เครือข่ายไม่กินหวานเชื่อ "ภาษี" ช่วยลดบริโภคน้ำตาลได้จริง
เครือข่ายไม่กินหวานหวังภาษีน้ำหวานช่วยปรับพฤติกรรมให้บริโภคน้ำตาลลดลง เชื่อภาคอุตสาหกรรมไม่ปรับขึ้นราคา เหตุอัตราภาษีเพิ่มขึ้นไม่ถึง 25 สตางค์ เตรียมถกกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำตาลน้อย และร่วมวิจัยประเมินผลภาษีน้ำหวานช่วยลดพฤติกรรมบริโภคได้จริง
หลังการบังคับใช้ภาษีสรรพสามิต ใหม่ 13 สินค้า 4 ภาคบริการ โดยในจำนวนนั้นมีการเก็บภาษีน้ำหวานเพิ่มขึ้นในอัตรา2% ซึ่งเริ่มบังคับใช้ไปแล้วในวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา
ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ในฐานะประธานเครือข่ายไม่กินหวาน กล่าวถึงการปรับขึ้นภาษีน้ำหวานไม่กระทบกับการปรับขึ้นราคาของภาคอุตสาหกรรม เพราะอัตราภาษีปรับในช่วง 2 ปีแรกอยู่ในสัดส่วนไม่มากนัก คิดเป็นราคาเครื่องดื่มไม่ถึง 25 สตางค์ อีกทั้งก่อนที่กฎหมายจะบังคับใช้ ได้หารือร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จึงเชื่อว่าภาคอุตสาหกรรมยังไม่ปรับราคาเครื่องดื่มในช่วงนี้
ทพญ.ปิยะดา กล่าวอีกว่า การเก็บภาษีน้ำหวาน ถือเป็นการส่งสัญญาณ ให้ทุกฝ่ายปรับตัว โดยประชาชนเองก็จะได้รับความรู้หรือสร้างความเข้าใจว่ารัฐบาลตระหนักถึงปัญหาสุขภาพทำให้ต้องมีการเก็บภาษีน้ำหวานจนทำให้หันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น ส่วนภาคอุตสาหกรรมเองก็ใช้เวลาในช่วง 2 ปีนี้ ปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีสัดส่วนปริมาณน้ำตาลไม่มาก
ส่วนการปรับพฤติกรรมผู้บริโภคให้ลดปริมาณน้ำตาลเชื่อว่าเป็นมาตรการในระยะยาว เพราะจาการศึกษาในต่างประเทศพบว่า มาตรการทางด้านภาษีถือเป็นเครื่องมือในการปรับพฤติกรรมผู้บริโภคได้ แต่อัตราภาษีจะต้องสูงไม่น้อยกว่า 20% จึงเชื่อว่า การปรับภาษีจะช่วยปรับพฤติกรรมในระยะยาว เพราะการขึ้นภาษีมีลักษณะขึ้นแบบขั้นบันไดปรับเพิ่มในทุก 2 ปี
ทพญ.ปิยะดา กล่าวว่า ในช่วง 2 ปี จึงถือเป็นช่วงของการเตรียมความพร้อมให้กับทุกฝ่าย เพราะประเทศไทยไม่สามารถที่จะปรับขึ้นภาษีในอัตราสูงครั้งเดียว นอกจากนี้การเก็บภาษีน้ำหวานยังมีเงื่อนไขว่า เครือข่ายไม่กินหวานจะต้องพิสูจน์ให้ได้เช่นกันว่า การเก็บภาษีน้ำตาลช่วยลดพฤติกรรมการบริโภคหวานได้จริง
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอัตราภาษีจะมีการปรับเพิ่มขึ้นลักษณะขั้นบันไดทำให้ในทุก 2 ปีภาษีจะเพิ่มขึ้น และในปี 2566 อาจจะปรับมากถึง 5% ทำให้ภาคอุตสาหกรรมอาจจะจำเป็นต้องปรับราคาสินค้าเพิ่มจนทำให้กระทบกับผู้บริโภค เรื่องนี้ ทพญ.ปิยะดา กล่าวว่า เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ลดปริมาณน้ำตาล และหาแนวทางอื่นๆ ร่วมกันจึงเตรียมทำข้อตกลง (เอ็มโอยู) ระหว่าง เครือข่ายไม่กินหวาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลังและสภาอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความร่วมมือในการหาแนวทางให้ประชาชนลดการบริโภคน้ำตาลลง
ส่วนแนวทางในการขับเคลื่อนของเครือข่ายไม่กินหวานหลังจากนี้ ทพญ.ปิยะดา กล่าวว่า ต้องเดินหน้าในการประเมินผลจากมาตรการภาษีน้ำหวาน โดยที่ผ่านมาได้ติดตามวิจัยพฤติกรรมของประชาชนที่ดื่มชา กาแฟ อย่างใกล้ชิด ซึ่งพบว่า มีการสั่งเมนูหวานน้อยเพิ่มมากขึ้นจากเดิม แต่งานวิจัยและติดตามผลจะต้องเข้มข้นและละเอียดกว่านี้ เพื่อพิสูจน์ให้ภาคอุตสาหกรรมเห็นว่ามาตรการภาษีช่วยปรับพฤติกรรมได้จริง นอกจากนี้ เตรียมจะเสนอให้นำน้ำตาลออกจาผลิตภัณฑ์อาหารเด็กเพื่อลดพฤติกรรมการบริโภคหวานในเด็ก เพราะปัจจุบันพบว่าเด็กไทยติดหวานจนทำให้มีปัญหาโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้น
สำหรับค่าความหวานที่กรมสรรพสามิตแบ่งไว้มีทั้งหมด 6 ระดับดังนี้ คือ 1.ค่าความหวาน 0-6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ไม่ต้องเสียภาษี 2. ค่าความหวาน 6-8 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตรเสียภาษี30 สตางค์ 3.ค่าความหวาน 8-10 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี50 สตางค์ 4.ค่าความหวาน10-14 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตรเสียภาษี 50 สตางค์ต่อลิตร 5.ค่าความหวาน 14-18 กรัมต่อ 100มิลลิลิตร เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร และ 6.ค่าความหวาน 18 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร