ปิดเกม-หยุดแผน นักธุรกิจใหญ่กัมพูชาโผล่! เบื้องหลัง 'บิ๊กตู่' สั่งชะลอโครงการสตึงมนัม?
"...หากพิจารณารายละเอียดข้อมูลทั้งหมด จะพบว่า การดำเนินงานโครงการนี้ มีพัฒนาต่อเนื่องมาเป็นลำดับๆ ขณะที่การผันน้ำและใช้น้ำในฝั่งไทย เป็นข้อมูลที่ถูกระบุไว้ตั้งแต่ต้นแล้วภายใต้เงื่อนไขการเจรจาของทั้ง 2 ฝ่าย ...คำถาม คือ ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เคยรับรู้ หรือได้ยินข้อมูลที่ชัดเจนว่า ความต้องการใช้น้ำ และแหล่งน้ำในประเทศ จากโครงการนี้ มีเพียงพอต่อความต้องใช้ในระยะยาวเลยหรือ? ...ข้อมูลที่กระทรวงเกษตรฯ ยืนยันว่า น้ำมีเพียงพอต่อความต้องการใช้ในช่วง 12 ปีนี้ นั้น ...เพิ่งรับทราบ เพิ่งได้ตัวเลขมา และเพิ่งรายงานให้นายกฯ รับทราบจริงๆ หรือ?..."
"โครงการโรงไฟฟ้าสตึงมนัม ที่ประเทศกัมพูชา ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการชะลอโครงการ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กลับไปศึกษาการบริหารจัดการน้ำที่จะเกิดขึ้น หลังการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าวใหม่อีกครั้ง "
คือ คำยืนยันล่าสุด ของ นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนผลังงาน (สนพ.) ที่ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชย เมื่อวันที่ 6 ก.ย.2560 ที่ผ่านมา
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ปรากฎข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ทุกหน่วยชะลอโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสตึงมนัม ขนาด 24 เมกะวัตต์ ในประเทศกัมพูชาออกไปก่อน เพื่อรอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กลับไปศึกษาการบริหารจัดการน้ำให้เกิดความชัดเจนว่า ความต้องการใช้น้ำ และแหล่งน้ำในประเทศจะมีเพียงพอต่อความต้องใช้ในระยะยาวหรือไม่ หลังกระทรวงเกษตรฯ ระบุว่า น้ำมีเพียงพอต่อความต้องการใช้ในช่วง 12 ปีนี้
และก็เป็น นายประเสริฐ คนเดิม ที่ยืนยันว่า โครงการโรงไฟฟ้าสตึงมนัมที่ถูกสั่งชะลอ ไม่น่าจะเกิดจากความขัดแย้งด้านนโยบาย แต่น่าจะเป็นความไม่ชัดเจนของข้อมูลมากกว่า ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ คงจะต้องศึกษาใช้ชัดว่าต้องการใช้น้ำหรือไม่ ถ้าไม่ต้องการโครงการนี้ก็ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้น และถ้าไม่ดำเนินโครงการนี้ เขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) จะเอาน้ำจากไหนก็ต้องศึกษาให้ชัดด้วย"
ไม่ว่าอะไร คือ เหตุผลสาเหตุสำคัญที่แท้จริง ที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ออกคำสั่งให้กระทรวงเกษตรฯ กลับไปศึกษาการบริหารจัดการน้ำที่จะเกิดขึ้นอีกครั้ง?
แต่มีข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ เป็นความร่วมมือของ 2 ประเทศ ก่อนหน้าที่จะเริ่มต้นโครงการ หน่วยงานที่รับผิดชอบไม่มีการตรวจสอบหารือรายละเอียดข้อมูลที่ชัดเจนก่อนหรือ?
สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลที่มาที่ไปเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการโรงไฟฟ้าสตึงมนัม พบว่า มีจุดเริ่มต้นจากการที่รัฐบาลไทยและกัมพูชา ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างทั้งสองประเทศ เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2543 จากนั้นดูเหมือนเรื่องจะเงียบหายไป
จนกระทั่ง ในช่วงเดือนธ.ค. 2558 โครงการโรงไฟฟ้าสตึงมนัม ถูกปัดฝุ่นขึ้นมาเป็นทางการอีกครั้ง
เมื่อนายกรัฐมนตรีไทย และนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้มีการประชุมหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านพลังงานและการบริหารจัดการน้ำร่วมกันอย่าง บูรณาการ ในการดำเนินงานโครงการโรงไฟฟ้าสตึงมนัม โดยผู้นำสองประเทศได้มีการหารือร่วมกันเรื่องนี้ ในการประชุม Asia Cooperation Dialogue Summit ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9 ต.ค.2559 ซึ่งทั้งสองฝ่ายยินดีสนับสนุนการพัฒนาโครงการสตึงมนัม เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนทั้ง 2 ประเทศ
ต่อมาเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2559 สถานเอกอัครราชฑูต ณ กรุงพนมเปญ รายงานว่า ผู้บัญชาการทหารบกได้เข้าเยี่ยมคารวะ นายกรัฐมนตรีกัมพูชา โดยนายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวถึงโครงการโรงไฟฟ้าสตึงมนัม ว่า เป็นการตั้งโรงงานไฟฟ้าในไทย และการผันน้ำและใช้น้ำในฝั่งไทย และมีข้อสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกัมพูชา เห็นชอบให้ตั้งโรงไฟฟ้าในฝั่งไทย และผันน้ำให้ผ่ายไทยใช้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
จากนั้น เมื่อวันที่ 9 ม.ค.2560 กระทรวงเหมืองแร่และพลังงานของกัมพูชา มีหนังสือถึงกระทรวงพลังงานของไทย แจ้งว่ารัฐบาลกัมพูชา ได้ให้สิทธิบริษัท Steung Meteuk Hydropower จำกัด (SMH) ในการทำ Feasibility Study เพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าสตึงมนัม
ขณะที่ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการประชุมครั้งที่ 1 /2560 (ครั้งที่ 11) เมื่อวันที่ 17 ก.พ.2560 มีมติรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการโรงไฟฟ้าสตึงมนัม และมอบหมายให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมทรัพยากรน้ำ และกรมชลประทาน รับไปเตรียมการวางแผนการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการนำน้ำจากโครงการโรงไฟฟ้าสตึงมนัมไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยให้ประสานงานกับกระทรวงพลังงานในส่วนที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอนต่อไป
เบื้องต้น กระทรวงพลังงาน โดยคณะทำงานศึกษาแนวทางการผันน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 2 มี.ค.2560 เพื่อพิจารณาข้อเสนอทางเลือกเกี่ยวกับความเป็นไปได้ ในพื้นที่ตั้งโครงการและการนำน้ำจากโครงการโรงไฟฟ้าสตึงมนัมมาใช้ประโยชน์ (ดูรายละเอียดในตาราง)
