เครือข่ายปชช.4 ภาคร้องทส.แก้ร่างกม.สิ่งแวดล้อมฯ นัดชุมนุมใหญ่พ.ย.หากยังไม่ปรับ
เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมตัวค้าน ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมและประกาศกฎกระทรวงเรื่องขั้นตอนทำEIA ชี้ไม่มีนำข้อเสนอภาคประชาชนมาใช้ เสนอสามประเด็นหลัก ถอนคำสั่งคสช.ที่9/2559 ออก ต้องมีการทำรายงานยุทธศาสตร์SEA และให้สผ. คชก. เป็นหน่วยงานอิสระ ขู่หากไม่คืบหน้า นัดชุมนุมใหญ่พ.ย.
เมื่อวันที่ 22 ก.ย.60 ที่บริเวณด้านหน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาต่างๆ ของรัฐ อาทิ โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โครงการเหมืองแร่โปแตซที่สกลนคร โรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน โดยการรวมตัวครั้งนี้เพื่อแสดงจุดยืนในการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ และกฎกระทรวงว่าด้วยขั้นตอนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)
นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ด้านทรัพยากรแร่ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา หนึ่งในสมาชิกเครือข่าย กล่าวถึงสาเหตุที่กระทรวงทรัพยฯ จำเป็นต้องแก้ไขเนื้อหาภายในพ.ร.บ.ฉบับใหม่รวมถึงร่างขั้นตอนการทำ EIA ว่า เรื่องแรกที่พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้แก้ไขให้คือ ตัวรายงานอีไอเอ ในระบบการประเมินผลแบบนี้ล้าสมัยมาก สมควรมีการแยกออก โดยเฉพาะสผ. และคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) สมควรเป็นหน่วยงานที่เป็นองค์กรอิศระ ไม่ควรเกี่ยวพันโยงใยกับการเมืองที่เข้ามากำหนดทิศทาง แล้วต้องทำตามใบสั่งตลอดเวลา
"ประเด็นใหญ่ของชาวบ้านคือ ในขณะที่มีการพิจารณาอีไอเอ ของคชก. ซึ่งกำลังอ่านชีวิตของพวกเรา แต่ชาวบ้านไม่เคยได้เห็นรายงานอีไอเอนั้นเลย จะขอมาดูก็ไม่ให้ บอกว่าเป็นเอกสารลับของราชการ การที่ชาวบ้านจะได้ดูรายงาน แทนที่จะเป้นดุลพินิจของสผ. เพียงอย่างเดียว แต่กลับกัน สผ.ไปทำหนังสือบริษัทนั้นๆ ว่าชาวบ้านจะขอดุรายงานอีไอเอได้ไหม นั้นแสดงว่า สผ.ตกเป็นทาสบริษัท"
นายเลิศศักดิ์ กล่าวอีกว่า เครือข่ายฯได้นำเสนอข้อมูลทางวิชาการเป็นลายลักษณ์อักษรหลายครั้งไม่มีการแก้ มิหน่ำซ้ำยังเอาคำสั่ง คสช.ที่บอกว่า อีไอเอ ไม่จำเป็นต้องความเห็นชอบ แต่สามารถประมูลโครงการได้เลย การเอา พ.ร.บ.ส่งเสริมฯ ซึ่งเป็นการนำคำสั่ง คสช.ที่ 9/2559มาบัญญัติใน มาตรา 53 วรรค4 ของกฎหมายสิ่งแวดล้อม เป็นความไม่ชอบธรรมที่น่ารังเกียจมาก ที่บอกว่าจะปฏิรูปประเทศ แต่รัฐบีบประชาชนทุกทิศทุกทาง หรือแม้กระทั่งกระบวนการที่ไม่ชอบธรรม อย่างความสัมพันธ์ของคณะกรรมการกับเอกชน
ด้านนายประสิทธิชัย หนูนวล หนึ่งในสมาชิกเครือข่ายฯ กล่าวว่า หากพ.ร.บ.ฉบับใหม่ไม่ได้ดีขึ้นไปกว่าของเดิม ก็ไม่เห็นสมควรว่าต้องประกาศใหม่ทำไม ทั้งนี้ที่ผ่านมาภาคประชาชนและนักวิชาการได้เสนอมาโดยตลอดว่า การทำรายงาน อีไอเอ ไม่ควรให้เจ้าของโครงการเป็นผู้ว่าจ้างบริษัทไปทำรายงาน ควรมีคณะกรรมการอิสระที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบตรงนี้ รวมไปถึงการคนพิจารณาตัวรายงานต้องให้มีการรับโทษทางเพ่งและอาญาด้วยหากการพิจารณาอนุมัตรายงานนั้นๆ และภายหลังเกิดผลกระทบต่อชาวบ้าน นอกจากนี้ก่อนการทำรายงานควรมีการจัดทำรายงานเชิงยุทธศาสตร์หรือ(Strategic Environmental Assessment - SEA ) ก่อนเพื่อกำหนดความเหมาะสมของพื้นที่นั้นๆ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาไม่มีในกฎหมายฉบับใหม่เลย สิ่งที่กระทรวงทรัพย์ฯและคชก. รวมถึงสผ.