รพ. 28 แห่ง เบิกค่า‘ยาลดไขมัน’ 1.2 พันล.-บ.ผู้ผลิตเข้าถึงหมอ -‘ทุจริต’แรงจูงใจ
เปิดงานวิจัย รพ. 28 แห่ง เบิกค่ายาลดไขมันในเลือด สูงสุดกว่า 1.2 พันล. ต้านอักเสบ ข้อเสื่อม กลุ่มนอกบัญชียาหลักฯพุ่ง กลยุทธ์ บ.ผู้ผลิตจำหน่ายเข้าถึงคนสั่งมีส่วน สระบุรี-โครงการจ่ายตรงส่งผล ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น : ชำแหละพฤติกรรมทุจริตเบิกจ่ายยา ขรก. (ตอน 4)
พฤติกรรมทุจริตเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการข้าราชการและครอบครัว มีหลากหลายรูปแบบ อาทิ การสวมสิทธิของผู้ใช้บริการ การช็อปปิ้งยา การยิงยา ของผู้มีอำนาจสั่งจ่ายยา ตามที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลมารายงานก่อนหน้านี้
คราวนี้มาดูงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
รายงาน มาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะ กรรมการ ป.ป.ช.) เสนอสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2560 ระบุว่า มีหลายหน่วยงานที่ได้ทำการศึกษาวิจัยถึงปัจจัยที่อาจทำให้ค่ารักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการสูงขึ้น โดยหยิบอ้างอิง 2 ชิ้น
@เปิดงานวิจัย 2 ชิ้น
งานวิจัยชิ้นแรก : รายงานผลการพัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลด้านยา เพื่อติดตามประเมินการสั่งใช้ยา จัดทำโดยสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) เครือสถาบันของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และกรมบัญชีกลาง
จากรายงานผลการศึกษาดังกล่าวพบว่า งบประมาณรายจ่ายด้านค่ารักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นการเพิ่มในอัตราที่สูงโดยในปีงบประมาณ 2549 -2551 ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นจาก 37,004 ล้านบาท เป็น 46,481.05 ล้านบาท และ 54,904.48 ล้านบาท คิดเป็นอัตราร้อยละ 25.61 และ 18.12 ตามลำดับ ซึ่งจากข้อมูลการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ปรากฎว่าค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นตามสมควรในอัตราที่สามารถยอมรับได้ ในขณะที่ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงและมีสัดส่วนสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยสัดส่วนค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอกต่อค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 46 ในปีงบประมาณ 2545 เป็นร้อยละ 70 ในปีงบประมาณ 2551โดยพบว่าค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอกที่เพิ่มขึนดังกล่าว มีค่ายาเป็นค่าใช้จ่ายที่มีสัดส่วนสูงสุดเมื่อเทียบกับค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอกทั้งหมดประมาณร้อยละ 83 ซึ่งในปีงบประมาณ 2553 งบประมาณรายจ่ายของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 62,196 ล้านบาท
@ รพ.นำร่อง 28 แห่ง ค่าใช้จ่ายด้านยาผู้ป่วยนอก 1.4 หมื่นล.
กรมบัญชีกลางและ สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.)ได้วิเคราะห์สถานการณ์การใช้ยาผู้ป่วยนอกในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการในโรงพยาบาลนำร่อง 34 แห่ง ที่มีผู้ป่วยนอกมารับบริการมากกว่า 100,000 ครั้งในปีงบประมาณ 2551 อย่างต่อเนื่องในรอบที่ 1 ระหว่างเดือน ต.ค.2551- เดือน ก.ค.2552 รอบที่ 2 เดือน ต.ค.2552-เดือน ก.ค.2553 รอบที่ 3 เดือน ต.ค.2553- เดือน มี.ค.2554 โดยขอความร่วมมือให้โรงพยาบาลนำร่องส่งข้อมูลการใช้ยาแก่ผู้ป่วยนอกสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลแบบ aggregated data ของยาแต่ละรายการ ตั้งแต่ ก.ค.2554 เป็นต้นมา และกรมบัญชีกลางได้ขอความร่วมมือให้โรงพยาบาลนำร่องส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ค่าใช้จ่ายแต่ละรายการของผู้ป่วยแต่ละรายทุกครั้งที่มารับบริการ รวมทั้งรายละเอียดชนิดและปริมาณของยา ราคาต่อหน่วยที่ซื้อและราคาที่เบิก รวมถึงรหัสของผู้สั่งใช้ยามาที่สำนักงานกลางสารสนเทศบริการสุขภาพ (สกส.) เพื่อทำการเบิกจ่าย
ผลการวิเคราะห์ในรอบที่ 2 พบว่าโรงพยาบาลนำร่องซึ่งมีข้อมูลจาก 28 แห่ง มีค่าใช้จ่ายด้านยาสำหรับผู้ป่วยนอกในระบบการจ่ายตรงของสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการคิดเป็นมูลค่า 14,543 ล้านบาท กลุ่มยาที่มีมูลค่าการเบิกจ่ายค่อนข้างสูงยังเป็นกลุ่มยากลุ่มเดิมๆ ที่พบจากการวิเคราะห์ในรอบที่ 1 โดยมียาซึ่งอยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติในสัดส่วนที่สูงมาก ได้แก่
ยาลดไขมันในเลือด (1,262 ล้านบาท ยานอกบัญชียาหลักฯร้อยละ 86.1)
ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตรอยด์ และยาข้ออักเสบ- ข้อเสื่อม (1,011 ล้านบาท ยานอกบัญชียาหลักฯ ร้อยละ 98)
ยาโรคกระดูกพรุน (718 ล้านบาท ยานอกบัญชียาหลักฯ ร้อยละ 99.7)
ยาต้านมะเร็ง (615 ล้านบาท ยานอกบัญชียาหลักฯ ร้อยละ 68)
ยาลดการหลั่งกรด (602 ล้านบาท ยานอกบัญชียาหลักฯ ร้อยละ 93.2) และ
ยาลดความดันโลหิตกลุ่ม Angiotensin-2 receptor blocker (ARB) (555 ล้านบาท ยานอกบัญชียาหลักฯ ร้อยละ 87 )
@ยอดใช้ยานอกบัญชีฯพุ่ง-กลยุทธ์บ.ผู้ผลิตเข้าถึงคนสั่ง
อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมค่าใช้จ่ายยาผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลนำร่องยังคงไม่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552-2554 แต่สัดส่วนการสั่งใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติของโรงพยาบาลนำร่องยังมีสัดส่วนที่สูงมากในกลุ่มยาเป้าหมายข้างต้น
จากการสัมภาษณ์เชิงลึกพบว่า อุปสรรคที่สำคัญได้แก่ กลยุทธ์การเข้าถึงผู้สั่งใช้ยาของผู้ผลิตจำหน่าย การไม่มีนโยบายควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยาที่ชัดเจนจากส่วนกลาง ระบบสารสนเทศของโรงพยาบาลไม่เอื้อต่อประสิทธิภาพของการใช้ข้อมูลที่ถูกต้อง ทัศนคติของแพทย์และผู้ป่วยต่อการใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ความใส่ใจของผู้บริหารโรงพยาบาล ตลอดจนความเข้มแข็งของคณะกรรมารเภสัชกรรมและการบำบัดของโรงพยาบาล
เมื่อพิจารณามูลค่ายาที่โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเบิกจ่ายพบว่า กลุ่มยา 30 อันดับแรกที่มีมูลค่าสูงสุดคิดเป็นร้อยละ 70 ของมูลค่าเบิกทั้งหมด (11,549 ล้านบาท) ซึ่งกลุ่มยาที่มีมูลค่าสูงสุดคือยาลดไขมันในเลือด โดยมีสัดส่วนที่อยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติถึงร้อยละ 87 โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยมีสัดส่วนที่อยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติถึงร้อยละ 90 ในขณะที่โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหมและอื่นๆ มีสัดส่วนที่อยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติร้อยละ 81
