- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ชำแหละทุจริตเบิกจ่ายยา: แพทย์ รพ. สมคบเอกชน ปั้นยอดเอาค่าคอมมิชชัน-ทัวร์นอก
ชำแหละทุจริตเบิกจ่ายยา: แพทย์ รพ. สมคบเอกชน ปั้นยอดเอาค่าคอมมิชชัน-ทัวร์นอก
ชำแหละพฤติกรรมทุจริตเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการ ขรก. ฉบับ ป.ป.ช. ซัดสมคบ 3 กลุ่มแพทย์ บุคลากร ผู้ใช้สิทธิและเครือญาติ เอกชน มูลเหตุ หมอเขียนใบสั่งให้ตัวเองเดือน 20,000-30,000 บาท สูงเกินจำเป็น ทำยอดให้เอกชน รับค่าคอมมิชชัน พาเที่ยวต่างประเทศ พบปี 53 ตัวเลขพุ่ง 61,000 ล้าน สืบเนื่องเงินปริศนา รพ.ระยอง (ตอน 1)
กรณีกลุ่มบุคลากรของโรงพยาบาลระยองได้ส่งหนังสือถึง พล.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ประธาน กรรมการ ป.ป.ช.) และนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (ผู้ว่าฯ สตง.) ให้ตรวจสอบบัญชีเงินฝากชื่อ ‘กองทุนสวัสดิการโรงพยาบาลระยอง’ในช่วงปลายปี 2559-เดือนสิงหาคม 2560 เนื่องจากมีเงินจากผู้ประกอบธุรกิจขายยาและเครื่องมือแพทย์โอนเข้าบัญชีฯหลายครั้งรวมเป็นเงินหลายล้านบาทโดยถูกโอนเข้ามาอย่างสม่ำเสมอในช่วงกลางเดือนและทุกปลายเดือนมีเงินหมุนเวียนรวม 24,495,181.53 บาทในจำนวนนี้มีรายการเบิกถอน เมื่อ 16 ส.ค.2560 รวม 4 ครั้งๆละ 1 ล้านบาท รวม 4 ล้านบาท
จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าเงินที่โอนเข้าเป็นค่าอะไร?
กรณีดังกล่าวอาจถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการฝ่าฝืน มาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการของ ป.ป.ช. กรณี “ห้ามไม่ให้หน่วยงานที่ทำการจัดซื้อทำการหารายได้ในลักษณะผลประโยชน์ต่างตอบแทนทุกประเภทจากบริษัทยาเข้ากองทุนสวัสดิการพยาบาล” หรือไม่ ?
ทั้งนี้ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เสนอมาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2560 (อ่านประกอบ: ห้ามรับ‘ค่าคอมมิชชัน’ บ.ยา ! มาตรการป้องทุจริต ป.ป.ช.เทียบกรณี รพ.ระยอง)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงพฤติกรรมการทุจริตเบิกจ่ายยาตามที่ปรากฎในเอกสารมาตรการฯเสนอ เลขาธิการ ครม.มาเสนอ
บทนำ
‘ยา’ เป็นสินค้าคุณธรรม (MeritGoods) ที่ต้องอาศัยข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้องทั้งข้อดีและข้อเสียในการตัดสินใจเลือกมากกว่าการลด แลก แจกแถม หรือสร้างแรงจูงใจด้วยวิธีการต่าง ๆ แต่ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่าอิทธิพบการส่งเสริมการขายยาของบริษัทยา โดยเฉพาะที่กระทำโดยตรงต่อแพทย์และบุคลากรทางการแพทย เป็นสาเหตุหรือปัจจัยที่สำคัญมากประการหนึ่งที่ทำให้เกิดการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผลในโรงพยาบาล
ประกอบกับในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาได้ปรากฎข่าวตามสื่อมวลชนถึงกรณีการทุจริตเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่ายาของข้าราชการ ซึ่งได้มีการสอบสวนโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งพบว่ามีการกระทำในลักษณะเป็นกระบวนการโยงใยเป็นเครือข่ายการทุจริต โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ ผู้ใช้สิทธิและเครือญาติ บุคลากรในโรงพยาบาล และกลุ่มบริษัทจำหน่ายยาซึ่งเป็นสามเหตุหนึ่ที่ทำให้ภาครัฐต้องสูญเสียงบประมาณโดยไม่จำเป็น