ทั้งนี้ คณะทำงานศึกษาแนวทางการผันน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้พิจารณาแล้วเห็นในหลักการว่า ทางเลือกที่ 1 (โรงไฟฟ้าตั้งอยู่ฝั่งกัมพูชา) เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด โดยจะสามารถผันน้ำ 300 ล้านลูกบาศก์เมตร (ยกเว้นฤดูฝน) โดยโรงไฟฟ้ามีกำลังผลิตติดตั้ง 24 เมกะวัตต์ พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ต่อปี 105.6 ล้านหน่วย
จากนั้น กระทรวงพลังงาน ได้ทำหนังสือถึงรัฐบาลกัมพูชา ลงวันที่ 12 เม.ย.2560 เสนอทางเลือกที่ 1 ซึ่งโรงไฟฟ้าอยู่ฝั่งกัมพูชา และทางกัมพูชาจะไม่คิดค่าน้ำ
รวมทั้งมอบหมายให้ บริษัท กฟผ.อินเตอร์ เนชั่นแนลจำกัด สามารถร่วมพัฒนาโครงการกับ บริษัท Steung Meteuk Hydropower จำกัด (SMH)
ต่อมาคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 1 /2560 เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2560 ประธานฯ ได้สั่งการให้หาแนวทางที่สามารถนำน้ำจากโครงการโรงไฟฟ้าสตึงมนัม มาใช้ประโยชน์ให้ถึงพื้นที่จังหวัดชลบุรี และมีมติมอบหมาย ดังนี้
-ให้กรมทรัพยากรน้ำเป็นเจ้าภาพหลักในการกำหนดแนวทางการผันน้ำจากเขื่อนสตึงมนัม ให้เหมาะสมเพื่อรองรับการดำเนินงานภายใต้แผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกและเขตเศรษฐกิจพิเศษ
-ให้กรมชลประทาน วางแผนการใช้น้ำและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำของอ่างเก็บน้ำเพื่อใช้น้ำในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
-ให้กรมทรัพยากรน้ำและกรมชลประทาน ประสานงานกับกระทรวงพลังงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง และรายงานความคืบหน้าให้ กนช.ทราบต่อไป ปัจจุบัน กพช. มีมติรับทราบร่างการลงนามความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการลงนามในสัญญาใดๆ ระหว่างสองประเทศ
ทั้งหมดนี่ คือ ข้อมูลความเป็นมาเบื้องหน้าเบื้องหลังโครงการโรงไฟฟ้าสตึงมนัม ที่สำนักข่าวอิศรา สืบค้นพบ
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณารายละเอียดข้อมูลทั้งหมด จะพบว่า การดำเนินงานโครงการนี้ มีพัฒนาต่อเนื่องมาเป็นลำดับๆ
ขณะที่การผันน้ำและใช้น้ำในฝั่งไทย เป็นข้อมูลที่ถูกระบุไว้ตั้งแต่ต้นแล้วภายใต้เงื่อนไขการเจรจาของทั้ง 2 ฝ่าย
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กนช. ยังได้มอบมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรฯ ไปศึกษาวางแผนการใช้น้ำ อย่างเป็นทางการด้วย
คำถาม คือ ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เคยรับรู้ หรือได้ยินข้อมูลที่ชัดเจนว่า ความต้องการใช้น้ำ และแหล่งน้ำในประเทศ จากโครงการนี้ มีเพียงพอต่อความต้องใช้ในระยะยาวเลยหรือ?
ข้อมูลที่กระทรวงเกษตรฯ ยืนยันว่า น้ำมีเพียงพอต่อความต้องการใช้ในช่วง 12 ปีนี้ นั้น กระทรวงเกษตรฯ เพิ่งรับทราบ เพิ่งได้ตัวเลขมา และเพิ่งรายงานให้นายกฯ รับทราบจริงๆ หรือ?
ทั้งที่ ข้อมูลเรื่องน้ำของประเทศ ถือเป็นข้อมูลสำคัญพื้นฐานที่ผู้นำประเทศ ต้องมีอยู่ในมือ เพื่อนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจในการบริหารงานตามนโยบายหรือโครงการสำคัญๆ ในอนาคตอยู่แล้ว
เพราะในข้อเท็จจริง เกี่ยวกับเรื่องความต้องการใช้น้ำของประเทศ ควรจะมีการพูดถึงหรือตรวจสอบข้อมูลตั้งแต่ช่วงแรก ที่ทางกัมพูชา ยื่นข้อเสนอให้มีการตั้งโรงงานไฟฟ้าในไทย และผันน้ำให้ฝ่ายไทยใช้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแล้วไม่ใช่หรือ?
