นพ.ประเวศ หนุนสสส.-สช.-สปสช. จับมือตั้ง ‘ศูนย์สนับสนุนการปฏิรูป’ สร้างสุขภาพดี
‘ประเวศ วะสี’ ชี้สร้างสุขภาพไทยอีก 10 ปีข้างหน้า ต้องส่งเสริม ปชช. สร้างสุขภาพดี หลังพบ รพ.รัฐ แบกรับผู้ป่วยมาก คุณภาพแย่ เกิดความขัดแย้ง ระบุปัจจัยหนุนเสริม 80% อยู่นอกแวดวงสาธารณสุข ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ปัญหาสำคัญ บั่นทอน เสนอ สช.-สสส.-สปสช. ร่วมกันตั้ง ‘ศูนย์สนับสนุนการปฏิรูป’ ทำงานตีคู่คณะปฏิรูป 11 ด้าน เชื่อคล่องตัวกว่า ด้านเลขาธิการ สช. น้อมรับแนวคิด พร้อมเป็นฐานสนับสนุน
วันที่ 19 ก.ย. 2560 สำนักงานคณะกรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดงาน 10 ปี สช. สานพลังปัญญา สร้างสรรค์นโยบายสาธารณะ ณ ศูนย์การประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรุงเทพฯ
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ระบบสุขภาพไทยในทศวรรษหน้า ใจความตอนหนึ่งระบุถึงปัญหาระบบสุขภาพของไทยว่า ปัจจุบันพบ รพ.รัฐ มีผู้ป่วยแน่นเกิน ขณะที่แพทย์และพยาบาล รับภาระหนัก คุณภาพไม่ดี จนทำให้นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างคนไข้ ญาติคนไข้ และแพทย์ พยาบาล รวมถึงโรงพยาบาลได้รับงบประมาณไม่เพียงพอด้วย
“การจะลดปัญหาข้างต้นได้นั้น จะต้องทำให้ประชาชนมีสุขภาพเจ็บป่วยน้อยลง โดยสนับสนุนให้เกิดการสร้างสุขภาพที่ดี แต่ที่ผ่านมาเรามักสนใจเฉพาะการรักษาสุขภาพเสีย หลายโรงพยาบาลนิยมสร้างตึกรองรับผู้ป่วยขนาดใหญ่” ราษฎรอาวุโส กล่าว และว่า การสร้างสุขภาพที่ดีนั้น ต้องใช้หลัก “สร้างนำซ่อม” ทำอย่างไรให้ประชาชนหันมาสนใจ ดังนั้น การปฏิรูประบบสุขภาพต้องเริ่มต้นจากการตั้งรับ
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ กล่าวถึงปัจจัยที่กำหนดให้เกิดสุขภาพที่ดี พบกว่าร้อยละ 80 อยู่นอกแวดวงการสาธารณสุข เช่น ด้านเศรษฐกิจ การศึกษา สิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะ “ความเหลื่อมล้ำ” มีงานวิจัยว่า ความเหลื่อมล้ำจะไปสู่ปัญหาสุขภาพและสังคม ซึ่งประเทศไทยเกิดปัญหานี้มากที่สุด นโยบายสาธารณะจึงมีความสำคัญในการแก้ไขปัญหา มิฉะนั้นจะส่งผลกระทบทั้งหมด
ด้วยเหตุนี้จึงต้องจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ขึ้นมาขับเคลื่อน เพราะจะหวังพึ่งพาเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทำงานในแวดวงสาธารณสุขไม่ได้ และทุกวันนี้พบยังมีความเข้าใจน้อย เห็นได้จาก รัฐบาลและสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้ามาตรวจสอบ สสส. และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยระบุไม่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ทั้งที่ความจริงเกี่ยวข้องทุกเรื่อง แต่เข้าใจได้ว่าเรื่องทั้งหมดนี้เข้าใจยาก จึงไม่ต้องการตำหนิอะไร
ทั้งนี้ ราษฎรอาวุโสได้ให้ใช้กระแสปฏิรูปประเทศขณะนี้เป็นโอกาสสำหรับ สช. สสส. และสปสช. ในการร่วมกันจัดตั้ง “ศูนย์สนับสนุนการปฏิรูป” เพื่อถือโอกาสทำความเข้าใจ และขับเคลื่อนการปฏิรูปทั้งหมดไปสู่การสร้างสุขภาพที่ดี ซึ่งจะมีความคล่องตัว และไร้ข้อจำกัด ภายใต้หลักการ “ยุทธศาสตร์ก้าวข้ามข้อจำกัด” มากกว่าคณะกรรมการปฏิรูป 11 ด้าน ที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นมาอย่างเป็นทางการ
ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า 10 ปีที่ผ่านมา ถึงเวลาต้องประเมินว่า มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ทั้ง 73 มตินั้น มีการขับเคลื่อนที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะพบว่า มีบางเรื่องขับเคลื่อนได้ดี แต่ยังมีบางเรื่องไม่นำไปสู่การกำหนดนโยบายสาธารณะได้เลย เช่น กรณีการยกเลิกการใช้แร่ใยหิน แม้จะมีมติ ครม. แต่ยังติดขัดปัญหาในหลายกระทรวงที่ยังไม่มีความเข้าใจ ดังนั้น อาจถึงเวลาแล้วที่ ครม.ต้องกำหนดให้ทุกกระทรวงมอบหมายหน้าที่ให้ผู้บริหารระดับสูงอย่างน้อย 1 คน ทำหน้าที่ประสานงานกับกลไกของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เชื่อจะเป็นทางออกที่ดี
ขณะที่นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการ สช. กล่าวถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง ‘ศูนย์สนับสนุนการปฏิรูป’ ตามแนวคิด ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ว่า อยู่ในวิสัยทัศน์ และยินดีน้อมรับ ซึ่งต้องปรึกษาหารือในรายละเอียด เพราะต้องอาศัยกระแสปฏิรูปประเทศที่มีมากในช่วงนี้ ภายใต้กลไกต่าง ๆ เช่น รัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 ดังนั้น ศูนย์แห่งนี้จึงทำหน้าที่เป็นฐานสนับสนุนการขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