คุยกับนักออกแบบเมือง กับแนวคิดพัฒนาย่านนวัตกรรมรัตนโกสินทร์
การพัฒนา "ย่านนวัตกรรม" ไม่ได้เริ่มที่ตึก แต่เริ่มที่คนก่อน จากนั้นค่อยๆ สร้างสิ่งที่เป็นกายภาพขึ้นมา อีกทั้งเราเน้นเชิงพื้นที่ ย่านที่อยู่รอบๆ มหาวิทยาลัย เช่น ศิลปากร เราอยู่ตรงนี้มายาวนาน พื้นที่รอบมหาวิทยาลัยเรียกว่า คนศิลปากร ทำวิจัยพื้นที่เมืองเก่าแทบพรุนแล้ว นี่คือสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมของเรา
คงไม่ใช่แค่ความฝัน สำหรับการเปิดพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone) ภายในเมือง วันนี้สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หน่วยงานในกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กำลังมุ่งส่งเสริมเศรษฐกิจใหม่ ด้วยการเปิดพื้นที่ให้สตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอี ร่วมสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์แล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พาไปพูดคุยกับ ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ ปรียวนิตย์ อาจารย์ภาควิชาการออกแบบและวางผังชุมชนเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หนึ่งในผู้ร่วมขับเคลื่อนโครงการพัฒนาย่านนวัตกรรมรัตนโกสินทร์
ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ เล่าให้ฟังถึงโครงการพัฒนาย่านนวัตกรรมรัตนโกสินทร์ ถือเป็นหนึ่งในการพัฒนา "ย่านนวัตกรรม" (Innovation Districts) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ที่ได้ริเริ่มทำโครงการพัฒนาย่านนวัตกรรม 11 ย่าน แบ่งเป็นย่านนวัตกรรมในกรุงเทพฯ 7 ย่าน และ ย่านนวัตกรรมในแนวระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก 4 ด้าน
ย่านนวัตกรรมในกรุงเทพมหานคร (Bangkok Innovation Districts) จำนวน 7 ย่าน ประกอบด้วย
(1) ย่านนวัตกรรมโยธี (2) ย่านนวัตกรรมปทุมวัน (3) ย่านนวัตกรรมคลองสาน (4) ย่านนวัตกรรมรัตนโกสินทร์ (5) ย่านนวัตกรรมกล้วยน้ำไท (6) ย่านนวัตกรรมลาดกระบัง (7) ย่านนวัตกรรมปุณณวิถี
และอีกส่วนที่สำคัญคือย่านนวัตกรรมในแนวระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor :EEC) จำนวน 4 ย่าน ประกอบด้วย
(1) ย่านนวัตกรรมบางแสน (2) ย่านนวัตกรรมศรีราชา (3) ย่านนวัตกรรมพัทยา (4) ย่านนวัตกรรมอู่ตะเภา-บ้านฉาง
ซึ่งก่อนหน้านี้ ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ถึงย่านหนึ่งที่สำคัญของโครงการนี้เข้าไปดำเนินการคือ ย่านนวัตกรรมโยธี (Yothi Innovation District) ที่จะพัฒนาการเป็น Medical hub เนื่องจากมีโรงพยาบาลอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ การเกิด Rama IX corridor ที่จะเชื่อมย่านนวัตกรรมทั้ง 2 แห่ง คือ ย่านนวัตกรรมปทุมวัน และย่านนวัตกรรมกล้วยน้ำไท เพื่อให้เป็นพื้นที่ที่สนับสนุนให้มีการลงทุนจากนักลงทุน และผู้ประกอบการด้านธุรกิจ โดยจะเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone) ภายในเมือง
ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ ให้ข้อมูลถึงการพัฒนา "ย่านนวัตกรรม" เป็นโครงการที่รับลูกมาจากนโยบายรัฐบาล Thailand 4.0 ดูการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคและในระดับเมือง รวมไปถึงเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สำหรับเกณฑ์การเลือกพื้นที่นั้น ที่ไหนมีมหาวิทยาลัยชั้นนำตั้งอยู่ ควรมีพื้นที่รอบๆ เป็นพื้นที่สร้างการรวมกลุ่มก้อนของผู้เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อสร้างให้เกิดเศรษฐกิจใหม่ขึ้นมา นำไปสู่การสร้างนวัตกรรม
“ย่านนวัตกรรมปทุมวัน มีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลาง ย่านนวัตกรรมคลองสาน มีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นศูนย์กลาง ย่านนวัตกรรมกล้วยน้ำไท มีมหาวิทยาลัยกรุงเทพเป็นศูนย์กลาง ย่านนวัตกรรมลาดกระบัง มีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นศูนย์กลาง และย่านนวัตกรรมรัตนโกสินทร์ มีมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นศูนย์กลาง เป็นต้น”
สำหรับโครงการพัฒนาย่านนวัตกรรมรัตนโกสินทร์ มีมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นศูนย์กลางนั้น ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ ชี้ถึงจุดแข็ง คือ กลุ่มงานศิลปะ งานออกแบบ งานดนตรี และดิจิตอลอาร์ท ซึ่งย่านนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็จะมีจุดแข็ง มีลักษณะเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่แตกต่างกันออกไป
“สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ดูกรณีศึกษาในหลายๆ ประเทศที่มีย่านนวัตกรรมมาก่อน อย่างเกาหลี สิงคโปร์ จีน หรือดั่งเดิมเลย ของสหรัฐฯ มีซิลิคอนแวลลีย์ (Silicon Valley) ที่รวมของบริษัทไฮเทค ที่ทำงานของคนที่ทำงานด้านไอทีมาอยู่รวมกัน จนสร้างผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ขึ้นมา โดยโมเดลเหล่านี้ ไทยก็สามารถถอดบทเรียน นำมาประยุกต์ ทดลองในเมืองไทยว่า สามารถผลิตนวัตกรรมได้แบบนั้นหรือไม่ ซึ่งก็ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายที่มีสถาบันการศึกษาอยู่ตรงนั้น เพื่อสนับสนุนผลิตความรู้ ผลิตนวัตกรรมในย่านนั้นได้”
การเลือกพื้นที่ นอกจากดูสถาบันการศึกษาที่อยู่ตรงกลางแล้ว นักวิชาการม.ศิลปากร ชี้ว่า จะมีการลงไปดูชุมชน กลุ่มนักธุรกิจที่มีศักยภาพในพื้นที่นั้นๆ ด้วย เพราะเชื่อว่า เมื่อรวมกันเกิด คลัสเตอร์ (Cluster) รวมกลุ่มกันแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาได้
และเมื่อถามถึงระยะเวลาของโครงการฯ นี้ ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ ระบุว่า สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ มีการเซ็น MOU กับสถาบันการศึกษาพื้นที่เป้าหมาย 5 ปี แต่สำหรับ “โครงการพัฒนาย่านนวัตกรรมรัตนโกสินทร์” มีระยะเวลาการทำงาน 6 เดือน สิ้นสุดปลายปีนี้ เพื่อศึกษาและเก็บข้อมูลชุมชน ก่อนนำเสนอแผนและผังที่ออกมาเป็นรูปเป็นร่างทางกายภาพว่า โครงการพัฒนาย่านนวัตกรรมรัตนโกสินทร์ หากจะพัฒนาในอนาคตย่านนี้จะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
“โครงการนี้ทับซ้อนกับพื้นที่กทม.ในบางเรื่อง แต่บางเรื่องก็ไม่ทับซ้อน คือกทม.ส่วนใหญ่ดูพื้นที่สาธารณะ และผังเมือง รวมถึงมีหลายหน่วยงานมีแผนทำผังแม่บทเรื่องเมืองเก่าด้วยเหมือนกัน แต่ย่านนวัตกรรม มองประเด็นดึงเอาคนที่มีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์เข้ามาอยู่ในพื้นที่ เราพยายามดึงดูดคนกลุ่มๆ หนึ่งเข้ามา เช่น อาจเป็นศิษย์เก่าของม.ศิลปากร หรือ คนทำงานสร้างสรรค์ร่วมกัน งานศิลปะและการออกแบบ ดิจิตอลอาร์ท ดิจิตอลดีไซน์ ทำเรื่องเกมส์ และแอนนิเมชั่น”
ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ ยืนยันว่า พื้นที่เมืองเก่า โดยเฉพาะย่านนวัตกรรมรัตนโกสินทร์ มีสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว ทั้งดนตรีไทย หัตถอุตสาหกรรม แต่ละย่านก็มีความเชี่ยวชาญ ย่านปั้นพระพุทธรูปก็มี ย่านทำบาตร ทำดอกไม้ ดินสอพอง มีหมด นี่คือรากฐานของพื้นที่ที่สามารถสร้างนวัตกรรมได้
“การดึงกลุ่มคนที่มีความคิดสร้างสรรค์เข้ามาอยู่ในย่านเดียวกัน หวังให้เกิดการรวมกลุ่มกัน การรวมกลุ่มกันจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนไอเดีย พบปะพูดคุย ตัวเริ่มต้นความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม”
สุดท้ายเมื่อถามถึงความแตกต่างการพัฒนา "ย่านนวัตกรรม" แตกต่างจากโครงการสร้างนวัตกรรมอื่นๆ อย่างไร
นักวิชาการ ม.ศิลปากร ชี้ชัดว่า โครงการนี้ไม่ได้เริ่มที่ตึก แต่เริ่มที่คนก่อน จากนั้นค่อยๆ สร้างสิ่งที่เป็นกายภาพขึ้นมา อีกทั้งเราเน้นเชิงพื้นที่ ย่านที่อยู่รอบๆ มหาวิทยาลัย เช่น ศิลปากร เราอยู่ตรงนี้มายาวนาน พื้นที่รอบมหาวิทยาลัยเรียกว่า คนศิลปากร ทำวิจัยพื้นที่เมืองเก่าแทบพรุนแล้ว นี่คือสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมของเรา เก็บข้อมูล บวกกับความเชี่ยวชาญเพื่อสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา
“ในเมืองเก่า ตอนนี้มีชุมชนอยู่ 19 แห่ง และมีชุมชนเล็กๆ น้อยๆ อีกเยอะแยะมากมาย ไม่ได้มีอาชีพเฉพาะอย่างเห็นได้ชัด แต่คำว่า ย่าน เป็นที่ซึ่งมีคนอยู่สืบทอดมายาวนาน แต่มีอาชีพเฉพาะ เช่น ย่านขายบาตรพระ ย่านมหากาฬ ก็เคยมีอาชีพทำกรงนก เป็นต้น” ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ อธิบาย และเห็นว่า จริงๆ คำว่า "ชุมชน" กับคำว่า "ย่าน" บางทีก็มีความหมายที่ทับซ้อนกันก็ได้ ไม่ได้เป็นนิยามที่แยกขาดจากกันเสมอไป
ส่วนกิจกรรมของโครงการพัฒนาย่านนวัตกรรมรัตนโกสินทร์ ที่อยากให้เกิดขึ้น เขายกตัวอย่างความพยายามไปต่อยอดทักษะที่มีอยู่ในชุมชน หรือในย่านนั้นๆ ให้มีมูลค่าเพิ่ม
“เราเอาทักษะของเขามาต่อยอดกับคนของศิลปากร เป็นการทำงานร่วมกัน เช่น ดีไซน์เนอร์ หรือมุมมองทางการตลาด ไปร่วมพูดคุยให้สินค้าตอบสนองกับผู้บริโภคสมัยใหม่ รวมถึงการส่งเสริมคนทำงานศิลปะทั้งหลายเข้ามาอยู่ในพื้นที่นี้"
วันนี้แม้จะยังไม่มีคำตอบ ของคำถามที่ว่า จะดึงผู้คนเหล่านี้เข้ามาได้อย่างไร จะให้เข้ามาอยู่อาศัย เข้ามาทำงาน หรือเข้ามาใช้ชีวิต แต่เขาก็มุ่งหวัง "อยากให้เกิดสิ่งเหล่านี้ในพื้นที่นี้" จนสามารถสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นได้...