‘กอบศักดิ์’ เปรียบไทยแลนด์ 4.0 เหมือนได้ไอโฟน 10 ยก ‘เกาหลี’ ต้นแบบยกเลิก กม.ไม่จำเป็น
ปฏิรูปกฎหมายเพื่อธุรกิจ ธปท.แก้ พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ช่วยลดค่าใช้จ่ายสูง 1 พันล. ‘บวรศักดิ์’ คาดยกเลิกคุมเข้มอัตรามีสิทธิเกิดนวัตกรรมสร้างมูลค่ามหาศาล ขณะที่ผู้ว่าแบงก์ชาติ หวังนำไทยสู่การเงินดิจิทัล เลิกยึดอิงเอกสาร ด้าน ‘กอบศักดิ์’ เปรียบไทยแลนด์ 4.0 เหมือนได้ไอโฟน 10 ยกเกาหลีตัวอย่างความสำเร็จยกเลิกใช้กฎไม่จำเป็น ส่วนผอ.อิศรา ชี้ประชาพิจารณ์กม.ต้องไม่ใช่แค่พิธีกรรม ปชช.ต้องมีส่วนร่วมเสนอกฎหมายไม่ยุ่งยาก
วันที่ 28 ก.ย. 2560 สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จัดโครงการสัมมนา Thai Law Reform:ปฏิรูปกฎหมายสู่ปฏิรูปประเทศ ในหัวข้อย่อย “บทบาทและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิรูปกฎหมาย” ณ ห้องอโนมา แกรนด์ โรงแรมอโนมา แกรนด์ กรุงเทพฯ
ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมการที่ปรึกษาเพื่อกำกับการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า กฎหมายเป็นโครงสร้างในการจัดสรรผลประโยชน์ที่สำคัญในสังคม จะไม่มีการปฏิรูปเศรษฐกิจ ถ้าไม่มีการปฏิรูปกฎหมายเศรษฐกิจ โดยที่ผ่านมา พบต้นทุนโลจิสติกส์ไทยสูงกว่าในหลายประเทศ ทำให้ราคาสินค้าไทยสูง ฉะนั้นถ้ากฎหมายไม่ดี ย่อมสร้างรายจ่ายเกิดขึ้น ธปท. จึงปรับปรุงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 โดยให้นักเศรษฐศาสตร์เข้ามาดูแลคู่กับนักกฎหมาย ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 1 พันล้านบาท ยังไม่รวมนวัตกรรมที่จะเกิดขึ้นจากการยกเลิกการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่จำเป็นด้วย ซึ่งอาจมีมูลค่ามหาศาลมากกว่า ดังนั้น หากต้องการให้ประเทศแข่งขันได้ ต้องทำให้กฎหมายสร้างค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดให้แก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเพิ่มเติมถึงพ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ.2485 ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน เพราะการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศมีวิวัฒนาการไปเรื่อย ๆ แต่กลับยังพบว่า กฎระเบียบของประเทศไทยยังยึดอิงกับเอกสาร ทั้งที่โลกในอนาคตของการเงินต้องยึดอิงกับดิจิทัลที่จะมีความสำคัญมากขึ้น
“กระบวนการหลายอย่างยังเป็นกระดาษที่อาศัยการทำงานแบบโบราณ ต้องมีการประทับตรา มีลายเซ็นของผู้มีอำนาจ คิดถึงบริษัทใหญ่ ๆ ของไทยอย่าง ปตท. ต้องขอเอกสารจำนวนมาก นี่จึงเป็นเหตุผลของกฎเกณฑ์ที่ซับซ้อนมาก” ผู้ว่า ธปท. กล่าว และว่า อนาคต ธปท.ปรับเปลี่ยนให้เกิดความคล่องตัวทันการ มีประสิทธิภาพ ซึ่งกระบวนการที่ต้องยึดอิงกับเอกสาร จะไม่ส่งเสริมให้กลายเป็นองค์กรที่ตั้งอยู่บนฐานความรู้ และไม่สอดคล้องกับทิศทางที่ควรจะเป็น ทั้งนี้ จะต้องทำอย่างไรให้คนในองค์กรเห็นความสำคัญร่วมกันของความจำเป็นต้องปฏิรูปด้วย