ทำไมนายกฯ เพิ่งรู้ หรือความสำคัญประเด็นเรื่องการผันน้ำจากโครงการ ในช่วงเวลาก่อนหน้าที่จะมีการลงนามในสัญญาเพียงไม่กี่วันแบบนี้
เมื่อมีคำถาม แต่ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร ที่ภายหลังจากที่นายกฯ สั่งชะลอโครงการ โดยให้เหตุผล ต้องการให้กระทรวงเกษตรฯ กลับไปศึกษาการบริหารจัดการน้ำที่จะเกิดขึ้นหลังโครงการอีกครั้งก่อน
จึงยิ่งทำให้ใครหลายคนในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เหตุผลลึกๆ จริงๆ ที่มาการสั่งชะลอโครงการนี้ น่าจะเป็นเพราะนายกฯ ไปรับรู้รับทราบข้อมูลสำคัญบางประการ เกี่ยวกับเบื้องหลังการดำเนินงานโครงการนี้ ทั้งหมดแล้ว โดยเฉพาะความไม่ชอบมาพากล ของคนบางกลุ่ม
โดยเฉพาะข้อมูลที่ว่า มีกลุ่มบุคคลที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด กับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงานเข้าไปเกี่ยวข้องในโครงการ โดยไปจับมือกับนักธุรกิจชาวกัมพูชารายหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอดีตนักการเมืองในไทยรายหนึ่ง และเป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างมากในกัมพูชา เพื่อเร่งรัดผลักดันโครงการนี้ให้เกิดขึ้นให้ได้
เนื่องจากภายใต้แผนการดำเนินงานโครงการนี้ มีการระบุถึงเรื่องการลงทุนทำโครงการวางท่อเพื่อผันน้ำมาทางฝั่งตะวันออกที่ใช้เม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาล ซึ่งมีการระบุตัวให้เอกชนรายหนึ่ง เตรียมที่จะเข้ามารับงานนี้เอาไว้ด้วย ขณะที่คนในรัฐบาลกัมพูชา ก็ดูเหมือนจะรับรู้รับทราบข้อมูลเรื่องนี้เป็นอย่างดี และไฟเขียวปล่อยให้ดำเนินการต่อ
และนั้นเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ยินยอมให้ถูกหลอกง่ายๆ หรือปล่อยให้ปัญหาข้อมูลเรื่องนี้ หลุดรอดผ่านพ้นสายตาไป
จึงต้องหาทางเข้ามาสะสางแก้ไขปัญหาโดยทันที เพื่อทำให้โครงการยุติไป หรือถ้าจำเป็นต้องทำ ก็ต้องเกิดขึ้นอย่างถูกต้องเรียบร้อย โดยยึดถือผลประโยชน์ของประชาชน ประเทศชาติเป็นเป้าหมายสูงสุดอันดับแรก
โดยใช้กระทรวงเกษตรฯ เป็นเครื่องมือ ในการตัดสินชี้ขาดอนาคตโครงการนี้ โดยเฉพาะโครงการวางท่อผันน้ำมาทางภาคตะวันออก
ทั้งหมด นี่คือ ข้อมูลวงในกลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับโครงการโรงไฟฟ้าสตึงมนัม ที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์กันหลังจากที่พล.อ.ประยุทธ์ สั่งชะลอการดำเนินงานไปแล้ว
ส่วนข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรนั้น เป็นเรื่องสำคัญที่สาธารณชนจะต้องรวมกันค้นหาความจริงกันต่อไป
ขณะที่บุคคลที่จะตอบคำถามเรื่องนี้ได้ดีที่สุด ก็คงไม่ใช่ใครอื่น นอกจากพล.อ.ประยุทธ์ แต่เพียงผู้เดียว
เพราะข้อมูลทั้งหมดล้วนอยู่ในมือแล้ว!
อ่านประกอบ:
ไขที่มารวมสัญญาซื้อขายไฟ2ฉ.-ปริศนาไอ้โม่งรับปย.สตึงนัมกัมพูชา-วัดใจ 'บิ๊กตู่'เช็คบิล