โมเดลพัฒนาข้าวไทย ปฏิรูป “ประชานิยม สู่พัฒนานิยม” (จบ)
นโยบายจำนำข้าวที่ซื้อข้าวราคาแพงจากชาวนาโดยไม่คัดคุณภาพ ทำให้ชาวนาจำนวนหนึ่งแตกจากกลุ่ม หันมาปลูกข้าวที่ให้ผลผลิตสูงแต่คุณภาพต่ำ โชคดีที่โครงการรับจำนำข้าวได้ยุติไปก่อน เรือลำเล็กแม้จะโดนมรสุมแต่ไม่อับปาง จึงจำเป็นต้องปฏิรูปนโยบายข้าวจาก “ประชานิยม สู่พัฒนานิยม”
ตอนที่แล้ว สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำรายงานการปฏิรูประบบและพัฒนาข้าวไทย (อ่านประกอบ:เปิดโมเดลพัฒนาข้าวไทย มุ่ง "ชาวนาได้กำไรสูงสุด ไม่ใช่ได้ราคาสูงสุด" (1)) ของ คณะกรรมการศึกษาแนวทางการปฏิรูประบบและพัฒนาข้าวไทย มหาวิทยาลัยรังสิต มานำเสนอ โดยเป็นข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาข้าวและชาวนาทั้งระบบ
รายงานฉบับนี้ ยังมีข้อเสนอ
5. การบริหารจัดการในการเก็บเกี่ยว การอบข้าว และการสีข้าว
5.1.การขาดแคลนรถเกี่ยวข้าวในบางพื้นที่ โดยเฉพาะภาคอีสาน ทำให้คุณภาพข้าวที่เกี่ยวได้ลดต่ำลง การเก็บเกี่ยวข้าวในช่วงเวลาที่เหมาะสมจะทำให้ข้าวหักลดลง ชาวนาได้รายได้เพิ่มสูงขึ้น
5.2. การขนส่งข้าวเปลือกที่เกี่ยวได้จากไร่นา ไปเข้าเครื่องอบที่โรงสี เท่ากับว่าต้องขนส่งความชื้น (น้ำ) แกลบ และสิ่งเจือปนเกือบ 40% ของน้ำหนัก ในปัจจุบันยังไม่มีเครื่องอบและเครื่องกะเทาะเปลือกข้าว (สีข้าวกล้อง) ในระดับไร่นา อาจเป็นเพราะปัจจุบันการขนส่งทางรถไปถึงโรงสีไม่ไกลมากนักชาวนายังไม่มีปริมาณข้าวมากพอที่จะมีเครื่องอบข้าว อีกทั้งการกักเก็บข้าวไว้ขายในอนาคตจะต้องกักเก็บในรูปข้าวเปลือก ชาวนาจึงขาดทางเลือกที่จะอบลดความชื้นในระดับไร่นาแล้วเก็บข้าวเปลือกไว้ขายภายหลัง
5.3.การชั่ง ตวง วัดความชื้น ปัจจุบันชาวนาตั้งอาศัยเครื่องชั่งและเครื่องวัดของผู้ซื้อ หากจะมีเครื่องชั่งและวัดความชื้นส่วนกลางที่เชื่อถือได้ ดำเนินการโดยหน่วยงานรัฐอิสระเพื่อให้ข้อมูลต่อชาวนาจะสร้างอำนาจต่อรองในการขายข้าวให้ชาวนามากขึ้น
5.4. รัฐพึงส่งเสริมชาวนาในพื้นที่ที่ประสงค์จะรวมตัวกัน เพื่อทำนาร่วมกันเป็นแปลงใหญ่ ใช้เครื่องจักรกลการเกษตรร่วมกัน (รถไถ รถตีตอซัง รถเกี่ยวข้าว) ซื้อวัสดุการเกษตรร่วมกัน รวมทั้งเครื่องอบข้าวร่วมกัน
ทั้งนี้เพื่อประหยัดค่าขนส่งและอื่นๆ รวมทั้งสามารถเก็บกักข้าวเพื่อขายในระนะต่อไป เพราะไม่ต้องรีบขายข้าวที่เปียกชื้น และอนาคตอาจพัฒนาต่อยอดทำธุรกิจการสีข้าว และการแสวงหาตลาดข้าวสารด้วยตนเอง
