กระเตื้องขึ้น ดัชนีความสามารถทางการแข่งขัน ไทยติดอันดับ 32 ของโลก
ดัชนีความสามารถทางการแข่งขัน ไทยดีขึ้นติดอันดับ 32 ของโลก ด้านนวัตกรรมคะแนนตก ที่โดดเด่นคือเรื่องการใช้โทรศัพท์มือถือ ส่วนเรื่องน่าห่วงสุด เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการของประเทศ การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมาย และการดูแลสวัสดิภาพความปลอดภัยประชาชน โอกาสในการร้องทุกข์ ร้องเรียนต่าง ๆ เกี่ยวกับธรรมาภิบาล ดร.พสุ ยันไทยปัญหาด้านนี้มาโดยตลอด ชี้ปีหน้า WEF เปลี่ยนเกณฑ์จัดอันดับใหม่ อันดับหล่นแน่ ไปอยู่ที่ 41
วันที่ 27 กันยายน 2560 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการของ WEF (World Economic Forum) ได้จัดเผยแพร่รายงานดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก (Global Competitiveness Index : GCI) ซึ่งเปรียบเทียบความสามารถการแข่งขันของ 137 ประเทศทั่วโลก ในปีนี้ประเทศที่ได้อันดับ 1-10 คือ สวิตเซอร์แลนด์ ตามมาด้วย สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ฮ่องกง สวีเดน สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และฟินแลนด์ ตามลำดับ สำหรับประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 32 โดยมีคะแนน 4.7 จากคะแนนเต็ม 7 คะแนน
รองศาสตราจารย์ ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทางคณะฯ เป็นผู้ทำการเก็บข้อมูลเชิงลึก จากแบบสอบถามกับผู้บริหารระดับสูง ขององค์กรขนาดใหญ่และขนาดย่อม ในทุกภาคส่วนอุตสาหกรรม ตามเกณฑ์ที่กำหนด โดย WEF ซึ่งนำไปคำนวณดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก โดยมีตัวชี้วัด 114 ตัว จัดแบ่งเป็น 3 กลุ่มใน 12 ด้าน ที่สะท้อนภาพความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศ
“ปีนี้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 32 ด้วยคะแนน 4.7 ซึ่งนับว่าดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 34 และมีคะแนน 4.6 โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า คะแนนและอันดับของประเทศนั้น หากเปรียบเทียบกับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทย ในปีที่ผ่านมา จะพบว่า ด้านที่มีอันดับที่ดีขึ้นและส่งผลบวกต่อดัชนีความสามารถทางการแข่งขันโดยรวม ได้แก่ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ที่ได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นจาก 4.4 เป็น 4.7 และได้รับอันดับดีขึ้นจาก 49 เป็น 43 นับเป็นการปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด”
รศ.ดร.พสุ กล่าวอีกว่า ในแง่ของอันดับที่สูงขึ้นจาก คุณภาพของถนน คุณภาพของโครงสร้างระบบราง คุณภาพของท่าเรือ คุณภาพของโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางอากาศ และ โดยเฉพาะในแง่ของ สัดส่วนการเป็นสมาชิกโทรศัพท์เคลื่อนที่/มือถือ (Mobile-cellular Telephone Subscriptions) นั้น ได้รับอันดับดีขึ้นอย่างมากจากอันดับที่ 55 ในปีที่แล้ว เป็นอันดับที่ 5 ในปีนี้
“3 สาเหตุที่ทำให้คะแนนความสามารถทางการแข่งขันของไทยปีนี้ดีขึ้น มาจากนโยบายรัฐบาล การนำส่งข้อมูล และการเติบโตของทางภาคธุรกิจ”
เมื่อเทียบอันดับกับประเทศในอาเซียน รศ.ดร.พสุ กล่าวว่า ที่อันดับความสามารถทางการแข่งขันสูงกว่าไทย ได้แก่ มาเลเซีย ขณะที่ประเทศอินโดนีเซีย ขยับจากอันดับที่ 41 มาอยู่ที่ 36 รวมถึงเวียดนามขยับจากอันดับที่ 60 มาอยู่ที่ 55
“ขีดความสามารถทางการแข่งขันของอินโดฯ ในอดีตห่างจากไทยพอสมควร แต่ปีนี้อันดับขยับขึ้นมาเยอะ ซึ่งมาจากคะแนนด้านนวัตกรรม สังเกตุจากสตาร์อัพที่ไทยใช้บริการอยู่ก็มาจากอินโดฯ”
สำหรับเรื่องนวัตกรรม รศ.ดร.พสุ กล่าวว่า ไทยไม่ติด 30 อันดับแรกของโลก จะอยู่ระดับกลางๆ ไม่ได้โดดเด่นมาก และไม่ได้ล้าหลังจากประเทศอื่นๆ ถือว่า กำลังอยู่ในช่วงการพัฒนา แต่ที่โดดเด่นคือเรื่องการใช้โทรศัพท์มือถือ ติดอันดับ 5 ของโลก ทั้งนี้ ทาง WEF มีคำเตือนแม้ว่าหลายๆประเทศเน้นนวัตกรรมมากขึ้น แต่ปัญหาคือ ไม่ได้กระจายออกไปสู่ทั่วทุกภูมิภาค มีการกระจุกตัวอยู่ เหมือนกับไทยมีนวัตกรรม มีเทคโนโลยี แต่ก็พบว่ากระจุกตัวอยู่แต่กรุงเทพ หรือเมืองใหญ่ๆ เป็นต้น
ประเด็นที่น่าเป็นห่วงจากดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ กล่าวว่า คือ Pillar ที่ 1 คือ Institution ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการของประเทศ การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมาย และการดูแลสวัสดิภาพความปลอดภัยประชาชน โอกาสในการร้องทุกข์ ร้องเรียนต่าง ๆ เกี่ยวกับธรรมาภิบาล ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยมีปัญหาด้านนี้มาโดยตลอด
รศ.ดร.พสุ กล่าวด้วยว่า ปี 2018 WEF จะเปลี่ยนเกณฑ์การจัดอันดับขีดความสามารถทางการแข่งขันใหม่ เรียกว่า GCI 4.0 โดยจะเอาแนวทางเรื่องของ 4.0 มาใช้ในการจัดอันดับ โดยมีการจำลองตัวเลขของปีนี้มา พบว่า อันดับประเทศไทยก็จะตกลงในปี 2018 จากอันดับที่ 32 ตกมาอยู่ลำดับที่ 41 ซึ่งหน่วยงานรัฐและภาครัฐต้องมองการพัฒนาไปในแนวทางนี้ด้วย เช่น Industrial Revolution 4.0 รวมถึงเรื่องนวัตกรรมที่จะมีเกณฑ์วัดใหม่ ก็ไม่ได้มองนวัตกรรมเพียงแค่ผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีอย่างเดียว มองถึงเรื่องการเปิดรับไอเดียใหม่ๆ (openness to ideas) การทำงานร่วมกับผู้อื่น การกล้าที่จะเสี่ยง (risk taking) มองไปถึงเรื่อง business models ด้วย เป็นต้น
ทั้งนี้ การสำรวจความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ โดย WEF (World Economic Forum) หรือ ดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก (Global Competitiveness Index : GCI) ซึ่งเป็นมาตรวัดที่สำคัญที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกเฝ้ารอและจับตาดู เนื่องด้วย นอกจากจะเป็นการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ รวมถึงยังสามารถชี้ให้เห็นถึงจุดเด่นและประเด็นที่ควรต้องพิจารณา เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง:
รายงานดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก (Global Competitiveness Index : GCI)