บินประชุม ตปท.บังหน้า ขอเงิน บ.ยา! ปมทุจริต รพ. จ.นนท์-ปลอมเบิก‘ซูโดอีเฟรดรีน’
ชำแหละพฤติกรรมทุจริตเบิกจ่ายยา ขรก. กรณีศึกษา รพ.จ.นนทบุรี ดีเอสไอสอบธุรกรรมพบเดินทาง ต่างประเทศบ่อย อ้างประชุมวิชาการบังหน้า แลกผล ปย. ปูดเภสัชฯปลอมคำสั่งเบิกยาแก้หวัด‘ซูโดอีเฟรดรีน’โรงพยาบาลฯตำบล (ตอน3)
พฤติกรรมทุจริตเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการข้าราชการและครอบครัว สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลมารายงานไปแล้วว่ามีหลากหลายรูปแบบ ได้แก่
การสวมสิทธิ ผู้ป่วยหรือไม่มีอาการป่วย ซึ่งไม่มีสิทธิตามสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัว เข้าสวมสิทธิรักษาพยาบาลของบุคคลที่มีสิทธิ โดยอ้างใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการ
การยิงยา มีเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสั่งจ่ายยามีการสั่งจ่ายยาที่ไม่จำเป็นและเหมาะสมสัมพันธ์กับอาการเจ็บป่วยของผู้ป่วยรายนั้น หรือจ่ายยาในลักษณะสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น เน้นการจ่ายยานอกบัญชียาหลักซึ่งมีราคาแพง โดยมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทผู้ผลิตยา หรือตัวแทนจำหน่าย ในลักษณะของผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ เช่น เงินตอบแทน ของกำนัล การเดินทางไปต่างประเทศ
การช้อปปิ้งยา ผู้มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาล ข้าราชการและครอบครัว จะเบิกค่ารักษาพยาบาลในลักษณะเดินสายขอตรวจรักษาตามโรงพยาบาลต่างๆ ในช่วงวันเดียวกัน หรือระยะเวลาใกล้เคียงกัน และมักเดินทางไปพบแพทย์เกินกำหนดนัด เป็นเหตุให้ได้รับยาจำนวนมากยิ่งขึ้น มีการดำเนินการลักษณะเป็นขบวนการ มีความเชื่อมโยงระหว่างผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ ร้ายขายยา บริษัทยา
(อ่านประกอบ: ชอปปิ้ง-ยิงยา-สวมสิทธิ์ พฤติกรรมทุจริตเบิกจ่ายค่ายา-ดีเอสไอสาวลึก รพ. 2 แห่งอีสาน)
คราวนี้มาดูกรณีพฤติกรรมการทุจริตของโรงพยาบาล ใน จ.นนทบุรี ตามรายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตามที่ปรากฎในรายงาน มาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะ กรรมการ ป.ป.ช.) เสนอสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2560
1.การเบิกจ่ายยาอย่างผิดปกติ กรณีโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.นนทบุรี
การสอบสวนคดีพิเศษได้รับหนังสือขอความร่วมมือจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้สั่งการให้กรมสอบสวนคดีพิเศษอนุมัติให้เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ อนุมัติให้เจ้าหน้าที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ท. ให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเข้าหน้าที่โรงพยาบาลในจ.นนทบุรี เนื่องจากพบการสั่งจ่ายยาอย่างผิดปกติ เบิกซ้ำซ้อนเกินเกินจริง โดยไม่พบบันทึกภาวะต่างๆ ของโรค ไม่พบหลักฐานการวินิจฉัยทางการแพทย์
