7.1 หมื่นล.!เบิกจ่ายรักษา ขรก. ค่าห้อง อาหาร 2 พันล.- ชงจำกัดวงเงิน จำนวนครั้ง/ปี
เปิดตัวเลขเบิกจ่ายรักษาตามสิทธิสวัสดิการ ขรก.ล่าสุดปี 2559 กว่า 7.1 หมื่นล. ยอดพุ่งต่อเนื่อง จำแนก16 หมวด ค่าห้อง ค่าอาหารกว่า 2 พันล. พบ 3 ปัจจัยรั่ว ก่อน ป.ป.ช. ชงข้อเสนอ จำกัดวงเงิน-จำนวนครั้งเข้ารักษาต่อปี :ชำแหละพฤติกรรมทุจริต (จบ)
พฤติกรรมทุจริตเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการข้าราชการและครอบครัว ตามที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลมารายงานก่อนหน้านี้ มีหลากหลายรูปแบบ อาทิ การสวมสิทธิของผู้ใช้บริการ การช็อปปิ้งยา การยิงยาบางชนิดของผู้มีอำนาจสั่งจ่ายยา
ขณะเดียวกันมีงานวิจัยระบุว่า การจ่ายยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติซึ่งเป็นยาที่มีราคาแพง เป็นสาเหตุทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นการเพิ่มในอัตราที่สูง
ในส่วนของปัญหาการทุจริตแม้ไม่ใช่สาเหตุโดยตรงที่ทำให้ค่าใช้จ่ายผู้ป่วยนอกของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็เป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้ผู้สั่งจ่ายยาสั่งจ่ายยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งมีราคาแพงกว่ายาในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยเฉพาะการส่งเสริมการขายยาของบริษัทยา ส่งผลให้ผู้สั่งจ่ายยาสั่งจ่ายยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งเป็นการสมประโยชน์ทั้งฝ่ายบริษัทยาและผู้สั่งจ่ายยา และถือเป็นการแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบ ทำให้รัฐสูญเสียงบประมาณในส่วนค่าใช้จ่ายผู้ป่วยนอกของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการเกินกว่าที่ควรจะเป็น
การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลตั้งแต่ปี 2545-2559 ในบรรทัดถัดไป เป็นเครื่องยืนยันข้อเท็จจริงข้างต้น
@ปี 2559 ยอดพุ่ง 7.1 หมื่นล.-ค่าห้องค่าอาหารกว่า 2 พันล.
ปี 2545 ค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการประเภทผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกรวม 20,476.32 ล้านบาท หลังจากนั้นเพิ่มขึ้นทุกปี
ปี 2548 รวม 29,380 บาท ,ปี 2549 รวม 37,004.45 บาท ,ปี 2550 รวม 46,481.05 บาท ,ปี 2551 รวม 54,904.48 บาท ,ปี 2552 รวม 61,304.46 บาท ,ปี 2556 ลดลงเหลือ 59,557.56 บาท ,ปี 2557 รวม 62,445.09 บาท ,ปี 2558 รวม 66,476.53 บาท และล่าสุดปี 2559 รวม 71,016.40 บาท (ประเภทผู้ป่วยนอก 50,545.95 บาท และผู้ป่วยใน 20,470.45 บาท)
เมื่อจำแนกค่ารักษาพยาบาลพบว่า มีจำนวน 16 หมวด อาทิ ค่าห้องและค่าอาหาร ค่าออวัยวะเทียม/อุปกรณ์ในการรักษา ค่าเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา ค่าตรวจวินิจฉัย ค่าบริการอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เป็นต้น เฉพาะปีงบฯ 2556 มีค่าห้องและค่าอาหาร รวม 1,988.95 บาท ปีงบฯ 2557 จำนวน 2,776.82 บาท ,ปีงบฯ 2558 รวม 2,478.75 บาท และปีงบฯ 2559 รวม 1,921.43 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 31 พ.ค.2559) (ดูตารางประกอบ)
ด้วยตัวเลขที่สูงขึ้นมากในแต่ลปีดังกล่าว ในรายงาน มาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะ กรรมการ ป.ป.ช.) เสนอสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2560 มีข้อเสนอที่น่าสนใจ
@ อนุ กก.ป.ป.ช.ชี้‘ค่ายา’ปัจจัยสำคัญยอดสูง
ข้อพิจารณา
คณะอนุกรรมการเพื่อการศึกษามาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาพิจารณาแล้วเห็นว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 พบว่าค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นการเพิ่มในอัตราที่สูง จาก 37,004 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2549 เป็น 62,196 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2553 กล่าวคือเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตัวในระยะเวลาเพียงสี่ปี และยังคงสูงอย่างต่อเนื่องจนปี พ.ศ. 2559 คือ 71,016 ล้านบาท ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ราคายาที่สูงขึ้นตามเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ ปริมาณการใช้ยาที่สูงขึ้นตามจำนวนผู้ป่ายที่มากขึ้น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ความสะดวกในการใช้สิทธิรักษาพยาบาล และการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสม
ค่าใช้จ่ายด้านยาเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการสูงขึ้น โดยมีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
@ 3 ปัจจัยเกื้อหนุน
1. ปัจจัยด้านพฤติกรรมของบุคลากรที่มีความเกี่ยวข้อง
บุคลากรที่มีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการเบิกจ่ายยามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ทำให้รัฐสูญเสียค่าใช้จ่ายเกินความจำเป็น หรือในบางรายมีพฤติกรรมทุจริต อาศัยช่องว่างในโอกาส ตำแหน่งหน้าที่หรือสิทธิที่ตนมี เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่มิชอบได้โดยชอบ ทั้งนี้อาจแบ่งกลุ่มของบุคลากรที่มีความเกี่ยวข้องได้ 3 กลุ่ม ดังนี้
1.1 กลุ่มบริษัทยา มีพฤติกรรมการส่งเสริมการขายยาที่ไม่เหมาะสม โดยการเสนอประโยชน์ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสั่งจ่ายยา เพื่อแลกกับยอดจำหน่าย ตัวอย่าง เช่น การเสนอให้แพทย์ผู้สั่งจ่ายยาเข้าร่วมการสัมมนาในต่างประเทศ การเสนอค่าคอมมิชชั่นในลักษณะการบริจาคให้แก่กองทุนสวัสดิการสถานพยาบาล หรือการให้ตัวอย่างยาแก่แพทย์ผู้สั่งจ่ายยาเป็นการเฉพาะบุคคล พฤติกรรมดังกล่าวเป็นการจูงใจให้แพทย์สั่งจ่ายยาอย่างไม่เหมาะสม
1.2 กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสั่งจ่ายยา ทำการสั่งจ่ายยาอย่างไม่เหมาะสม เช่น เลือกจ่ายยาที่มีราคาแพงโดยไม่จำเป็น ทั้งที่สามารถจ่ายยาที่มีราคาถูกที่มีคุณภาพเท่ากันได้ หรือจ่ายยาที่ไม่จำเป็นหรือในปริมาณมากเกินความจำเป็น หรือที่เรียกว่า “พฤติกรรมการยิงยา” ในบางกรณีพบว่ามีการสั่งจ่ายยาโดยทุจริต เช่น จ่ายยาโดยไม่มีการตรวจรักษาเพื่อนำยาที่เบิกจ่ายไปใช้ส่วนตัว หรือโรงพยาบาลเรียกรับผลประโยชน์จากบริษัทเพื่อแลกกับการสั่งจ่ายยา เป็นต้น
1.3 กลุ่มผู้ใช้สิทธิ มีพฤติกรรมการใช้สิทธิอย่างไม่เหมาะสม เช่น การตะเวนใช้สิทธิตามโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อรักษาอาการเดียวกัน ในเวลาใกล้เคียงกัน หรือที่เรียกว่า “พฤติกรรมชอปปิงยา” ซึ่งทำให้เกิดการเบิกจ่ายยาในปริมาณมากเกินกว่าความจำเป็นในการรักษา บางกรณีพบว่ามีพฤติกรรมทุจริต เช่น บุคคลผู้ไม่มีสิทธิเข้ารับการรักษาโดยใช้สิทธิของบุคคลในครอบครัว หรือที่เรียกว่าการสวมสิทธิ หรือการตระเวนใช้สิทธิเพื่อนำยาที่ได้รับมาไปจำหน่ายต่อ เป็นต้น
พฤติกรรมไม่เหมาะสม และพฤติกรรมทุจริตของบุคลากรทั้ง 3 กลุ่มข้างต้น เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการเบิกจ่ายยาอย่างไม่เหมาะสม หรือการเบิกจ่ายยาอย่างไม่สมเหตุสมผล ทั้งในแง่ตัวยา ราคาและปริมาณ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการสูงขึ้นอย่าต่อเนื่อง และเป็นการเพิ่มในอัตราที่สูง
อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการที่สูงขึ้นอาจมีสาเหตุด้านอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและพฤติกรรมการทุจริต เช่น ราคายาที่สูงขึ้นตามเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ ปริมาณการใช้ยาที่สูงขึ้นตามจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้นและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมทั้งความสะดวกในการใช้สิทธิรักษาพยาบาล เป็นต้น ซึ่งสาเหตุดังกล่าวอยู่นอกเหนือการศึกษาพิจารณาเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะตามมาตรการฉบับนี้
2. ปัจจัยด้านกฎหมาย กฎ ระเบียบ หลักเกณฑ์ และแนวทางปฏิบัติ
จากที่ได้กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่าพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและพฤติกรรมทุจริตของบุคลากรที่เกี่ยวข้องนั้นนำไปสู่การสั่งจ่ายยาและเบิกจ่ายยาอย่างไม่เหมาะสม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อควบคุมพฤติกรรมดังกล่าวในรูปของกฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์อื่นๆ ดังนี้
2.1.1 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยเกณฑ์จริยธรรมการจัดซื้อจัดหาและส่งเสริมการขายยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาของกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2557
2.1.2 ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง เกณฑ์จริยาธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาของประเทศไทย พ.ศ. 2559
2.1.3 แนวทางปฏิบัติเรื่องเกณฑ์จริยธรรม พ.ศ. 2559 ของสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMa)
ถึงแม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะจัดทำเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายไว้ถึง 3 หน่วยงาน แต่กระบวนการเฝ้าระวัง ร้องเรียน การสอบสวน รวมถึงการลงโทษผู้กระทำผิดเกณฑ์จริยธรรมยังไม่ปรากฏผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม และไม่สามารถแก้ไขการส่งเสริมการขายยา หรือการสั่งจ่ายยาอย่างไม่เหมาะสม หรือเกินความจำเป็นได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทบทวนถึงการนำไปสู่การบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาพส่วนรวมถึงภาคประชาชนให้มีความรู้ความเข้าใจถึงเกณฑ์จริยธรรมดังกล่าว เพื่อสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังและสร้างความตระหนักรู้แก่บุคลากรทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อันจะนำไปสู่การป้องกันพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและพฤติกรรมทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพตลอดจนการปลูกฝังและสร้างทัศนคติทางจริยธรรม การปรับเปลี่ยนแนวคิด Mind set จะนำไปสู่การป้องกันพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและพฤติกรรมทุจริตที่ยั่งยืน
2.2 มาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมตามมาตรา 123/5 แห่งประราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม)
มาตรา 123/5 เป็นกฎหมายเชิงป้องปรามที่บังคับให้ภาคเอกชนจัดให้มีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมเพื่อป้องกันมิให้บุคลากรของนิติบุคคลกระทำการให้ลักษณะให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ในทางปฏิบัติพบว่าภาคเอกชนยังขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดทำมาตรการควบคุมภายในตามบทบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น สำนักงาน ป.ป.ช. นอกจากการจัดทำคู่มือเพื่อให้ความรู้แล้วยังต้องทำการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ภาคเอกชนเพื่อให้ภาคเอกชนจัดให้มีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสม อันเป็นการป้องปรามพฤติกรรมการส่งเสริมการขายยาอย่างไม่เหมาะสมได้
2.3 หลักเกณฑ์ของโครงการโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล
เป็นหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติจัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมให้บุคลากรทางการแพทย์เลือกใช้ยาที่มีความจำเป็นและสมเหตุสมผล จากการดำเนินการที่ผ่านมาพบว่าสามารถควบคุมให้มีการเลือกใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลได้ อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่เปิดให้สถานพยาบาลเข้าร่วมอย่างสมัครใจ หากมีการศึกษาถึงความเป็นไปได้ที่จะนำไปบังคับใช้กับสถานพยาบาลของทางราชการตามที่กระทรวงการคลังกำหนด(4) ก็จะทำให้การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น อันจะเป็นการลดปัญหาพฤติกรรมการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสมได้
2.4 หลักเกณฑ์ในการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา
ในปัจจุบันกรมบัญชีกลางได้กำหนดให้หลักเกณฑ์การประเมินค่าประสิทธิภาพต่อราคา (Price Performance) มาใช้กับยาและเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา ซึ่งถือว่าเป็นพัสดุที่มีความซับซ้อนหรือมีเทคนิคเฉพาะ โดยให้คำนึงถือประสิทธิภาพของพัสดุประกอบราคาซึ่งเป็นวิธีที่มีความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม การกำหนดคุณลักษณะเฉพาของเวชภัณฑ์ที่จะทำการจัดซื้อ หน่วยงานที่ดำเนินการจัดซื้อต้องคำนึงถึงประสิทธิผล ความปลอดภัย และคุณภาพร่วมกับความคุ้มค่า โดยมิให้กำหนดลักษณะเฉพาะของยาให้ใกล้เคียงกับยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง
3. ปัจจัยด้านการตรวจสอบการสั่งจ่ายยาและการใช้สิทธิ
การตรวจสอบการจ่ายยาและหารใช้สิทธิย้องหลังถือว่าเป็นการเฝ้าระวังอย่างหนึ่งที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการให้มีประสิทธิภาพ ในปัจจุบันกรมบัญชีกลางได้ทำการตรวจสอบการใช้สิทธิของข้าราชการ แต่การตรวจสอบการสั่งจ่ายยาที่มีเหมาะสม สอดคล้องกับการใช้สิทธิ และสอดคล้องกับข้อมูลสุขภาพของผู้ใช้สิทธินั้นยังไม่มีหน่วยงานใดดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ที่ผ่านมาสำนักวิจัยระบบสาธารณสุขเคยทำวิจัยโครงการ National Health Information และโครงการ National Drug Information แต่ไม่ได้ดำเนินการต่อ ดังนั้น หากมีหน่วยงานที่เป็นศูนย์ประมวลข้อมูลที่มีหน้าที่รวบรวมและพัฒนาระบบข้อมูล (Information system) ที่สามารถตรวจสอบการสั่งจ่ายยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเชื่อมโยงกับการตรวจสอบการใช้สิทธิฌโดยกรมบัญชีกลาง ก็จะเป็นการเฝ้าระวังไม่ให้มีการสั่งจ่ายยาและการใช้สิทธิอย่างไม่เหมาะสม ใช้สิทธิเกินจำเป็น หรือใช้สิทธิโดยทุจริตอีกทางหนึ่ง
@แนะเฉพาะหน้าคุมเบิกจ่าย-จำกัดวงเงิน จำนวนครั้ง
ข้อเสนอแนะ
ปัจจุบันยังพบปัญหาการส่งเสริมการขายยา การสั่งจ่ายยา และการใช้สิทธิรักษาพยาบาลของข้าราชการอย่างไม่เหมาะสม หรือโดยทุจริต อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้น เพื่อให้การป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเห็นสมควรเสนอให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่ หรือ การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามมาตร 19(11) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) โดยเสนอมีมาตรการดังนี้
1.ข้อเสนอแนะเชิงระบบ
1.1 ผลักดันให้มีการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล (Rational Drug Use หรือ RDU) ในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
1.2 จัดให้มีหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์ประมวลข้อมูลสารสนเทศด้านสุขภาพและยาซึ่งเชื่อมโยงข้อมูลการใช้ยากับสถานพยาบาลทุกสังกัดเพื่อตรวจสอบการใช้ยาอย่างเหมาะสม และเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมบัญชีกลาง เพื่อตรวจสอบการใช้สิทธิรักษาพยาบาลของข้าราชการได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถตรวจสอบได้อย่างทันท่วงที (real time) ทั้งนี้หน่วยงานดังกล่าวอาจอยู่ในรูปแบบหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อฝ่ายบริหาร หรือเป็นองค์กรมหาชนตามข้อเสนอสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศก็ได้
ในระหว่างที่ยังไม่มีหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์ประมวลข้อมูลสารสนเทศด้านสุขภาพและยา ให้กรมบัญชีกลางจัดให้มีมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายในการเบิกจ่ายตรงของผู้ป่วยนอก โดยอาจจะมีการจำกัดวงเงิน หรืออาจมีการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเบิกจ่ายตรงของผู้ป่วยนอก เช่น จำนวนครั้งในการเข้ารับการรักษาต่อปี ค่ารักษาต่อปี ภูมิลำเนาของผู้ป่วย เป็นต้น โดยหากการรักษาไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้กรมบัญชีกลางทำการตรวจสอบโดยละเอียด และกรมบัญชีกลางควรจัดให้มีการเผยแพร่ข้อมูลการเบิกจ่ายตรงของผู้ป่วยนอกแต่ละโรงพยาบาลว่า แต่ละโรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายในกรณีดังกล่าวเป็นจำนวนเท่าใด ให้สาธารณชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับรู้รับทราบโดยเปิดเผยด้วย
1.3 กำหนดหลักเกณฑ์การจัดซื้อยา
- ห้ามไม่ให้หน่วยงานที่ทำการจัดซื้อทำการหารายได้ในลักษณะผลประโยชน์ต่างตอบแทนทุกประเภทจากบริษัทยาเข้ากองทุนสวัสดิการสถานพยาบาล
-ให้หน่วยงานที่ทำการจัดซื้อต้องคำนึงถึงปัจจัยทางด้านต้นทุน (cost) มาตรฐาน (standard) ระยะเวลาในการส่งมอบ (time) การให้บริการ (service) และราคา (price) ประกอบการตัดสินใจ
-ให้หน่วยงานที่ทำการจัดซื้อกำหนดคุณสมบัติของบริษัทคู่ค้าใน TOR ให้บริษัทคู่ค้าต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์มาตรา 103/7 มาตรา 123/5 และมีระบบอบรมเกณฑ์จริยธรรมฯแก่พนักงาน โดยให้เป็นคะแนนบวกใน price performance
-ให้หน่วยงานที่ทำการจัดซื้อใช้กลไกต่อรองราคาตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติกำหนด
1.4 ให้เพิ่มความเข้มงวดของระบบตรวจสอบภายใน ทั้งในระดับสถานพยาบาลและระดับหน่วยงานต้นสังกัดของสถานพยาบาล
2.ข้อเสนอแนะเชิงภารกิจ
2.1 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและเข้มงวด
2.2 การผลักดันให้มีการปฏิบัติตามเกณฑ์จริยธรรมที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการขายยา
2.3 การปลุกจิตสำนึกบุคลากรที่มีความเกี่ยวข้อง และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
2.4 การสร้างมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมของภาคเอกชน เพื่อป้องกันการส่งเสริมการขายยาที่ไม่เหมาะสม
ทั้งหมดนี้คือสาะสำคัญ ของ มาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ที่ คณะ กรรมการ ป.ป.ช. เสนอให้แก่รัฐบาล ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างบริษัทผู้ผลิตยากับสถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ ซุกอยู่ใต้พรมมานาน
ต้องติดตามกันต่อไปว่าจะมีกระบวนการบริหารจัดการให้โปร่งใสได้อย่างไร?
อ่านประกอบ:
รพ. 28 แห่ง เบิกค่า‘ยาลดไขมัน’ 1.2 พันล.-บ.ผู้ผลิตเข้าถึงหมอ -‘ทุจริต’แรงจูงใจ
ผู้ว่าฯให้แจง -บิ๊ก สธ.ลงพื้นที่สอบ! ปม บ.ยาโอนเงินเข้ากองทุนฯ รพ.ระยอง
บินประชุม ตปท.บังหน้า ขอเงิน บ.ยา! ปมทุจริต รพ. จ.นนท์-ปลอมเบิก‘ซูโดอีเฟรดรีน’
ชอปปิ้ง-ยิงยา-สวมสิทธิ์ พฤติกรรมทุจริตเบิกจ่ายค่ายา-ดีเอสไอสาวลึก รพ. 2 แห่งอีสาน
ชำแหละทุจริตเบิกจ่ายยา: แพทย์ รพ. สมคบเอกชน ปั้นยอดเอาค่าคอมมิชชัน-ทัวร์นอก
ตั้งกองทุนฯ ตามระเบียบ! รพ.ระยองแจง 3 ปมร้องเรียน มีรายรับจากผู้สมัครใจ
ห้ามรับ‘ค่าคอมมิชชัน’ บ.ยา ! มาตรการป้องทุจริต ป.ป.ช.เทียบกรณี รพ.ระยอง
เรื่องถึงปลัด สธ.แล้ว!ปม บ.ยาโอนเงินเข้าบัญชีกองทุนฯ รพ.ระยอง-ให้ผู้ตรวจกระทรวงสอบ
หมุนเวียน 24.4 ล.-ใครเบิก 4 ล.? ปมปริศนา บ.ยาโอนเงินเข้ากองทุนฯ รพ.ระยอง
ผู้ว่าฯสตง.สั่งลุยสอบ ทบ.ปลดประจำการเรือเหาะ350ล.-ทราบเรื่องปมเงิน รพ.ระยองแล้ว
เปิดระเบียบฯ ก.สาธารณสุข กองทุนฯ รพ.ระยอง รับเงินปริศนา บ.ยา ทำถูกต้องหรือไม่?
เปิดสเตทเมนท์บัญชีกองทุนฯ รพ.ระยอง เข้า-ออกยิบ! วันเดียวถอน 4 ครั้งรวด 4 ล.
เงินปริศนา! บ.ยาโอนเข้าบัญชี กองทุนฯ รพ.ระยอง หลายล.-ผอ.ขอตรวจสอบก่อน
หมายเหตุ : ภาพประกอบการ์ตูนคนไข้ จาก educima.com