จากการศึกษาข้างต้นอาจสรุปได้ว่า การจ่ายยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติซึ่งเป็นยาที่มีราคาแพง เป็นสาเหตุทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นการเพิ่มในอัตราที่สูง ซึ่งปัญหาการเบิกจ่ายยานอกบัญชียาหลักในสัดส่วนที่สูงนั้น มีความผันแปรระหว่างโรงพยาบาลมาก โดยพบว่าโรงพยาบาลอาจมีสัดส่วนการสั่งยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติสูงในยาบางกลุ่ม และมีสัดส่วนที่ต่ำในยาบางกลุ่ม ดังนั้นการกำหนดให้แพทย์ระบุเหตุผลในการสั่งใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติจะทำให้สามารถอธิบายสาเหตุของความผันแปรได้บางส่วนว่ามาจากลักษณะที่แตกต่างกันของผู้ป่วยและโรค หรือ เกิดจากการส่งเสริมการขายของบริษัทยา ดังนั้น กลุ่มยาที่มีมูลค่าการสั่งใช้สูงต้องมีการเฝ้าระวังค่าใช้จ่าย และควรมีการกำหนดให้แพทย์ผู้สั่งใช้ระบุข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน เพื่อส่งเสริมให้การใช้ยาเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้ป่วย และลดความแตกต่างในการสั่งใช้ยาระหว่างแพทย์
@กรณีศึกษา รพ.สระบุรี โครงการจ่ายตรงทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
งานวิจัยชิ้นที่สอง: การวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อค่าใช้จ่ายผู้ป่วยนอกของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ :กรณีศึกษาโรงพยาบาลสระบุรี จัดทำโดยสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) เครือสถาบันของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) มุ่งสาเหตุของการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายผู้ป่วยนอกของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการของโรงพยาบาลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2547-2551 ซึ่งเป็นช่วงที่โรงพยาบาลสระบุรีเริ่มนำระบบจ่ายตรงของผู้ป่วยนอกมาใช้ โดยกรมบัญชีกลางจะจ่ายค่าใช้จ่ายให้แก่สถานพยาบาลโดยตรง ทำให้ผู้มีสิทธิไม่ต้องสำรองจ่ายไปก่อน และเบิกคืนภายหลัง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มีสิทธิ
คณะผู้วิจัยพบว่าช่วงปี พ.ศ. 2547 – 2548 เป็นช่วงสองปีแรกของโครงการจ่ายตรงโรคเรื้อรัง 4 โรค การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายรวมส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายต่อหัว ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2549 -2551 เป็นช่วงที่โครงการจ่ายตรงโรคเรื้อรัง 4 โรค ถูกพัฒนาไปเป็นโครงการจ่ายตรงเต็มระบบ การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายกลับเป็นการเพิ่มขึ้นของจำนวนคนไข้มากกว่าการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายต่อหัว สะท้อนให้เห็นว่าโครงการจ่ายตรงเต็มระบบสามารถดึงดูดให้ผู้ป่วยมาใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก
การศึกษานี้ใช้วิธีการทางเศรษฐมิติที่เรียกว่า Differences-in-Differences (DD) ซึ่งผลการศึกษาพบว่าโครงการจ่ายตรงมีผลทำให้ค่าใช้จ่ายต่อหัวและจำนวนครั้งการมาใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยโครงการจ่ายตรงมีผลทำให้จำนวนครั้งเพิ่มขึ้น 1.9 ครั้งต่อคนต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 18 ของจำนวนครั้งเฉลี่ยก่อนเข้าโครงการ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมในรอบ 6 เดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.4 ของค่าใช้จ่ายเฉลี่ยก่อนเข้าโครงการ แต่เมื่อเปรียบเทียบวิธีการอย่างง่ายกับวิธีการ Differences-in-Differences (DD) พบว่ามีความแตกต่างกัน
จากข้อมูลการศึกษาข้างต้นอาจสรุปได้ว่า โครงการจ่ายตรงมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายผู้ป่วยนอกของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลสระบุรีในช่วงปี พ.ศ. 2547-2551 และค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นดังกล่าวอาจเป็นผลจากสาเหตุอื่นร่วมด้วย เช่น แนวโน้มค่าใช้จ่ายที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอยู่แล้วรวมถึงจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้น แม้ว่าจะมีหรือไม่มีโครงการจ่ายตรงก็ตาม
ทั้งนี้ จากงานวิจัยทั้ง 2 ฉบับข้างต้น สามารถวิเคราะห์ได้ว่าการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายผู้ป่วยนอกของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น อาจมีปัจจัยมาจากการสั่งจ่ายยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติซึ่งมีราคายาแพงกว่ายาในบัญชียาหลักแห่งชาติ และความสะดวกในการใช้สิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการจากระบบเบิกจ่ายตรง อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยที่ทำการศึกษาวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่ทำให้ค่าใช้จ่ายผู้ป่วยนอกระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการสูงขึ้นจำนวนหลายงานวิจัย ซึ่งการออกแบบการวิจัยจะมุ่งศึกษาผลของปัจจัยที่ผู้วิจัยสนใจเท่านั้น ทำให้มีผลการศึกษาที่บ่งชี้ถึงปัจจัยค่อนข้างหลากหลาย ดังนั้นจึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าอะไรคือปัจจัยที่แท้จริงที่ทำให้ค่าใช้จ่ายผู้ป่วยนอกระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการสูงขึ้น โดยในส่วนของการสั่งจ่ายยาโดยไม่มีระบบควบคุมราคากลางที่เหมาะสมนั้น เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้องจ่ายค่ายาสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น แต่การควบคุมราคากลางของยานั้นมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอยู่แล้ว
@ ‘ทุจริต’ สร้างแรงจูงใจ หมอสั่งจ่ายยานอกบัญชียาฯ
ในส่วนของปัญหาการทุจริต แม้จะไม่ใช่สาเหตุโดยตรงที่ทำให้ค่าใช้จ่ายผู้ป่วยนอกของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็เป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้ผู้สั่งจ่ายยาสั่งจ่ายยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งมีราคาสูงกว่ายาในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยเฉพาะผลการศึกษาแรกที่ยกขึ้นกล่าวอ้างชี้ให้เห็นชัดเจนว่า การส่งเสริมการขายยาของบริษัทยานั้นส่งผลให้ผู้สั่งจ่ายยาสั่งจ่ายยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งเป็นการสมประโยชน์ทั้งฝ่ายบริษัทยาและผู้สั่งจ่ายยา และถือเป็นการแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบ ทำให้รัฐสูญเสียงบประมาณในส่วนค่าใช้จ่ายผู้ป่วยนอกของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการเกินกว่าที่ควรจะเป็น
การสั่งจ่ายยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติอาจเกิดจากเหตุผลทางการแพทย์ เช่น ประสิทธิภาพของยาแต่ละยี่ห้อ ความรุนแรงของโรค ฯลฯ ซึ่งไม่ถึงเป็นการทุจริต ซึ่งในขณะเดียวกันก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดจากพฤติกรรมการทุจริตของผู้สั่งจ่ายยา คือพฤติกรรมการยิงยาเพื่อแลกผลประโยชน์ที่ได้จากบริษัทยา
