ขาขึ้น เอดีบีคาด GDP ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียโต 5.9% ในปี 2560
เอดีบีชี้ ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียโดยรวมยังคงอัตราการเติบโตที่แข็งแกร่งอันเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของการค้าโลก การขยายตัวได้ดีของเศรษฐกิจอุตสาหกรรมหลัก และแนวโน้มที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจจีน ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้การเติบโตของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียปรับตัวสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ สำหรับปี 2560 และ 2561
วันที่ 26 กันยายน 2560 ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เปิดแถลงข่าวรายงานวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจเอเชียของเอดีบี ประจำปี 2560 ฉบับล่าสุด ณ สำนักงานผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเชีย ประจำประเทศไทย โดยเอดีบีชี้ว่า ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียโดยรวมยังคงอัตราการเติบโตที่แข็งแกร่งอันเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของการค้าโลก การขยายตัวได้ดีของเศรษฐกิจอุตสาหกรรมหลัก และแนวโน้มที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจจีน ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้การเติบโตของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียปรับตัวสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ สำหรับปี 2560 และ 2561
ในรายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจเอเชีย ประจำปี 2560 ฉบับล่าสุด (Asian Development Outlook 2017 Update) ซึ่งเป็นหนังสือประจำปีของเอดีบีเกี่ยวกับการวิเคราะห์เศรษฐกิจ เอดีบีคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียจะเติบโตร้อยละ 5.9 ในปี 2560 และร้อยละ 5.8 ในปี 2561
“แนวโน้มการเติบโตของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียกำลังอยู่ในขาขึ้น โดยมีปัจจัยหลักจากการค้าโลกที่กลับมาฟื้นตัวและเศรษฐกิจจีนที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง” นายยาสูยูกิ ซาวาดะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอดีบี กล่าว และว่า ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียควรอาศัยจังหวะที่แนวโน้มเศรษฐกิจในระยะสั้นดีในการดำเนินการปฏิรูปเพื่อให้ผลผลิตดีขึ้น และลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นอย่างมาก รวมทั้งรักษาระดับการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคที่ดี เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพการเติบโตในระยะยาว
สำหรับการเติบโตของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียโดยรวมยังคงรักษาระดับได้ดีจากการกระเตื้องขึ้นของการค้า มูลค่าการส่งออกของภูมิภาค(เหรียญสหรัฐ) สูงขึ้นถึงร้อยละ 11 ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2560 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสูงขึ้นเช่นกัน โดยสูงขึ้นถึงร้อยละ 17 การกระเตื้องขึ้นดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากมูลค่าการส่งออกหดตัวลงเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคาสินค้าลดต่ำลงและความต้องการผลผลิตจากภายนอกลดต่ำลง หากไม่นับรวมจีน ประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค 8 ประเทศกำลังอยู่ในภาวะการส่งออกขาขึ้น
สำหรับเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมหลัก คาดว่า จะเติบโตร้อยละ 2 ในปี 2560 และ 2561 โดยเพิ่มขึ้น 0.1 จุด จากการประมาณการเมื่อเดือนเมษายน 2560 การบริโภคที่ขยายตัวของสหรัฐอเมริกาส่งผลให้เศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง ส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับมากระเตื้องขึ้นจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและสถานการณ์ภาคธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ นโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลาย ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เบาบางลง และความเชื่อมั่นตลาดที่แข็งแกร่งทำให้เศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัวขึ้นเช่นกัน
ส่วนนโยบายการคลังแบบขยายตัว และอุปสงค์ภายนอกที่เหนือความคาดหมาย ทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 โดยจะเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 ในปี 2560 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้น 0.2 จุด จากการคาดการณ์ครั้งก่อน ส่วนในปี 2561 เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงอยู่ที่ร้อยละ 6.4 เนื่องจากการปฏิรูปเพื่อลดภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่มีมากเกินความต้องการและลดความเสี่ยงภาคการเงินที่เริ่มคืบคลานเข้ามา
ทั้งนี้ ในรายงาน ยังระบุถึง เศรษฐกิจอินเดียยังคงแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้การยกเลิกธนบัตรบางประเภทของอินเดียและการดำเนินมาตรการภาษีสินค้าและบริการแบบใหม่จะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุนทางธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบเหล่านี้จะเป็นไปในระยะสั้นและจะค่อยๆ ลดน้อยลง ซึ่งทำให้การริเริ่มข้างต้นเริ่มออกดอกผลในระยะปานกลาง ทั้งนี้ เอดีบีได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจอินเดียลงเหลือร้อยละ 7 ในปี 2560 ซึ่งลงลง 0.4 จุดจากการคาดการณ์เมื่อเดือนเมษายน สำหรับปี 2561 การคาดการณ์จะลดงต่ำลงจากร้อยละ 7.6 เป็นร้อยละ 7.4
ในส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอดีบี คาดว่าจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ โดยจะปรับขึ้นจากร้อยละ 4.8 เป็นร้อยละ 5 ในปี 2560 และจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 5.1 ในปี 2561 ปัจจัยหลักของการเติบโตในอนุภูมิภาค ได้แก่ การส่งออกที่เพิ่มขึ้นของสิงคโปร์และมาเลเซีย ส่วนประเทศหลักอื่นๆ ในอนุภูมิภาคอย่าง เช่น อินโดนีเซียและไทย ยังคงรักษาระดับการเติบโตไว้เช่นเดิม
อย่างไรก็ตาม เอดีบียังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยไว้ที่ร้อยละ 3.5 ในปี 2560 และร้อยละ 3.6 ในปี 2561 ซึ่งเป็นระดับเดียวกับที่เคยคาดการณ์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
การเติบโตของเอเชียกลางมีแนวโน้มดีขึ้นในปีนี้และปีหน้าท่ามกลางราคาน้ำมันที่คงที่ แนวโน้มเศรษฐกิจรัสเซียที่กระเตื้องขึ้น และการส่งเงินกลับประเทศเพิ่มมากขึ้น ส่วนแนวโน้มการเติบโตของประเทศแถบแปซิฟิกค่อนข้างทรงตัวในปี 2560 และคาดว่าจะปรับตัวลดลงเล็กน้อยในปี 2561 เนื่องจากประเทศเศรษฐกิจใหญ่ เช่น ปาปัวนิวกินี และติมอร์-เลสเต ยังคงมีแนวโน้มการเติบโตเหมือนเดิม
ความเสี่ยงต่อการเติบโตของภูมิภาคมีทั้งเชิงบวกและเชิงลบ นโยบายการคลังที่ผ่อนคลายของสหรัฐอเมริกาและราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงทำให้ภูมิภาคอาจได้รับอานิสงส์จากปัจจัยเชิงบวกดังกล่าว ในขณะที่สภาพคล่องของโลกที่ตึงตัวขึ้น เศรษฐกิจชะงักงันจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ หรือภัยพิบัติจากสภาพอากาศ นับเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของภูมิภาค อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าภูมิภาคจะเตรียมรับมือจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลดขนาดการผ่อนคลายมาตรการในเชิงปริมาณทางการเงิน (quantitative easing) ของสหรัฐได้ดี แต่ระดับเพดานหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นในเอเชียและแปซิฟิกนับเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นได้ ณ ปัจจุบัน และเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยระยะยาวในประเทศเศรษฐกิจทั้งหลายในเอเชียเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ ดังนั้น ผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องมีนโยบายทางการเงินที่เข้มแข็งและยังต้องติดตามระดับหนี้และราคาสินทรัพย์อีกด้วย