ชอปปิ้ง-ยิงยา-สวมสิทธิ์ พฤติกรรมทุจริตเบิกจ่ายค่ายา-ดีเอสไอสาวลึก รพ. 2 แห่งอีสาน
ชำแหละพฤติกรรมทุจริตเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการ ขรก. ‘ชอปปิ้ง-ยิงยา-สวมสิทธิ์’ ดีเอสไอสุ่มสาวลึกพบ รพ.2 แห่ง จ.สกลนคร อุบลฯ ไร้ระบบตรวจสอบ ปล่อยให้คนอื่นรับแทนผู้ป่วย หมอมอบพยาบาลสั่งจ่าย บางรายตระเวนใช้สิทธิ 5 แห่งสงสัยเอาไปจำหน่าย (ตอน 2)
กรณีกลุ่มบุคลากรของโรงพยาบาลระยองได้ส่งหนังสือถึง พล.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ประธาน กรรมการ ป.ป.ช.) และนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (ผู้ว่าฯ สตง.) ให้ตรวจสอบบัญชีเงินฝากชื่อ ‘กองทุนสวัสดิการโรงพยาบาลระยอง’ในช่วงปลายปี 2559-เดือนสิงหาคม 2560 เนื่องจากมีเงินจากผู้ประกอบธุรกิจขายยาและเครื่องมือแพทย์โอนเข้าบัญชีฯหลายครั้งรวมเป็นเงินหลายล้านบาทโดยถูกโอนเข้ามาอย่างสม่ำเสมอในช่วงกลางเดือนและทุกปลายเดือนมีเงินหมุนเวียนรวม 24,495,181.53 บาท จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าเงินที่โอนเข้าเป็นค่าอะไร?
อย่างไรก็ตามถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการฝ่าฝืน มาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการของ ป.ป.ช. กรณี “ห้ามไม่ให้หน่วยงานที่ทำการจัดซื้อทำการหารายได้ในลักษณะผลประโยชน์ต่างตอบแทนทุกประเภทจากบริษัทยาเข้ากองทุนสวัสดิการพยาบาล”หรือไม่ ?
ตอนที่แล้ว สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงพฤติกรรมการทุจริตเบิกจ่ายยาตามที่ปรากฎในเอกสาร มาตรการฯของ ป.ป.ช.เสนอสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เริ่มตั้งแต่ความเป็นมา ข้อเท็จจริงการเบิกจ่ายในช่วงปี 2553 (อ่านประกอบ: ชำแหละทุจริตเบิกจ่ายยา: แพทย์ รพ. สมคบเอกชน ปั้นยอดเอาค่าคอมมิชชัน-ทัวร์นอก)
คราวนี้เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสาเหตุและพฤติกรรมการทุจริตในช่วงถัดมา
ปี 2554 กรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่าสถานการณ์ค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วยที่ใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปีที่ 20-25% ต่อปี ทำให้ค่ารักษาพยาบาลจะมีการเบิกจ่ายมากกว่า 50,000-60,000 ล้านบาท และในวงเงินนี้เป็นค่ายาเป็นสัดส่วนถึง 80% ซึ่งหากไม่มีการควบคุมการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ในแต่ละมีโอกาสที่จะมีการเบิกจ่ายถึง 100,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังพบความผิดปกติซึ่งส่อแววการทุจริตค่ายา กล่าวคือ ผู้ได้สิทธิเบิกจ่ายยาโดยตรงไปใช้สิทธิกับหลายโรงพยาบาล (ช็อปปิ้งยา) บางโรงพยาบาลพบว่ามีการจ่ายยาเกินสมควรหรือจ่ายยาที่ไม่ตรงกับคำวินิจฉัยของแพทย์ หรือการจ่ายยาให้กับผู้ป่วยซ้ำซ้อนเกินขนาด โดยแจ้งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการสอบสวนต่อไป และได้มีการเสนอแนวทางให้บริษัทประกันเข้ามาบริหารค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ โดยรับประกันในส่วนของค่ารักษาพยาบาล (จะเป็นแบบร่วมจ่าย) และโรคร้ายแรง (บริษัทประกันจ่าย) โดยให้ บริษัท ท. จำกัด (มหาชน)ทำการศึกษาความเป็นไปได้ ซึ่งทางกรมบัญชีกลางมองว่า แนวทางของการเบิกจ่ายจะต้องผ่านระบบประกันทั้งหมด เพราะจะทำให้รัฐสามารถควบคุมงบประมาณได้ ปัจจุบันเป็นระบปลายเปิด ทำให้มีการตั้งเบิกจ่ายมาได้ตลอดเวลา
กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้เข้าตรวจสอบระบบเบิกจ่ายยาโรงพยาบาลรัฐระบบจ่ายตรงของครอบครัวข้าราชการพบ 2 โรงพยาบาลมีความผิดปกติคือ โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดสกลนคร และโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี พบกรณีที่คล้ายคลึงกันคือ มีการรับยาแทนผู้ป่วยโดยโรงพยาบาลไม่มีระบบตรวจสอบอย่างรัดกุม บางกรณีเป็นเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลมาเซ็นชื่อรับยาแทนคนไข้ แต่คนไข้ไม่ได้รับยาจริง บางรายแพทย์มอบหมายให้พยาบาลเป็นผู้สั่งจ่ายยาให้คนไข้ได้ ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าวไม่เป็นไปตามระเบียบของกรมบัญชีกลาง ทำให้เกิดช่องว่างที่ส่อทุจริต โดยระบบเบิกจ่ายตรงของกรมบัญชีกลาง ผู้ป่วยจะต้องลงทะเบียนล่วงหน้ารวมถึงสแกนลายนิ้วมือและลงลายมือชื่อไว้กับโรงพยาบาลและหากญาติจับยาแทนก็ต้องปฏิบัติในลักษณะเดียวกันคือต้องลงชื่อรับรองการรับยา
จากการตรวจสอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษพบว่า โรงพยาบาลไม่ปฏิบัติให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน กรมสอบสวนคดีพิเศษจะทำหนังสือแจ้งไปยังกรมบัญชีกลางและกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้มีหนังสือสั่งการให้โรงพยาบาลปฏิบัติตามระเบียบการจ่ายยาอย่างเคร่งครัด สำหรับยาที่พบว่ามีการเบิกแทนกันมากที่สุดคือยารักษาโรคเรื้อรัง เช่น ยารักษาโรคเบาหวาน ยาไขมันอุดตันในเส้นเลือด ยากรักษาความดันโลหิต ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษพบว่า เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล ทุกระดับเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายยาให้คนไข้เกินความเป็นจริงแต่ขณะนี้ผลการสอบสวนยังไม่ถึงระดับผู้อำนวยการโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังพบว่าบุคลากรโรงพยาบาล ส. ได้มีการสั่งซื้อยานอกบัญชียาหลักจำนวนมาก เช่น สั่งซื้อยาลดไขมัน (ROSUVASTATIN) ยอดสั่งซื้อจำนวน 72,896,681 บาท หรือ สั่งซื้อยาลดการหลั่งกรด (ESOMEPRAZOLE) ยอดสั่งซื้อ จำนวน 51,028,750 บาท รวมประมาณ 120 ล้านบาท
โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินการตรวจสอบในลักษณะคู่ขนานกับสำนักงาน ป.ป.ท. โดยสุ่มการตรวจสอบโรงพยาบาลทุกภาคทั่วประเทศ รวมถึงโรงพยาบาลที่มีระบบจ่ายตรงที่ไม่ขึ้นกับกระทรวงสาธารณสุข สถานพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ ขณะที่กรมบัญชีกลางจะตรวจสอบการเบิกจ่ายยาตามเวชระเบียนของโรงพยาบาล ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างจนอาจส่งผลกระทบต่อระบบการจ่ายตรงและสุขภาพของผู้ป่วย
ปี 2555 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร่วมกับกรมบัญชีกลาง แถลงผลการตรวจสอบร่วมกัน พบสิ่งผิดปกติโดยมีตัวอย่างดังต่อไปนี้
(1) หลักฐาน ทางการเงินที่โรงพยาบาลขอเบิกกรมบัญชีกลางไม่ตรงกับข้อมูลค่ารักษาที่ส่งเบิกในระบบจ่ายตรง
(2) ลายมือชื่อแพทย์ในเวชระเบียบไม่ตรงกับลายมือชื่อแพทย์ในใบสั่งยา ใบสั่งยาของผู้ป่วยรายเดียวกัน วันเวลาเดียวกัน ไม่ตรงกับในเวชระเบียน
(3) หลักฐานเวชระเบียบพบว่ามีข้อมูลเข้ารับการรักษา จำนวน 6 ครั้ง แต่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาจริงเพียง 2 ครั้ง
(4) การสั่งจ่ายยาเพื่อการรักษาไม่สัมพันธ์กับอาการป่วยของผู้ป่วย เนื่องจากแพทย์สั่งจ่ายยาให้กับญาติผู้ป่วยที่ไม่มีสวัสดิการ
(5) มีการสั่งจ่ายยาในปริมาณมากเกินกว่าที่ผู้ป่วยจะใช้ได้หมด โดยผู้ป่วยไม่ได้มาพบแพทย์
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวมา สรุปได้ว่า หากจะมีการกระทำความผิดในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัว อาจพบรูปแบบกากระทำความผิดแบ่งได้ 3 ประเภทคือ
1.การสวมสิทธิ ผู้ป่วยหรือไม่มีอาการป่วย ซึ่งไม่มีสิทธิตามสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัว เข้าสวมสิทธิรักษาพยาบาลของบุคคลที่มีสิทธิ โดยอ้างใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการซึ่งกรณีนี้อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ
2. การยิงยา พบว่ามีเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสั่งจ่ายยามีการสั่งจ่ายยาที่ไม่จำเป็นและเหมาะสมสัมพันธ์กับอาการเจ็บป่วยของผู้ป่วยรายนั้น หรือจ่ายยาในลักษณะสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น เน้นการจ่ายยานอกบัญชียาหลักซึ่งมีราคาแพง โดยมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทผู้ผลิตยา หรือตัวแทนจำหน่าย ในลักษณะของผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ เช่น เงินตอบแทน ของกำนัล การเดินทางไปต่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งในกรณีนี้ทำให้รัฐสูญเสียงบประมาณไปเป็นจำนวนมาก และจากการตรวจสอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ พบบุคลากรทางการแพทย์ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับการปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะยิงยาจำนวนหลายครั้ง เกินปกติจากบริษัทยาที่มียอดการสั่งจ่ายสูง ในกรณีนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ส่งเรื่องให้สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการแยกเป็นราย ๆ ไป
3.การช้อปปิ้งยา กรณีนี้ผู้มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาล ข้าราชการและครอบครัว จะเบิกค่ารักษาพยาบาลในลักษณะเดินสายขอตรวจรักษาตามโรงพยาบาลต่างๆ ในช่วงวันเดียวกัน หรือระยะเวลาใกล้เคียงกัน และมักเดินทางไปพบแพทย์เกินกำหนดนัด เป็นเหตุให้ได้รับยาจำนวนมากยิ่งขึ้น มีการดำเนินการลักษณะเป็นขบวนการ มีความเชื่อมโยงระหว่างผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ ร้ายขายยา บริษัทยา โดยปริมาณยาที่ได้รับไป หากบริโภคยาที่ได้รับไปทั้งหมดจะมีผลเป็นอันตรายแก่ร่างกายมากกว่าจะมีผลการรักษาพยาบาล ดังนั้น วัตถุประสงค์ที่แท้จริงคือการนำไปจำหน่ายหรือส่งมอบให้แก่ผู้อื่นต่อไป กรณีนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รวบรวมพยานหลักฐานและเสนอเป็นคดีพิเศษ
ปี 2559 กรมบัญชีกลางตรวจพบข้าราชการและบุคคลในครอบครัว 11 รายมีพฤติกรรมเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลส่อทุจริตโดยได้ระงับสิทธิการเบิกจ่ายตรงทั้ง 11 รายแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2559 โดยอธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า พฤติกรรมของคนกลุ่มนี้จะมีลักษณะคล้ายคลึงกันคือสมัครขอใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงไว้กับหลายโรงพยาบาล และตระเวนไปใช้บริการเพื่อขอรับยาด้วยโรคเดียวกันในเวลาที่ใกล้เคียงกัน ตัวอย่างเช่น นาง ก มารดาของข้าราชการ ได้สมัครจ่ายตรงไว้ 5 โรงพยาบาล เมื่อไปโรงพยาบาลแต่ละแห่งจะขอรับยากลุ่มความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือดสูง โดยแจ้งต่อแพทย์ผู้รักษาว่าขาดยาบ้าง ต้องไปต่างจังหวัดบ้าง เป็นต้น ซึ่งจะพบข้อมูลการเบิกจ่ายผิดปกติไปจากเดิม เช่น เบิกจ่ายสูงกว่าปีก่อน อย่างเห็นได้ชัด จากเดิมในปีงบประมาณ 2556 เบิกจ่ายค่ายาจำนวน 58,981 บาท แต่ในปีงบประมาณ 2557 เบิกจ่ายค่ายา 527,893 บาท ซึ่งในกรณีดังกล่าวมีหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินคดีอาญาได้จำนวน 2 ราย จากทั้งหมด 11 ราย โดยกรมบัญชีกลางได้แจ้งให้โรงพยาบาล ในฐานะผู้เสียหายร่วมไปร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดกับบุคคลดังกล่าวร่วมกัน
ส่วนอีก 9 ราย อยู่ระหว่างการตรวจสอบเอกสารหลักฐาน
นี่คือพฤติกรรมการทุจริตในการเบิกจ่ายค่ายาตามสิทธิสวัสดิการของข้าราชการซึ่งเกิดความเสียหายจำนวนมาก มีเรื่องของผลประโยชน์ค่าคอมมิชชันบริษัทยาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
อ่านประกอบ:
ชำแหละทุจริตเบิกจ่ายยา: แพทย์ รพ. สมคบเอกชน ปั้นยอดเอาค่าคอมมิชชัน-ทัวร์นอก
ตั้งกองทุนฯ ตามระเบียบ! รพ.ระยองแจง 3 ปมร้องเรียน มีรายรับจากผู้สมัครใจ
ห้ามรับ‘ค่าคอมมิชชัน’ บ.ยา ! มาตรการป้องทุจริต ป.ป.ช.เทียบกรณี รพ.ระยอง
เรื่องถึงปลัด สธ.แล้ว!ปม บ.ยาโอนเงินเข้าบัญชีกองทุนฯ รพ.ระยอง-ให้ผู้ตรวจกระทรวงสอบ
หมุนเวียน 24.4 ล.-ใครเบิก 4 ล.? ปมปริศนา บ.ยาโอนเงินเข้ากองทุนฯ รพ.ระยอง
ผู้ว่าฯสตง.สั่งลุยสอบ ทบ.ปลดประจำการเรือเหาะ350ล.-ทราบเรื่องปมเงิน รพ.ระยองแล้ว
เปิดระเบียบฯ ก.สาธารณสุข กองทุนฯ รพ.ระยอง รับเงินปริศนา บ.ยา ทำถูกต้องหรือไม่?
เปิดสเตทเมนท์บัญชีกองทุนฯ รพ.ระยอง เข้า-ออกยิบ! วันเดียวถอน 4 ครั้งรวด 4 ล.
เงินปริศนา! บ.ยาโอนเข้าบัญชี กองทุนฯ รพ.ระยอง หลายล.-ผอ.ขอตรวจสอบก่อน