ประเด็นการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และเป็นเรื่องเฉพาะทางที่ต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญจากผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น คณะกรรมการป.ป.ช.ในคราวประชุมครั้งที่ 784-58 /2559 เมื่อวันที่ 4 ส.ค.2559 จึงได้มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษามาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยา ซึ่งมีนายภักดี โพธิศิริ เป็นประธานอนุกรรมการฯ
ข้อเท็จจริง
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสาเหตุและพฤติกรรมการทุจริต
ปี 2553สำนักงาน ป.ป.ท. ได้ติดตามเรื่องการทุจริตเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่ายาของข้าราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า งบประมาณที่ใช้สำหรับค่ารักษาพยาบาลข้าราชการและเครือญาติ เพิ่มสูงขึ้นกว่า 3 เท่าตัวจาก 26,000 ล้านบาท เป็น 61,000 ล้านบาท ในปีงบปประมาณ 2552 (เพิ่มเกือบ 40,000 ล้านบาท) และประเมินว่าอีกไม่เกิน 5 ปีข้างหน้าค่าใช้จ่ายหมวดนี้อาจสูงถึง 100,000 ล้านบาท โดยมีการจับกุมข้าราชการ 8 ราย ที่ทุจริตเบิกค่ายามูลค่าความเสียหาย 4.6 ล้านบาท และได้ส่งดำเนินคดีแล้ว
จากการสอบสวนของสำนักงาน ป.ป.ท.พบมูลเหตุจูงใจหลักที่ทำให้เกิดการทุจริตคือ
1.การสมคบกันระหว่างโรงพยาบาล แพทย์ กับ บริษัทผู้ผลิตจำหน่ายยา ในรูปแบบของค่าคอมมิชชัน เนื่องจากโรงพยาบาลและแพทย์มีความสัมพันธ์กับยอดจำหน่ายยาของแต่ละบริษัทที่จำหน่ายยาให้กับโรงพยาบาล และแพทย์มีความเห็นสนับสนุนยาชนิดนั้นๆ ซึ่งมีหลายรูปแบบ เช่น ยาแถม ตัวเงิน หรืออาจเป็นการท่องเที่ยวต่างปประเทศในรูปแบบของการสัมมนาดูงานในต่างประเทศ
2.เกิดจากช่องโหว่ระบบการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นระบบการจ่ายตรงจากกรมบัญชีกลาง โดยผู้ใช้สิทธิรักษาพยาบาลไม่ต้องสำรองจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลเองเหมือนในอดีต ผู้ใช้สิทธิจึงไม่รู้ว่าตนเองใช้สิทธิไปเท่าใด ขณะที่โรงพยาบาลแจ้งค่ารักษาพยาบาลกรมบัญชีกลางเท่าใด กรมบัญชีกลางก็จ่ายงบประมาณชดใช้คืนเท่านั้น
3.ระบบคอมพิวเตอร์ของแต่ละโรงพยาบาล ไม่สามารถเชื่อมโยงกันได้ เนื่องจากโรงพยาบาลมีสังกัดหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบการช็อปปิ้งยาได้
การตรวจสอบเชิงลึกพบว่ามีกระบวนการโยงใยเป็นเครือข่ายการทุจริต แบ่งออกได้ 3 กลุ่มใหญ่คือ
กลุ่มที่ 1 ผู้ใช้สิทธิและเครือญาติ ตรวจพบว่ามีพฤติกรรมช็อปปิ้งยาในทุกๆ 1-3 สัปดาห์ จะตระเวนใช้สิทธิในโรงพยาบาลต่างๆ หลายๆแห่ง บางรายมีพฤติกรรมช้อปปิ้งยาเฉลี่ย 1 ปีมีค่ารักษาพยาบาลสูงถึง 1.2 ล้านบาท
กลุ่มที่ 2 บุคลากรในโรงพยาบาล เป็นกลุ่มใหญ่ที่มีช่องโหว่ที่จะเข้าข่ายทุจริตค่ารักษาพยาบาลได้มากที่สุด โดยพบว่าแพทย์มีพฤติกรรมสั่งยาให้ตัวเองสัปดาห์ละประมาณ 20,000-30,000 บาท และสั่งยาเกินความจำเป็นในรายที่ผู้ป่วยไม่ค่อยได้มาใช้สิทธิที่โรงพยาบาล ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้มีการนำเวชระเบียบของผู้ป่วยมาเบิกยาโดยผู้ป่ยไม่ทราบเรื่อง รวมถึงยังพบพฤติกรรมการบันทึกข้อมูลจำนวนยาสูงกว่าที่แพทย์สั่งจ่าย เช่น หมอสั่งข่ายยาจำนวน 300 เม็ด แต่เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลจ่ายยา 1,000 เม็ด
กรณีแพทย์สั่งจ่ายยาเกินความจำเป็นให้แก่ผู้ป่วย และสั่งจ่ายยาที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรคที่วินิจฉัย เช่น ผู้ป่วยที่แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคเข่าเสื่อม แพทย์สั่งจ่ายยารักษาโรคเข่าเสื่อมในขณะเดียวกันแพทย์ก็สั่งจ่ายน้ำตาเทียมไปด้วย แพทย์บางรายมีเป้าหมายจ่ายยาออกมามากๆ เพื่อทำยอดให้กับบริษัทยา แลกกับผลประโยชน์ด้านอื่นๆ แพทย์บางรายสั่งจ่ายยาให้ตนเอง และบุคคลในครอบครัวด้วยตัวยาเดียวกัน โดยไม่มีการวินิจฉัยโรคและพบว่าแพทย์ผู้นั้นมีคลินิกส่วนตัว แพทย์สั่งจ่ายยานอกบัญชียาหลัก ซึ่งเป็นยาที่มีราคาแพงมาก เมื่อเทียบกับราคายาในบัญชียาหลัก
อีกตัวอย่างหนึ่งพบว่า โรงพยาบาลจะเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในได้ โดยใช้วิธีการกำหนดเพดานงบประมาณและจัดสรรตามหลักเกณฑ์กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (DRG) ซึ่งระบบ DRG นั้น เมื่อแพทย์วินิจฉัยโรคแล้วจะต้องให้รหัสโรค เพื่อคำนวณน้ำหนักโรค ซึ่งกรมบัญชีกลางจะจ่ายเงินตรงให้โรงพยาบาลตามน้ำหนักโรคเป็นการเหมา ซึ่งพบว่าโค้ด หรือรหัส ลงน้ำหนักโรคไม่ตรงตามความจริง ทำให้กรมบัญชีกลางจ่ายเงินให้โรงพยาบาลสูงกว่าความเป็นจริง
กลุ่มที่ 3 กลุ่มบริษัทจำหน่ายยา มีความเกี่ยวพันกับโรงพยาบาล มีการจ่ายค่าคอมมิชชัน ให้กับโรงพยาบาลและแพทย์ในรูปแบบต่างๆ เทียบจากงบประมาณค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลปี 2552 ประมาณ 61,000 ล้านบาท จะเป็นค่ายาประมาณ 50,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเม็ดเงินก้อนโต
การจับผู้ต้อง 8 รายที่กรมบัญชีกลางแจ้งความดำเนินคดีข้อหาทุจริต พบว่าส่วนใหญ่อัยการจะไม่ส่งฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าผู้ต้องหามีสิทธิที่จะเบิกค่ายาและแพทย์เป็นผู้สั่งให้ รวมถึงพฤติกรรมการช็อปปิ้งยาผู้ต้องหาอ้างว่าไม่มั่นใจการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลแห่งเดียวทำให้ต้องตระเวนไปรักษาหลายๆโรงพยาบาล ก็ไม่ใช่ความผิดโดยตรงหรือบางรายอัยการเห็นว่าเป็นแค่คดีฉ้อโกงธรรมดา ไม่ถึงคดีทุจริต
อ่านประกอบ:
ตั้งกองทุนฯ ตามระเบียบ! รพ.ระยองแจง 3 ปมร้องเรียน มีรายรับจากผู้สมัครใจ
เรื่องถึงปลัด สธ.แล้ว!ปม บ.ยาโอนเงินเข้าบัญชีกองทุนฯ รพ.ระยอง-ให้ผู้ตรวจกระทรวงสอบ
หมุนเวียน 24.4 ล.-ใครเบิก 4 ล.? ปมปริศนา บ.ยาโอนเงินเข้ากองทุนฯ รพ.ระยอง
ผู้ว่าฯสตง.สั่งลุยสอบ ทบ.ปลดประจำการเรือเหาะ350ล.-ทราบเรื่องปมเงิน รพ.ระยองแล้ว
เปิดระเบียบฯ ก.สาธารณสุข กองทุนฯ รพ.ระยอง รับเงินปริศนา บ.ยา ทำถูกต้องหรือไม่?
เปิดสเตทเมนท์บัญชีกองทุนฯ รพ.ระยอง เข้า-ออกยิบ! วันเดียวถอน 4 ครั้งรวด 4 ล.
เงินปริศนา! บ.ยาโอนเข้าบัญชี กองทุนฯ รพ.ระยอง หลายล.-ผอ.ขอตรวจสอบก่อน