อำพรางสร้างราคาหุ้น-ตั้งบ.กระดาษโยกเงิน2พันล.!ผู้ประกอบการเคเบิ้ลร้องดีเอสไอสอบ CTH
กลุ่มผู้ประกอบการเคเบิ้ลทั่วปท. ลุยยื่น 'ดีเอสไอ' รับสอบคดีอดีตผู้บริหารCTH ใช้บัญชีซื้อ-ขาย บุคคลอื่นอำพรางสร้างราคาหุ้นจูงใจร่วมลงทุน ก่อนตั้งบ.กระดาษโยกเงิน 2 พันล.ออก ทั้งที่ไม่ได้ประกอบธุรกิจจริง ชี้พฤติการณ์น่าเชื่อเบียดบังทรัพย์สินบริษัท-ส่อฟอกเงิน ทำให้ผู้ถือหุ้น-ปชช.ได้รับความเสียหาย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ในช่วงเช้าวันที่ 25 ก.ย.2560 ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ประกอบการเคเบิ้ลทีวีทั่วประเทศ ได้ส่งหมายข่าวเชิญสื่อมวลชน ร่วมทำข่าวกรณีกลุ่มผู้ประกอบการเคเบิ้ลทีวี ที่ร่วมลงทุนในบริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย เนื่องจากมีหนี้สินล้นพ้นตัวกว่า 21,459,636,049.90 บาท จะเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในวันที่ 25 ก.ย.2560 นี้ เวลา13.00 น. เพื่อขอให้ตรวจสอบการกระทำความผิดของอดีตผู้บริหารบริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) หลายกรณี อาทิ การเพิ่มทุนจดทะเบียนโดยใช้บัญชีซื้อ-ขาย หุ้นของบุคคลอื่นสร้างราคาหุ้นให้เพิ่มขึ้นในลักษณะอำพรางเพื่อให้บุคคลทั่วไปรวมถึงสมาชิกสมาคมเคเบิ้ลทีวีแห่งประเทศไทยหลงผิดคิดว่า หุ้นนั้นมีการซื้อขายมาก หรือราคาหุ้นนั้นเปลี่ยนแปลงไป โดยมีพฤติกรรมการซื้อขายในลักษณะต่อเนื่องและอ้างอิงว่ามีกลุ่มทุนธุรกิจสำคัญรายใหญ่เป็นผู้เสนอซื้อหุ้น อันเป็นผลทำให้การซื้อหุ้นนั้นผิดไปจากสภาพปกติเพื่อชักจูงให้บุคคลทั่วไป และกลุ่มสมาชิกเคเบิลทีวีทำการซื้อขายหุ้น เป็นเหตุให้ผู้ถือหุ้นเดิม รวมถึงประชาชนทั่วไปหลงเชื่อเข้ามาซื้อหุ้นประมาณ 190,079,000 หุ้น ได้รับความเสียหายเป็นเงินจำนวน 1,900,790,000 บาท
นอกจากนี้ ยังมีการสร้างกระแสเงินโดยนำเงินเข้าบัญชีของบริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) ในระยะสั้นๆ และนำยอดเงินในกระแสดังกล่าวไปแจ้งต่อนายทะเบียนบริษัทมหาชนว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินค่าชำระหุ้นที่มีการซื้อหรือการเพิ่มทุน ก่อนจะมีการโยกเงินจากบริษัทฯ ออกไป
ส่วนวิธีการโยกเงินออกจากบริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) ดังกล่าวนั้น ใช้วิธีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทย่อยอื่นจำนวนกว่า 7 แห่ง ที่ไม่ได้ประกอบธุรกิจจริง และอ้างว่าจะนำเงินไปลงทุนด้วย ซึ่งทุกบริษัทมีสำนักงานตั้งอยู่ที่เดียวกับบริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) รวมวงเงินไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท ก่อนที่จะมีการยื่นเรื่องขอฟื้นฟูกิจการและกล่าวอ้างภายหลังว่า บริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) เป็นลูกหนี้ของตนเอง เป็นจำนวนเงินนับหมื่นล้านบาท
พฤติการณ์ดังกล่าวจึงน่าเชื่อว่าเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์สินของบริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) ทำให้ผู้ถือหุ้นรายอื่นได้รับความเสียหาย และขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษรับคดีนี้ไว้ตรวจสอบตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไปด้วย
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2559 บริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นเรื่องต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากมีหนี้สินล้นพ้นตัว กว่า 21,459,636,049.90 บาท โดยศาลมีคำสั่งรับฟ้อง เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2559 และนัดไต่สวนคำร้องวันที่ 20 ธันวาคม 2559 และแจ้งให้เจ้าหนี้หรือผู้มีส่วนได้เสียรับทราบเพื่อคัดค้านคำร้อง โดยให้ยื่นคำคัดค้านต่อศาลก่อนวันนัดไต่สวนไม่น้อยกว่า 3 วัน
โดยในคำร้องขอฟื้นฟูกิจการบริษัทฯ ดังกล่าว ระบุว่า ณ วันยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการนี้ ผู้ร้องขอมีกรรมการจำนวน 8 คน คือ นายธนา ทุมมานนท์ นายอัครเดช ศุภมหิธร นายอมฤต ศุขะวณิช นายเมธินทร์ สมนึก นายพิพัฒน์ อินทร์พงษ์พันธุ์ นางสาวโชติกา โยควิบูล นายไชยกร บุญลพาภัทร์ และนายภูษณ ปรีย์มาโนช มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจเคเบิลทีวี ให้บริการระบบบอกรับสมาชิก และลงทุนในนิติบุคคลแห่งอื่น
และแจ้งต่อศาลว่า บริษัทในฐานะลูกหนี้คดีนี้ เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ตามงบแสดงฐานะทางการเงินของลูกหนี้ ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2558 ลูกหนี้มีสินทรัพย์จำนวน 9,909,365,712.83 บาท และลูกหนี้มีหนี้สินประกอบ ไปด้วยเจ้าหนี้สถาบันการเงินและเจ้าหนี้อื่น มากถึงจำนวน 21,459,636,049.90 บาท
โดยจำนวนหนี้สินที่ปรากฏในงบแสดงฐานะทางการเงินของลูกหนี้ ประกอบด้วย หนี้สินค้างชำระเจ้าหน้าที่หลายราย ทั้งที่ เป็นเจ้าหนี้สถาบันการเงิน เจ้าหนี้การค้า เจ้าหนี้อื่น ๆ รวมถึงเจ้าหนี้เงินกู้ยืม คิดเป็นจำนวน 97 ราย ซึ่งเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้แน่นอนแล้ว คิดเป็นเงินจำนวน 21,458,322,859.81 บาท
"ลูกหนี้ตกเป็นบุคคลผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว โดยเป็นหนี้เจ้าหนี้สถาบันการเงิน เจ้าหน้าการค้า และเจ้าหนี้อื่น ๆ รวมจำนวน 97 ราย รวมจำนวนหนี้ที่กำหนดจำนวนได้แน่นอนแล้ว เป็นเงินทั้งสินจำนวน 21,458,322,859.81 บาท อาศัยเหตุดังที่ผู้ร้องขอได้ประทานกราบเรียนต่อศาลล้มละลายกลางมาดังกล่าวข้างต้น ลูกหนี้จึงเป็นบุคคลผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว เป็นหนี้เจ้าหนี้คนดียวหรือหลายคนรวมกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000,000 บาท"
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2560 ที่ผ่านมา ศาลล้มละลายกลาง ได้อ่านคำพิพากษาไม่รับแผนฟื้นฟูกิจการของ บริษัท ซีทีเอชฯ ตามที่ยื่นเสนอเข้ามา ส่งผลทำให้บริษัทฯจะต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลายต่อไป ทั้งนี้ การอ่านคำพิพากษาดังกล่าว เป็นผลมาจากกลุ่มเจ้าหนี้รายย่อยได้ยื่นคัดค้านแผนพื้นฟูกิจการของ บริษัท ซีทีเอชฯ เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการที่บริษัท ซีทีเอชฯ จะเปลี่ยนไปทำธุรกิจไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งอ้างว่าจะมีการนำเทคโนโลยีจากจีนเข้ามาใช้
โดยศาลฯ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ธุรกิจโรงงานไฟฟ้าชีวมวลในประเทศไทยที่ผ่านมายังไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ขณะที่บริษัท ซีทีเอชฯ ซึ่งเคยทำธุรกิจเคเบิลทีวีมาก่อนแต่จะเปลี่ยนไปทำธุรกิจโรงงานไฟฟ้าชีวมวลไม่น่าจะทำได้ เพราะไม่มีความชำนาญเพียงพอ จึงไม่รับแผนฟื้นฟูกิจการที่เสนอเข้ามา ส่งผลทำให้บริษัทต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลายต่อไป (อ่านประกอบ : ปิดฉากCTH! ศาลฯไม่รับแผนฟื้นฟูเปลี่ยนทำโรงไฟฟ้า ต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย)