ลึกลับซับซ้อนยากเข้าถึง! แกะรอย บ.กัมพูชา ร่วมทำโรงไฟฟ้าสตึงมนัม-ใครเจ้าของตัวจริง?
"...สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้พยายามตรวจสอบข้อมูลบริษัท Steung Meteuk Hydropower Co., Ltd. (SMH) ผ่านทางเว็บไซต์หลักของ กระทรวงเหมืองแร่และพลังงานของกัมพูชา ก็ไม่พบข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับบริษัทนี้ปรากฎอยู่ ขณะที่จากการสืบค้นข้อมูลผ่านสื่อต่างๆ ในกัมพูชา ทั้งที่ เป็นภาษาอังกฤษและภาษาขแมร์ ก็ไม่ปรากฏชื่อบริษัทฯ แต่อย่างใด มีเพียงข่าวการพบปะหารือของพล.อ.ประยุทธ์ กับทาง ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเท่านั้น ขณะเดียวกันสื่อในกัมพูชาไม่ว่าจะเป็น phnompenh post หรือ khmer time กลับตีข่าวแค่เฉพาะการชะลอโครงการฯเท่านั้น รวมถึงข้อสังเกตเรื่องการซื้อขายไฟที่สูง.."
แม้ว่า 'โครงการโรงไฟฟ้าสตึงมนัม' จะถูกสั่งชะลอออกไปแล้ว ภายหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กลับไปศึกษาการบริหารจัดการน้ำที่จะเกิดขึ้น หลังการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าวใหม่อีกครั้ง เพื่อประกอบการพิจารณา หลังกระทรวงเกษตรฯ ออกมาระบุว่า น้ำมีเพียงพอต่อความต้องการใช้ในช่วง 12 ปีนี้
แต่ดูเหมือนว่า เสียงวิพากษ์วิจารณ์ ว่า เหตุผลลึกๆ จริงๆ ในการสั่งชะลอโครงการนี้ น่าจะเป็นเพราะนายกฯ ไปรับรู้รับทราบข้อมูลสำคัญบางประการ เกี่ยวกับเบื้องหลังการดำเนินงานโครงการนี้ทั้งหมด โดยเฉพาะความไม่ชอบมาพากล ของคนบางกลุ่มที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด กับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงานเข้าไปเกี่ยวข้องในโครงการ ไปจับมือร่วมกับนักธุรกิจชาวกัมพูชารายหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอดีตนักการเมืองในไทยรายหนึ่ง และเป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างมากในกัมพูชา เพื่อเร่งรัดผลักดันโครงการนี้ให้เกิดขึ้นให้ได้
เนื่องจากภายใต้แผนการดำเนินงานโครงการนี้ มีการระบุถึงเรื่องการลงทุนทำโครงการวางท่อเพื่อผันน้ำมาทางฝั่งตะวันออกที่ใช้เม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาล ซึ่งมีการระบุตัวให้เอกชนรายหนึ่ง เตรียมที่จะเข้ามารับงานนี้เอาไว้ด้วย ขณะที่คนในรัฐบาลกัมพูชา ก็ดูเหมือนจะรับรู้รับทราบข้อมูลเรื่องนี้เป็นอย่างดี และไฟเขียวปล่อยให้ดำเนินการต่อ
และนั้นเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ยินยอมให้ถูกหลอกง่ายๆ หรือปล่อยให้ปัญหาข้อมูลเรื่องนี้ หลุดรอดผ่านพ้นสายตาไป ต้องหาทางเข้ามาสะสางแก้ไขปัญหาโดยทันที เพื่อทำให้โครงการยุติไป หรือถ้าจำเป็นต้องทำ ก็ต้องเกิดขึ้นอย่างถูกต้องเรียบร้อย โดยยึดถือผลประโยชน์ของประชาชน ประเทศชาติเป็นเป้าหมายสูงสุดอันดับแรก (อ่านประกอบ : ปิดเกม-หยุดแผน นักธุรกิจใหญ่กัมพูชาโผล่! เบื้องหลัง 'บิ๊กตู่' สั่งชะลอโครงการสตึงมนัม?)
จะยังคงปรากฎอยู่ไม่รู้จบ จนกว่าข้อเท็จจริงทั้งหมด จะได้รับการยืนยันเป็นทางการจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ว่า เสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ มีมูลความจริงมากน้อยเพียงใด?
สืบเนื่องจากตอนที่แล้ว สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ติดตามแกะรอยข้อมูลนักธุรกิจชาวกัมพูชา ที่ถูกระบุว่า เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเร่งรัดผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าสตึงมนัมระหว่าง 2 ประเทศ ให้เกิดขึ้น โดยตั้งข้อสังเกตว่า นักธุรกิจรายนี้ กำลังถูกจับตาว่า อาจจะเป็น นายพัด สุภาภา หรือ 'เสี่ยพัด' นักธุรกิจเจ้าอาณาจักรเกาะกงผู้ผูกขาดสารพัดสัมปทานในกัมพูชา ซึ่งมีความใกล้ชิดกับ สมเด็จฯฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา
พร้อมระบุว่า การจะหาข้อเท็จจริง ว่า นายพัด สุภาภา หรือ 'เสี่ยพัด' เข้ามาเกี่ยวข้องกับโครงการโรงไฟฟ้าสตึงมนัม ด้วยหรือไม่ น่าจะหาคำตอบได้ไม่ยาก ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีข้อมูลอยู่ในมือว่า บริษัท Steung Meteuk Hydropower จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในกัมพูชา ที่ได้รับสิทธิจาก กระทรวงเหมืองแร่และพลังงานของกัมพูชา ในการทำ Feasibility Study เพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าสตึงมนัม ว่าใครเป็นกรรมการหรือร่วมถือหุ้นอยู่บ้าง?
โดยเบื้องต้น นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน ยืนยันกับสำนักข่าวอิศราว่า ไม่ทราบข้อมูลเหมือนกันว่า ใครเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้น ของ บริษัท Steung Meteuk Hydropower จำกัด ข้อมูลที่มีอยู่มีเพียงแค่ว่า ทางการกัมพูชา ทำหนังสือยืนยันมาว่า ได้มอบหมายให้ บริษัท Steung Meteuk Hydropower จำกัด เป็นตัวแทนดำเนินงานโครงการโรงไฟฟ้าสตึงมนัม ในส่วนของกัมพูชาเท่านั้น
ทั้งที่ บริษัท Steung Meteuk Hydropower Co., Ltd. (SMH) ถือเป็นบริษัทที่มีความสำคัญกับโครงการนี้อย่างมาก เป็นบริษัทที่กระทรวงเหมืองแร่และพลังงานของกัมพูชา ทำหนังมีหนังสือถึงกระทรวงพลังงานของไทยเมื่อวันที่ 9ม.ค.60 ที่ผ่านมาแจ้งว่ารัฐบาลกัมพูชาได้ให้สิทธิบริษัทดังกล่าวในการทการศึกษาความเป็นไปได้(Feasibility Study) เพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าสตึงมนัม ก่อนที่12 เมษายน 2560 กระทรวงพลังงาน จะทำหนังสือถึงรัฐบาลกัมพูชาโดยเสนอทางเลือกที่ 1 ซึ่งโรงไฟฟ้าอยู่ฝั่งกัมพูชาและทางกัมพูชาจะไม่คิดค่าน้ำรวมทั้งมอบหมายให้บริษัทกฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนลจำกัดสามารถร่วมพัฒนาโครงการกับบริษัท Steung Meteuk Hydropower Co., Ltd. (SMH) (อ่านประกอบ : ใช่ 'เสี่ยพัด' หรือไม่? แกะรอยนักธุรกิจกัมพูชาปริศนา คนเดินเกมผลปย.หมื่นล.โรงไฟฟ้าสตึงมนัม)
แต่ฝ่ายไทยกลับไม่เคยรับรู้ข้อมูลว่า ใครเป็นกรรมการหรือเข้ามาถือหุ้นในบริษัทเอกชนแห่งนี้บ้าง?
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้พยายามตรวจสอบข้อมูลบริษัท Steung Meteuk Hydropower Co., Ltd. (SMH) ผ่านทางเว็บไซต์หลักของ กระทรวงเหมืองแร่และพลังงานของกัมพูชา ก็ไม่พบข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับบริษัทนี้ปรากฎอยู่
ขณะที่จากการสืบค้นข้อมูลผ่านสื่อต่างๆ ในกัมพูชา ทั้งที่ เป็นภาษาอังกฤษและภาษาขแมร์ ก็ไม่ปรากฏชื่อบริษัทฯ แต่อย่างใด มีเพียงข่าวการพบปะหารือของพล.อ.ประยุทธ์ กับทาง ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเท่านั้น ขณะเดียวกันสื่อในกัมพูชาไม่ว่าจะเป็น phnompenh post หรือ khmer time กลับตีข่าวแค่เฉพาะการชะลอโครงการฯเท่านั้น รวมถึงข้อสังเกตเรื่องการซื้อขายไฟที่สูง
และเมื่อสำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อให้แหล่งข่าวในกัมพูชา ช่วยสืบค้นข้อมูลของบริษัทอีกช่องทางหนึ่ง ก็ไม่พบข้อมูลใดๆ เช่นกัน
เช่นเดียวกับข้อมูลในเว็บไซต์ opendevelopmentcambodia.net ซึ่งรวบรวมความเคลื่อนไหวของโครงการพัฒนาต่างๆ ในประเทศลุ่มน้ำโขง ก็ไม่ปรากฎข้อมูลบริษัทเช่นกัน มีเพียงข้อมูลโครงการเขื่อนในชื่อ Stung Meteuk ทั้ง 1,2และ3 ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับบริษัทแต่ในข้อมูลโครงการก็ไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้ลงทุนในโครงการดังกล่าว
ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้าสตึงมนัมในกัมพูชานั้น ในเว็บไซต์http://www.khmertimeskh.com เผยแพร่ข่าวในวันที่ 9 พฤษภาคม 60 ระบุว่า กลุ่มบริษัท L.Y.P Group ซึ่งมีนาย Yong Phat เป็นประธาน และยังดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติของกัมพูชา ได้มีการเจรจาสัญญาในการก่อสร้างโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าสตึงมนัม บริเวณชายแดนเกาะกงและจังหวัดพูร์ซัต (Pursat) ซึ่งระบุว่าเขื่อนดังกล่าวจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 30 เมกกะวัตต์ โดยทั้งหมดขายไปยังประเทศไทย
นายYong Phat กล่าวด้วยว่า เขาจะเซ็นต์สัญญาข้อตกลงกับฝั่งไทย ก่อนที่จะมีการส่งขอใบอนุญาตการก่อสร้างจากรัฐบาลกัมพูชา
แต่ในเนื้อข่าวชิ้นนี้ ไม่ได้มีการระบุถึง ชื่อ บริษัท Steung Meteuk Hydropower Co., Ltd. (SMH) ตัวแทนรัฐบาลกัมพูชาแต่อย่างใด
ทั้งหมดนี้ คือ ผลการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับ บริษัทSteung Meteuk Hydropower Co., Ltd. (SMH) ของสำนักข่าวอิศรา ผ่านช่องทางต่างๆ ที่พอจะสามารถทำได้ ซึ่งข้อมูลที่ปรากฎออกมายิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความผิดปกติ โดยเฉพาะข้อมูล บริษัท Steung Meteuk Hydropower Co., Ltd. (SMH) ซึ่งถือเป็นตัวละครสำคัญของเรื่องนี้ ที่ดูเหมือนจะมีความลึกลับซับซ้อน ยากที่จะเข้าถึงข้อมูลว่า แท้จริงแล้ว บริษัทนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร ใครเป็นเจ้าของตัวจริงกันแน่?
แต่ที่น่าประหลาดใจที่สุด คือ ท่าทีและกระบวนการทำงานของหน่วยงานฝ่ายไทย ที่รับผิดชอบดำเนินงานโครงการนี้ ร่วมกับฝ่ายกัมพูชามูลค่าวงเงินลงทุนนับหมื่นล้าน
แต่กลับไม่เคย รับรู้ ข้อมูลว่า แท้จริงแล้ว ใครเป็นกรรมการหรือเข้ามาถือหุ้นในบริษัทเอกชนแห่งนี้บ้าง?
หรือความจริงรู้แล้ว แต่ไม่กล้า หรือ เลือก ที่จะไม่ชี้แจงให้สาธารณชนได้รับรู้กันแน่?
อ่านประกอบ
ไขที่มารวมสัญญาซื้อขายไฟ2ฉ.-ปริศนาไอ้โม่งรับปย.สตึงนัมกัมพูชา-วัดใจ 'บิ๊กตู่'เช็คบิล