ในส่วนพฤติกรรมการช็อปปิ้งยานั้น อาจป้องกันได้โดยกระบวนการตรวจสอบการใช้สิทธิของกรมบัญชีกลาง โดยการพัฒนาระบบตรวจสอบการใช้สิทธิให้มีความเหมาะสม ไม่ให้ผู้มีสิทธิสิทธิในทางทุจริต ซึ่งเป็นอำนาจของหน่วยปฏิบัติคือกรมบัญชีกลาง ในการพิจารณาความเหมาะสม
@เสนอ 5 แนวทางป้องกัน
ผู้วิจัยได้ให้แนวทางในการแก้ไขปัญหาการสั่งจ่ายยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติอย่างไม่สมเหตุสมผลดังนี้
1.ควรปรับวิธีการจ่ายค่าชดเชยค่ายาในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการใหม่เพื่อลดแรงจูงใจในการสั่งใช้ยาต้นแบบและยานอกรายการบัญชียาหลักแห่งชาติซึ่งมีราคาแพง เพื่อหวังสร้างรายได้แก่โรงพยาบาล จากส่วนต่างค่ายาที่โรงพยาบาล mark up จากวิธีการจ่ายชดเชยในปัจจุบัน
2.บัญชียาหลักแห่งชาติเป็นกลไกควบคุมราคายาทางอ้อมที่มีอยู่ ดังนั้นจึงควรพัฒนา บัญชียาหลักแห่งชาติให้เป็นบัญชียาเพื่อการเบิกจ่ายของระบบประกันสุขภาพทั้งสามกองทุน และการสั่งใช้ยานอกรายการบัญชียาหลักแห่งชาติต้องเป็นไปตามข้อบ่งใช้ที่กำหนดภายใต้การควบคุมกำกับอย่างเคร่งครัด
3.ความสามารถในการต่อรองราคายาที่มีผู้จำหน่ายรายเดียวหรือน้อยรายซึ่งอยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติที่ต่อรองโดยกระทรวงสาธารณสุขมีน้อย รวมทั้งรายการยาในบัญชียาหลักแห่งชาติที่ต่อรองโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติครอบคลุมจำนวนน้อยรายการ ดังนั้นควรขยายรายการยาที่ต่อรองและส่งเสริมการจัดซื้อยาร่วมระดับเขตหรือจังหวัด
4.พัฒนานวัตกรรมการจัดซื้อร่วมและต่อรอง เช่น price-volume agreement , value based risk sharing, pharmacoeconomic assessment เป็นต้น
5.ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติที่มีการใช้บ่อยและมีผู้ผลิตจำหน่ายหลายราย โดยเฉพาะยาชื่อสามัญที่ผลิตในประเทศมักมีการแข่งขันด้านราคา จนทำให้เกิดความกังวลเรื่องคุณภาพ และการหดตัวของอุตสาหกรรมยาในประเทศ จึงควรมีกลไกประกันคุณภาพยาที่มีจำหน่ายในท้องตลาดเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้สั่งใช้ยาและประชาชน ตลอดจนควรกำหนดให้มีมาตรการส่งเสริมการสั่งใช้ยาชื่อสามัญและการสร้างแรงจูงใจแก่โรงพยาบาล โดยกำหนดราคาเบิกจ่ายที่ให้ผลกำไรที่สูงกว่ายาต้นแบบรวมทั้งศึกษาผลกระทบของการแข่งขันราคาและแนวทางแก้ไข
อ่านประกอบ:
ผู้ว่าฯให้แจง -บิ๊ก สธ.ลงพื้นที่สอบ! ปม บ.ยาโอนเงินเข้ากองทุนฯ รพ.ระยอง
บินประชุม ตปท.บังหน้า ขอเงิน บ.ยา! ปมทุจริต รพ. จ.นนท์-ปลอมเบิก‘ซูโดอีเฟรดรีน’
ชอปปิ้ง-ยิงยา-สวมสิทธิ์ พฤติกรรมทุจริตเบิกจ่ายค่ายา-ดีเอสไอสาวลึก รพ. 2 แห่งอีสาน
ชำแหละทุจริตเบิกจ่ายยา: แพทย์ รพ. สมคบเอกชน ปั้นยอดเอาค่าคอมมิชชัน-ทัวร์นอก
ตั้งกองทุนฯ ตามระเบียบ! รพ.ระยองแจง 3 ปมร้องเรียน มีรายรับจากผู้สมัครใจ
ห้ามรับ‘ค่าคอมมิชชัน’ บ.ยา ! มาตรการป้องทุจริต ป.ป.ช.เทียบกรณี รพ.ระยอง
เรื่องถึงปลัด สธ.แล้ว!ปม บ.ยาโอนเงินเข้าบัญชีกองทุนฯ รพ.ระยอง-ให้ผู้ตรวจกระทรวงสอบ
หมุนเวียน 24.4 ล.-ใครเบิก 4 ล.? ปมปริศนา บ.ยาโอนเงินเข้ากองทุนฯ รพ.ระยอง
ผู้ว่าฯสตง.สั่งลุยสอบ ทบ.ปลดประจำการเรือเหาะ350ล.-ทราบเรื่องปมเงิน รพ.ระยองแล้ว
เปิดระเบียบฯ ก.สาธารณสุข กองทุนฯ รพ.ระยอง รับเงินปริศนา บ.ยา ทำถูกต้องหรือไม่?
เปิดสเตทเมนท์บัญชีกองทุนฯ รพ.ระยอง เข้า-ออกยิบ! วันเดียวถอน 4 ครั้งรวด 4 ล.
เงินปริศนา! บ.ยาโอนเข้าบัญชี กองทุนฯ รพ.ระยอง หลายล.-ผอ.ขอตรวจสอบก่อน