|
6.การจัดเกรด แบ่งชั้น ข้าวเปลือกและข้าวสาร
6.1.ปัจจุบันการจัดเกรดแบ่งชั้นข้าวเปลือกระทำโดยดูจากความชื้น พันธุ์ข้าว ลักษณะความแกร่ง ข้าวลีบ และโอกาสที่จะสีแล้วเป็นข้าวหักมากน้อย ยังไม่มีการจัดเกรดข้าวเปลือกที่มีมาตรฐานที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการต่อรอง กำหนดราคาของผู้ซื้อและผู้ขาย
การจัดเกรดแบ่งชั้นข้าวเปลือกถ้าทำได้อย่างชัดเจนจะทำให้ราคาของแต่ละเกรดของข้าวเปลือกมีความแตกต่างกัน จะเป็นแรงจูงใจให้ชาวนาพัฒนาการปลูกข้าวให้ได้ข้าวเปลือกที่มีคุณภาพดีขึ้น เพราะจะได้ราคาที่ดี ขณะเดียวกันการที่ข้าวเปลือกไม่มีการแบ่งเกรดชัดเจน ทำให้ผู้ซื้อมีความเสี่ยงในการให้ราคาที่สูง จึงประเมินราคาแบบถัวเฉลี่ยที่ต่ำให้กับชาวนา
6.2. ปัจจุบันการจัดเกรดแบ่งชั้นข้าวสาร ก็ยังสามารถพัฒนาได้อีกมาก เพราะเราจัดเกรดโดยดูจากเปอร์เซ็นต์ผสมของข้าวหัก พันธุ์ข้าวและข้าวใหม่ข้าวเก่า ยังไม่มีมาตรฐานอื่นที่สะท้อนถึงคุณภาพในการหุงต้ม ความเหนียวนุ่ม กลิ่นหอม
แม้ปัจจุบันได้มีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ข้าวที่มีตรา มีชื่อเฉพาะ เช่น ข้าวอินทรีย์ ข้าวยี่ห้อต่างๆ ก็สามารถช่วยได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น การจัดเกรดข้าวสารตามคุณภาพหุงต้มส่วนมากยังไม่ชัดเจน ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบในการซื้อข้าวเพราะต้องอาศัยผู้ขายเป็นผู้คัดสรรข้าวที่ตนชอบ ตลาดข้าวในประเทศจึงไม่แข่งขันเท่าที่ควร เพราะผู้ซื้อไม่สามารถโยกย้ายเปลี่ยนเจ้าประจำได้
7.โรงสีกับโกดังเก็บข้าว
7.1.ปัจจุบันความสามารถในการสีข้าวและโกดังในการจัดเก็บมีมากขึ้น ประมาณ 3 เท่าของกำลังการผลิตและปริมาณที่ควรจะเป็น ทั้งนี้เพราะนโยบาย “จำนำข้าว”ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์จูงใจให้มีผู้ลงทุนขยายเครื่องสีข้าวและโกดังโดยหวังที่จะรับจ้างสีข้าวและให้เช่าโกดังข้าวกับรัฐบาล
7.2.เมื่อรัฐบาลเลิกการแทรกแซงตลาดข้าวและการรับซื้อข้าว จะทำให้โรงสีข้าวต้องแข่งขันกับธุรกิจกันเอง ต้องพยายามลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการสีข้าว โดยพัฒนาการสีข้าวและการคัดข้าวให้มีมาตรฐานดียิ่งขึ้น
8.การขนส่ง
8.1.ปัจจุบันการขนส่งข้าวมากกว่า 90% เป็นการขนส่งทางถนนทั้งๆ ที่การขนส่งทางน้ำมีต้นทุนที่ต่ำกว่ามาก และจะสะดวกมากกว่า หากได้ใช้การขนส่งทางน้ำตั้งแต่พระนครศรีอยุธยาจนถึงเรือเดินสมุทรที่เกาะสีชัง ทั้งนี้ติดขัดที่สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบางแห่งที่มีระดับต่ำ เรือไม่สามารถลอดได้บางช่วงเวลาได้
9.เรือลำใหญ่กับเรือลำเล็ก
หากพิจารณาการผลิตและการค้าข้าวข้างต้นที่เป็นอุตสาหกรรมใหญ่ เปรียบเหมือนเรือลำใหญ่ของไทย ยังมีเรือลำเล็กที่มีคุณลักษณะแตกต่างหลากหลายอยู่ในปัจจุบัน
9.1. ชาวนาหลายพื้นที่รวมตัวกันบริหารจัดการการผลิต แปรรูป การขนส่งและการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศร่วมกัน ดังเช่นที่เกิดขึ้น กลุ่มชาวนากุดชุม จังหวัดยโสธร กลุ่มชาวนาจังหวัดสุรินทร์ กลุ่มชาวนาหนองสาหร่าย จังหวัดกาญจบุรี กลุ่มชาวนาอุ่มแสง จังหวัดศรีสะเกษ
9.2.เป็นทางเลือกของชาวนาในการที่จะร่วมกันปลูกข้าวทั้งชนิด และประเภทที่มีตลาดเฉพาะต้องการ เช่น ข้าวอินทรีย์ ข้าวปลอดสารพิษ ข้าวพื้นเมือง ข้าวที่มีจมูก ข้าวสังข์หยด ข้าวลืมผัว เป็นต้น
9.3. เป็นการสนองตอบต่อความต้องการตลาดเฉพาะ ทั้งในและต่างประเทศ และอาศัยสอดแทรกค้าขายตลาดข้าวสารภายในประเทศที่ยังมีการแข่งขันที่ไม่สมบูรณ์
9.4.เป็นการปลูกข้าวของชาวนามืออาชีพ ที่เน้นการปลูกข้าวอย่างประณีตด้วยเทคโนโลยีใหม่ ทั้งเรื่องการพยากรณ์อากาศ การปักดำ และการใช้ปุ๋ย
9.5. รัฐบาลต้องสำเหนียกว่า “นโยบายจำนำข้าว” มิเพียงแต่ทำลายกลไกตลาด ทำลายการปลูกข้าว และผลิตข้าวคุณภาพดี ยังเกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างมโหฬาร ยิ่งกว่านั้นได้มีผลกระทบในทางลบอย่างมากต่อเรือลำเล็ก โดยเฉพาะกลุ่มชาวนาที่รวมตัวกันปลูกข้าวคุณภาพ ข้าวที่มีลักษณะเฉพาะสำหรับตลาดบางประเภท เช่น ข้าวอินทรีย์ ข้าวเฉพาะอย่าง เฉพาะประเภท ดังตัวอย่างข้างต้น
นโยบายจำนำข้าวที่ซื้อข้าวราคาแพงจากชาวนาโดยไม่คัดคุณภาพ ทำให้ชาวนาจำนวนหนึ่งแตกจากกลุ่ม หันมาปลูกข้าวที่ให้ผลผลิตสูงแต่คุณภาพต่ำ
โชคดีที่โครงการรับจำนำข้าวได้ยุติไปก่อน เรือลำเล็กแม้จะโดนมรสุมแต่ไม่อับปาง จึงจำเป็นต้องปฏิรูปนโยบายข้าวจาก “ประชานิยม สู่พัฒนานิยม”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: