ธปท.แจงคุมมาตรฐาน 5 แบงก์พาณิชย์ ช่วยเพิ่มความมั่นคง ไม่กระทบเงินฝาก ปชช.
แบงก์ชาติแจงกำหนดมาตรฐานกำกับ 5 สถาบันการเงิน ไม่กระทบเงินฝาก ปชช. เชื่อจะยิ่งเพิ่มความมั่นคงมากขึ้น ระบุธนาคารพาณิชย์สำคัญเชิงระบบทุกเเห่งมีเงินกองทุนสูงกว่า ธปท.กำหนด
ภายหลังราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส. 17/2560 เรื่องรายชื่อธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ โดยมีรายชื่อธนาคารพาณิชย์ 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (อ่านประกอบ:ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส. 17/2560 เรื่องรายชื่อธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ)
นางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน เปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มุ่งเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจการเงินที่มีเสถียรภาพและมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยกำกับดูแลให้สถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (Domestic Systemically Important Banks: D-SIBs) มีความสามารถในการรองรับความเสียหายจากการดำเนินงานได้ดียิ่งขึ้น อันจะเป็นการส่งเสริมให้ ระบบสถาบันการเงินโดยรวมของประเทศมีเสถียรภาพ และเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล
“เงินฝากของประชาชนไม่ถูกกระทบและจะยิ่งมั่นคงมากขึ้น เพราะเกณฑ์ใหม่นี้จะช่วยยกระดับความเข้มแข็งของสถาบัน การเงินโดยรวม” รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน กล่าว
ด้านนายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการกำหนด ธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบ ธปท. พิจารณาปัจจัย 4 ด้าน ได้แก่ (1) ขนาดของสถาบันการเงิน (Size) (2) ความเชื่อมโยงในการทำธุรกรรมระหว่างกัน (Interconnectedness) (3) การเป็นผู้ให้บริการทางการเงินที่ สำคัญหรือการเป็นผู้ให้บริการหลักในโครงสร้างพื้นฐานของระบบสถาบันการเงิน (Financial institution infrastructure) และ (4) ความซับซ้อนของผลิตภัณฑ์ทางการเงินหรือกระบวนการดำเนินธุรกิจ (Complexity) ซึ่งปัจจัยเหล่านี้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติตามมาตรฐานสากลที่ผู้กำกับดูแลในต่างประเทศใช้
ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้างต้นมีจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
“ธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญเชิงระบบต้องดำรงเงินกองทุนชั้นที่ 1 เพิ่มจากอัตราส่วนเงินกองทุน ขั้นต่ำอีก 1% ภายในปี2563 โดยให้ทยอยดำรงเพิ่มขึ้นในอัตรา 0.5% ในปี2562 และปี 2563 ตามลำดับ” ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงินกล่าว และว่า รวมทั้งจะต้องปฏิบัติตามมาตรการกำกับดูแลอื่น ๆ เพิ่มเติม อาทิ การรายงานข้อมูลต่าง ๆ
นายสมบูรณ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันธนาคาร พาณิชย์ที่มีความสำคัญเชิงระบบทุกแห่งมีความแข็งแกร่ง มีเงินกองทุนอยู่ในระดับสูงกว่าอัตราที่ ธปท. กำหนด มาก และเพียงพอรองรับการดำรงเงินกองทุนส่วนเพิ่มตามมาตรการดังกล่าว