ต้องเปลี่ยนคือการเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ทั้งหมด ในการจัดทำรายงานและพิจารณาอีไอเอ ไม่ใช่แค่เพียงตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ภายใต้ระบบเดิม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในเวลาต่อมา ทางกระทรวงทรัพยากรฯ ได้เชิญเครือข่ายฯเข้าพูดคุย เจรจากับทางนายสมชัย มาเสถียร รองปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ และนายสุโข อุบลทิพย์ รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
โดยภายหลังการพูดคุยตลอดเวลาหนึ่งชั่วโมง นายสมชัย กล่าวกับชาวบ้านว่า วันนี้ภาคประชาชนมีข้อเสนดีๆ มาหลายข้อ เช่น การรับฟังความเห็นยังไม่ครบถ้วนตาม รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในม.77 ที่พวกเขายังไม่แสดงความเห็น กระทรวงทรัพย์ฯเล็งเห็นความสำคัญ และจะนำกลับไปเสนอผู้บริหารต่อไป แต่ต้องทำความเข้าใจว่า ข้อเสนอในวันนี้ กฎหมายไปผ่านกระทรวงไปแล้ว ดังนั้นความเห็นในวันนี้ก็จะส่งเข้าไปประกอบเพิ่มเติม ซึ่งต้องไปแก้ในชั้นอื่นๆ เพราะตัวฉบับที่ผ่านกระทรวงไปแล้ว เป็นเพียงร่างฯ เท่านั้น ส่วนข้อเสนอหลายข้อที่ดีเช่นการกำหนดให้ทำ SEA กำลังมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นโดยจะเริ่มมีการประชุมในวันนี้เป็นครั้งแรก
ส่วนประเด็น คณะกรรมผู้ชำนาญการที่ใช้อยู่ในปัจจุบันที่อยากให้เป็นองค์กรอิศระ นายสมชัยกล่าวว่า ข้อเสนอนี้น่ารับฟัง ก็ต้องมาชั่งดูกับสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อดูว่า ถ้าให้อิสระเลยจะเที่ยงธรรม ควบคุมได้หรือไม่ ดีกว่าของเก่าอย่างไร ก็ต้องไปศึกษากันมา ส่วนข้อมูลข่าวสารเรื่องการของรายงานอีไอเอ ต้องเรียนให้ทราบว่า อีไอเอทุกฉบับเราเปิดเผยอยู่เเล้ว แต่อย่างทีทราบว่ารายงานหนาหลายหน้า เวลาที่ประชาชนมาขอต้องจ่ายเงินค่าคัดลอก กระทรวงทรัพย์จะดุว่าถ้าเปลี่ยนเป็นให้เป็นรูปแบบของไฟล์จะได้ไหม
"สำหรับวันนี้เรารับข้อเสนอทุกข้อ เราจะดุว่าอะไรที่กระทรวงทรัพย์ฯสามารถแก้ไขได้เลยและอะไรที่เกินอำนาจก็จะมีการเสนอให้เลย หรืออะไรที่จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติ่ม ก็จะแจ้งไปยังรัฐบาลต่อไป"
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ภายหลังจากการพูดคุย ทางเครือข่ายฯได้อ่านแถลงเพิ่มเติม โดยระบุว่า ต้นเดือน พฤศจิกายนนี้ จะมีการชุมนุมยืดเยื้อของประชาชนทั้ง4 ภาค จนกว่า พรบ.รักษาและส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และประกาศกระทรวงว่าด้วยขั้นตอนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะได้รับการแก้ไข เพื่อสนองเจตนารมณ์ของการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริงรวมถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา58 ที่จะต้องยึดถือการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ โดยขอให้ภาคประชาชนที่เข้าไปช่วยรัฐบาลชุดนี้ทำกฎหมายสิ่งแวดล้อมจงแสดงท่าทีที่เป็นการแสดงจุดยืนว่าจะรักษาสิ่งแวดล้อมมากกว่าการรับใช้รัฐบาล คสช.