คำชี้แจงกรณีร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 61 ว่าชอบด้วย รธน.ยังไม่สิ้นกระแสความ
ตามที่ท่านเลขาธิการวุฒิสภาได้มีหนังสือที่ สว. (สนช) 0014/พิเศษลงวันที่ 15 ก.ย. 2560....ชี้แจงมาที่สำนักข่าวอิศราในบทความที่เป็นข้อทักท้วงของผมเรื่องการมีมลทินในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 ว่ามีข้อผิดพลาดในวาระที่สองและสาม
เพราะท่านประธาน สนช.ไม่ให้เลขาธิการวุฒิสภาอ่านและลงมติมาตราที่กรรมาธิการไม่มีการแก้ไข โดยให้อ่านและลงมติเฉพาะมาตราที่กรรมาธิการมีการแก้ไขเท่านั้นและผ่านไปลงมติในวาระที่สามเพื่อให้เป็นกฎหมายได้ ซึ่งจะเป็นผลให้การลงมติในวาระที่สามผิดพลาดตามมาด้วยนั้นและจะเป็นมลทินในต้นฉบับกฎหมายที่แท้จริงดังที่เกิดขึ้นแล้วในกฎหมายงบประมาณรายจ่ายปี 2560 ที่สภาแห่งนี้ได้ตัดลดรายจ่ายตามข้อผูกพันที่เป็นการกระทำขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญและยังมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะนี้
ความจริงแล้วผมได้ทักท้วงและมีข้อเสนอแนะการกระทำที่ผิดพลาดข้อบังคับข้อ 122 และ 128 ต่อท่านศาสตราจารย์พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ที่เป็นผู้ควบคุมดูแลให้มีการปฏิบัติตามข้อบังคับโดยตรง มิได้ก้าวล่วงไปถึงท่านเลขาธิการวุฒิสภาแต่อย่างใดเลยเพราะทราบดีว่าเลขาธิการวุฒิสภาต้องปฏิบัติตามคำสั่งของประธานสภา
แต่เมื่อท่านเลขาธิการวุฒิสภาได้ชี้แจงมาว่าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 ได้เป็นไปโดยชอบตามข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ.2560 ข้อ 122 ประกอบข้อ 75 ที่กำหนดว่าทำได้ตามข้อนี้จึงขอให้ท่านพิจารณาข้อ 75 ที่อ้างมาและได้กำหนดไว้ ดังนี้
“ญัตติใดไม่มีผู้คัดค้าน ให้ประธานถามที่ประชุมสภาว่ามีผู้คัดค้านเป็นอย่างอื่นหรือไม่ เมื่อไม่มีผู้เห็นเป็นอย่างอื่น หรือเป็นการพิจารณาญัตติที่เป็นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือเป็นร่างพระราชบัญญัติในวาระที่สองโดยคณะกรรมาธิการไม่มีการแก้ไข ให้ถือว่าที่ประชุมเห็นชอบด้วยกับญัตตินั้น”
จะเห็นได้ว่าข้อบังคับใช้คำว่า “....ร่างพระราชบัญญัติในวาระที่สองโดยกรรมาธิการไม่มีการแก้ไข....” ฉะนั้นจะเข้าเงื่อนไขตามข้อ 75 นี้จะต้องเป็นร่างพระราชบัญญัติทั้งฉบับที่คณะกรรมาธิการไม่มีการแก้ไขเลย จึงจะถือว่าที่ประชุมเห็นชอบกับญัตตินั้นได้ แต่ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 มีทั้งมาตราที่คณะกรรมาธิการไม่มีการแก้ไข 6 มาตราและที่กรรมาธิการแก้ไขถึง 58 มาตรา จึงไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ถือว่าที่ประชุมเห็นชอบด้วยกับญัตตินั้น กรณีนี้จึงต้องดำเนินการพิจารณาและลงมติตามข้อ 122 กล่าวคือจะต้องพิจารณาและลงมติเรียงลำดับทุกมาตราจนจบร่าง
ในสมัยที่ผมเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยเต็มสมัยไม่เต็มสมัยบ้าง เคยเป็นกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุมสภาที่ใช้เป็นบรรทัดฐานต่อมาของข้อบังคับทุกฉบับจนถึงฉบับ 2560 กล่าวโดยเฉพาะในข้อ 122 และข้อ 75 ท่านประธานสภาทุกท่านจะให้เลขาธิการสภาอ่านและลงมติทุกมาตราที่คณะกรรมาธิการมีการแก้ไขและไม่การแก้ไขเรียงลำดับจนจบร่างแล้วจึงลงมติในวาระที่สาม ที่ผมและสมาชิกสภาทุกท่านได้ลงมติเห็นชอบ ไม่เห็นชอบ หรืองดออกเสียงทุกมาตราจนจบร่าง ข้อเท็จจริงนี้หาดูเพื่อเป็นกรณีศึกษาได้ที่สภานี้
ส่วนมาตรา 75 ก็นำมาใช้เฉพาะร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการไม่มีการแก้ไขทั้งฉบับดังที่กล่าวมาแล้วเท่านั้น ซึ่งนานๆจะมีครั้งหนึ่ง
อนึ่ง ท่านประธานสภาได้ให้เลขาธิการวุฒิสภาชี้แจงข้างต้นแล้ว ท่านประธานสภา สนช.ได้โปรดชี้แจงถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญได้แปรญัตติลดตัดทอนรายจ่ายตามข้อผูกพันในมาตรา 57 คือ 1 ต้นเงินกู้ 2 ดอกเบี้ยเงินกู้ และต่อมาสภา สนช.ชุดนี้ในวันที่ท่านเป็นประธานการประชุมร่างพ.ร.บ.งบปี 2560 ได้เห็นชอบที่คณะกรรมาธิการมีการแก้ไขตัดทอนรายจ่ายตามข้อผูกพันที่รัฐธรรมนูญมาตรา 144 และของทุกฉบับห้ามแปรญัตติตัดทอนรายจ่ายในลักษณะนี้ไว้อย่างเด็ดขาดและคณะรัฐมนตรีชุดนี้ยังได้อนุมัติให้นำรายจ่ายจำนวนที่ตัดที่กระทำไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญนี้ไปจัดสรรเพิ่มงบกลางรายการ “เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินจำเป็น” และของส่วนราชการอื่นๆ จึงเป็นมลทินในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 มาจนถึงปัจจุบันและแม้งบประมาณปี 2560 จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2560 นี้ แต่ความผิดที่ฝ่าฝืนตามมาตรา 144 นี้ ยังไม่สิ้นสุดตามไปด้วย เพราะมีระยะเวลาต้องรับผิด 20 ปี และเป็นความผิดติดตัวผู้กระทำผิดทุกคนไปด้วย โดยเฉพาะท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะไม่มีความสง่างามที่จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกเพราะได้กระทำผิดรัฐธรรมนูญ
ท่านประธานสภา สนช. ศาสตราจารย์พรเพชร วิชิตชลชัย โปรดชี้แจงเพื่อคณะรัฐมนตรีและสาธารณชนทราบด้วยว่าการกระทำดังกล่าวนั้นขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ครับ
หมายเหตุ : ภาพประกอบจากสำนักข่าวไทย