ภาคเอกชนคาดอีอีซีใช้เงินลงทุนปิโตรเคมี 4 แสนล.
ผู้บริหาร พีทีที ชี้ประเทศเพื่อนบ้านเร่งพัฒนาปิโตรเคมีมากขึ้น ส่วนไทยหยุดนิ่ง เหตุปัญหาการเมือง กระทบต่างชาติสนใจลงทุนน้อย มั่นใจอีอีซีช่วยกระตุ้นแรงจูงใจ คาดใช้เงินลงทุนปิโตรเคมี 3-4 แสนล. ขณะที่ สนช.เตรียมพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. เขตเศรษฐกิจพิเศษฯ 28 ก.ย.
วันที่ 22 ก.ย. 2560 วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ทางรอดและทางเลือกของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี กับไทยแลนด์ 4.0 และอีอีซี เนื่องในโอกาสก้าวเข้าสู่ปีที่ 30 ของการสถาปนาวิทยาลัยฯ ณ ห้อง 315 อาคารวิทยาลัยฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บ.พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวตอนหนึ่งว่า ปิโตรเคมีสร้างรายได้ประมาณร้อยละ 6 ของจีดีพี ทำให้เกิดการสร้างงาน โดยพบ จ.ระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่จัดตั้งโรงงาน มีรายได้ค่าเฉลี่ยต่อหัวต่อปีสูงสุดของประเทศ และมากกว่า 5 เท่าของค่าเฉลี่ยไทย นอกจากนี้ยังนำมาสู่การจัดตั้งวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาฯ เรียกว่า สร้างคุณค่าให้แก่ประเทศทั้งทางตรงและอ้อม แต่จะต้องทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยการดำเนินงานควบคู่กับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่ให้ได้รับความเดือดร้อน
ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านเร่งพัฒนาปิโตรเคมีกันมากขึ้น ล่าสุด เอสซีจีจับมือกับเวียดนาม แต่สำหรับไทยยังหยุดนิ่ง อาจเกิดจากปัญหาการเมืองที่ทำให้การขับเคลื่อนนโยบายไม่ต่อเนื่อง เพราะมัวแต่ทะเลาะกัน ทำให้ต่างประเทศสนใจเข้ามาลงทุนในไทยน้อยลง การพัฒนาเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) จึงมีความสำคัญ เพื่อทำให้เกิดแรงจูงใจต่อยอดอุตสาหกรรมเก่า สร้างอุตสาหกรรมใหม่ในอนาคต โดยในวันที่ 28 ก.ย. 2560 ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. ... จะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
“จะใช้เงินลงทุน 5 ปี แรก 1.5 ล้านล้านบาท ถ้าทำได้ตามแผน ภาคตะวันออกจะเป็นพื้นที่ยกระดับ ซึ่งถือเป็นเรื่องท้าทายมาก เฉพาะปิโตรเคมีจะใช้เงินลงทุน 3-4 แสนล้านบาท” นายประเสริฐ กล่าว .
ภาพประกอบ:guide book - blogger