ด้าน ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการที่ปรึกษาเพื่อกำกับการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวถึงการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 เปรียบได้กับการได้ไอโฟน รุ่น 10 นั่นหมายถึงประเทศไทยต้องดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจะไปสู่จุดนั้นได้นั้น การปฏิรูปกฎหมายมีส่วนสำคัญ โดยจะเห็นได้ว่า มีหลายฉบับที่ใช้มานานและไม่มีการแก้ไข เหมือนกับยาหมดอายุ เช่น พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ดังนั้น ต้องมีการสะสางกฎหมายเหล่านี้ และสร้างกรอบใหม่เพื่ออนาคตและไม่เป็นภาระแก่ประชาชน
ทั้งนี้ ปกติเวลานักกฎหมายจะเขียนกฎหมายมักระบุเพื่อต้องการปกป้องประชาชนจากธุรกิจขนาดใหญ่ ปกป้องรายย่อยจากรายใหญ่ ปกป้องพี่น้องจากนายทุน แต่ลืมคิดไปว่า ความจริงแล้วปัญหาเกิดขึ้นที่ภาครัฐ มีการดำเนินการล่าช้า และทุจริต อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่า ประเทศไทยช่วง 20 ปีที่ผ่านมา คนออกกฎหมายไทยมักเลือกเชื่อรัฐบาล ทำให้มีกฎหมายออกมาจำนวนมาก จนกลายเป็นอุปสรรค
ดร.กอบศักดิ์ กล่าวอีกว่า การสะสางกฎหมาย โดยปรับปรุงและยกเลิกกฎหมาย กฎระเบียบที่ไม่จำเป็น และเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจในต่างประเทศ โดยยกตัวอย่างความสำเร็จของประเทศเกาหลี พบว่า จากเดิมที่มีกฎหมาย 11,125ฉบับ ยกเลิกไปร้อยละ 48.8 และปรับปรุงให้ง่ายขึ้นร้อยละ 21.7 ซึ่งช่วยลดภาระในปี 2558 ถึง 1 แสน 5 หมื่นล้านบาท ทำให้ปลดพันธนาการระหว่างภาคเอกชนและประชาชนให้เดินไปข้างหน้าได้ ซึ่งจะถูกนำมาดำเนินการในประเทศไทย ต้องมีการทบทวนและปลดพันธนาการให้ทุกคน
สุดท้าย นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนว่า จะต้องทำให้กระบวนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายไม่ยุ่งยาก และเกิดอุปสรรค และเมื่อยื่นเรื่องต่อรัฐสภาแล้วต้องไม่ถูกเตะถ่วง รวมถึงทำอย่างไรให้เนื้อหาในร่างกฎหมายที่เสนอเข้าไปถูกบิดเบือน กระบวนการเหล่านี้จำเป็นต้องสร้างหลักประกันไว้
ขณะที่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นนั้น กฎหมายหลายฉบับเขียนให้มีการทำประชาพิจารณ์ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวต้องไม่ใช่แค่พิธีกรรม เพื่อสร้างความชอบธรรมเท่านั้น รวมถึงเสนอให้ปฏิรูปโครงสร้างคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งปัจจุบันไม่ค่อยมีนักกฎหมายรุ่นใหม่เข้าไปทำหน้าที่ และถึงเวลาแล้วหรือไม่ จะต้องปฏิรูปความแข็งตัวของระบบราชการ ทำให้กรมพ้นจากการเป็นนิติบุคคล ทั้งนี้ เรื่องเสรีภาพ แทบไม่ถูกแตะต้อง โดยเฉพาะการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นเรื่องสุดท้ายที่มักดำเนินการ .