จากการตรวจสอบพยานบุคคล พยานผู้เชี่ยวชาญทางวิชาชีพเวชกรรม บริษัทยาที่จำหน่ายยาให้กับโรงพยาบาลในจังหวัดนนทบุรี ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของจังหวัดนนทบุรี ข้อมูลการเดินทางเข้าออกประเทศ และธุรกรรมทางการเงิน พบว่า มีข้าราชการของโรงพยาบาลปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แสวงประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น มีลักษณะการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสั่งจ่ายยาบางชนิดโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ อาจมีผลข้างเคียงของยาต่อผู้ป่วยและอาจมีผลกระทบต่อผู้ป่วยเป็นเหตุให้ไม่ได้รับโอกาสแนวทางการรักษาที่เหมาะสมตามวิชาชีพเวชกรรม มีสถิติการสั่งจ่ายยา จำนวนมากกว่าซึ่งการดำเนินการลักษณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญควรจะเป็นผู้สั่งจ่ายยาดังกล่าว ทั้งที่ผู้บังคับบัญชาได้มีการตักเตือน และจากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบดังกล่าวมีผลทำให้โรงพยาบาลได้รับความเสียหายถูกเรียกเงินคืนจากกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังจำนวนหนึ่ง พบสถิติการเดินทางเข้าออกประเทศจำนวนมาก โดยอ้างว่าเป็นการเข้าประชุมทางวิชาการต่างๆ จากการสนับสนุนของบริษัทยา แต่พบหลักฐานว่ามีการเปลี่ยนเส้นทางการเดินทางไปยังประเทศอื่นที่ไม่มีการประชุมวิชาการดังกล่าว และยังพบอีกว่าเจ้าหน้าที่ได้มีการร้องขอการสนับสนุนจากบริษัทยาซึ่งต่อมากรมบัญชีกลางตรวจสอบพบว่า มีการสั่งจ่ายยาของบริษัทดังกล่าวอย่างไม่เหมาะสม ไม่มีข้อบ่งชี้ ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ พิจารณาหลักฐานแล้วเห็นว่า พฤติการณ์ดังกล่าว เป็นการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 149 อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จึงส่งเรื่องให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาดำเนินการต่อไป
กรณีดังกล่าวกรมสอบสวนคดีพิเศษได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการต่างๆ จะต้องไม่เป็นการรอนสิทธิของผู้ป่วยที่จะทำการรักษาพยาบาลกับโรงพยาบาล ผู้ป่วยยังต้องได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อการรักษาพยาบาลอย่างถูกต้องเหมาะสม เป็นไปตามหลักการวิชาชีพเวชกรรมต่อไป การกระทำที่จะมีผลทำให้เกิดความเสียหาย หรือกระทบต่อสุขภาพร่างกายของผู้ป่วยจากการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม ต้องมีการแก้ไขให้ถูกต้องเหมาะสมและไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยเป็นสำคัญ
2.กรณีการทุจริตในการเบิกจ่ายยา โดยให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ
ผู้ต้องหาได้หลอกลวงให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลนำข้อมูลเกี่ยวกับการสมัครเข้าร่วมโครงการเบิกจ่ายตรงกรมบัญชีกลางเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และผู้ต้องหาได้ปลอมใบสั่งยาผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลแสดงต่อเจ้าหน้าที่ห้องยาโรงพยาบาลเพื่อให้หลงเชื่อว่าบุคคลผู้มีชื่อในใบสั่งยาดังกล่าวได้มาทำการตรวจรักษา และแพทย์ได้สั่งจ่ายยาให้แก่บุคคลดังกล่าวแล้วซึ่งเป็นความเท็จ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ห้องจ่ายยาหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงและมอบยาตามใบสั่งยาดังกล่าวให้แก่ผู้ต้องหารับไปโดยไม่ต้องมีการชำระเงินค่ยา รวมทั้งสิ้น 56 ครั้ง โดยคดีนี้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการสำนักคดีพิเศษแล้วเมื่อวันที่ 25 พ.ค.2558 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการสืบสวนของพนักงานอัยการ
3.พฤติการณ์การกระทำความผิดเกี่ยวกับยา ‘ซูโดอีเฟรดรีน’
-เภสัชกรมีหน้าที่ดูแลคลังยาของโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และมีอำนาจหน้าที่สั่งซื้อยาแก้หวัดที่มีส่วนผสมซูโดอีเฟรดรีน รับยาจากบริษัทจากบริษัทขนส่งที่นำยาจากบริษัทผู้จำหน่ายมาส่งให้ที่โรงพยาบาล และเบิกจ่ายยาจากคลังยาให้กับ รพ.สต. จะถือโอกาสดังกล่าวเบิกยาในระบบคอมพิวเตอร์ออกจากคลังยา แล้วบันทึกข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์อีกว่าได้เบิกจ่ายยาให้กับ รพ.สต.ไปแล้ว แต่จริงๆแล้วไม่ได้นำยาดังกล่าวส่งให้กับ รพ.สต.หรือส่งให้แต่จำนวนน้อยกว่าที่เบิกจริง ซึ่งผู้บริหารของโรงพยาบาลหรือ รพ.สต.ไม่เคยตรวจสอบว่ายาไปถึง รพ.ส.ต.หรือถึงคนไข้หรือไม่
-ตัวแทนจำหน่ายยาของบริษัทผู้ผลิต หรือผู้จำหน่ายต้องการยอดการสั่งซื้อจากโรงพยาบาลจำนวนมาก เพื่อจะได้ค่าคอมมิชชันจากบริษัทผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย มากตามไปด้วย และในขณะเดียวกันเภสัชกรผู้จัดซื้อก็จะได้ประโยชน์ตอบแทนด้วย ซึ่งอาจเป็นเงิน ทรัพย์สินอื่น หรือการได้ไปเที่ยวต่างประเทศ ถึงแม้ว่าอำนาจการลงนามในใบสั่งซื้อยาจะเป็นของผู้อำนวยการโรงพยาบาลก็ตาม เมื่อเป็นเรื่องของผลประโยชน์ตอบแทนก็ทำให้เภสัชกรซึ่งมีความสนิทสนมกับตำแทนจำหน่ายยาฯ จำต้องปลอมลายมือชื่อผู้อำนวยการในใบสั่งซื้อโดยรู้เห็นเป็นใจกับตัวแทนจำหน่ายยาของบริษัทผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย
นับเป็นพฤติกรรมหลากหลายและย้ำให้เห็นว่าการทุจริตเบิกจ่ายยามี‘คอมมิชชัน’เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
อ่านประกอบ:
ชำแหละทุจริตเบิกจ่ายยา: แพทย์ รพ. สมคบเอกชน ปั้นยอดเอาค่าคอมมิชชัน-ทัวร์นอก
ตั้งกองทุนฯ ตามระเบียบ! รพ.ระยองแจง 3 ปมร้องเรียน มีรายรับจากผู้สมัครใจ
ห้ามรับ‘ค่าคอมมิชชัน’ บ.ยา ! มาตรการป้องทุจริต ป.ป.ช.เทียบกรณี รพ.ระยอง
เรื่องถึงปลัด สธ.แล้ว!ปม บ.ยาโอนเงินเข้าบัญชีกองทุนฯ รพ.ระยอง-ให้ผู้ตรวจกระทรวงสอบ
หมุนเวียน 24.4 ล.-ใครเบิก 4 ล.? ปมปริศนา บ.ยาโอนเงินเข้ากองทุนฯ รพ.ระยอง
ผู้ว่าฯสตง.สั่งลุยสอบ ทบ.ปลดประจำการเรือเหาะ350ล.-ทราบเรื่องปมเงิน รพ.ระยองแล้ว
เปิดระเบียบฯ ก.สาธารณสุข กองทุนฯ รพ.ระยอง รับเงินปริศนา บ.ยา ทำถูกต้องหรือไม่?
เปิดสเตทเมนท์บัญชีกองทุนฯ รพ.ระยอง เข้า-ออกยิบ! วันเดียวถอน 4 ครั้งรวด 4 ล.
เงินปริศนา! บ.ยาโอนเข้าบัญชี กองทุนฯ รพ.ระยอง หลายล.-ผอ.ขอตรวจสอบก่อน