนิ, อะหมัด รามันห์สิริวงศ์
หมายเหตุ : ภาพประกอบเป็นภาพทั่วไป ไม่ใช่บุคคลที่ให้สัมภาษณ์ในสกู๊ปชิ้นนี้