ไม่มีใครหนีโกงพ้น-หมดอำนาจโดนแน่!‘บิ๊กต๊อก’ แนะแก้ กม.-เน้นป้องกันตัดวงจรทุจริต
“คนมักพูดเสมอว่า คนทำเลวไม่เห็นเป็นอะไร คนทำดีไม่ได้ผลดีอะไร เรื่องแบบนี้ต้องใช้เวลา อย่างน้อยคนทำเลวต้องอยู่อย่างหวาดผวาตลอดเวลา คนโกงแผ่นดินไม่เคยเห็นได้ดีสักคน ไม่ว่ารัฐบาลใด คนชั่วไม่มีทางหลุดพ้นจากกระบวนการยุติธรรมได้ แต่ต้องให้เวลา ไม่มีใครหลุดพ้นการทุจริตได้ ถ้าหมดอำนาจเมื่อไร ยังไงก็ต้องโดน หนีไม่พ้นแน่”
ในงานลงนามเพื่อทำข้อตกลงความร่วมมือกัน (MOU) ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และองค์กรรัฐวิสาหกิจ ตามแผนยุทธศาสตร์ป้องกันและปราบปรามการทุจริตระยะที่ 3 (พ.ศ.2560-2564) ที่โรงแรมริชมอนด์สไตล์ลิช คอนเวนชั่น ถ.รัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี นั้น
นอกเหนือจากงานเสวนาและอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ด้านการพัฒนาและยกระดับคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ที่มีการเชิญบุคลากรชั้นนำจากสำนักงาน ป.ป.ช. และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เพื่อถกเถียงถึงปัญหาความไม่ชอบมาพากล และการอุดรูรั่วภายในองค์กรรัฐวิสาหกิจแล้วนั้น (อ่านประกอบ : รัฐวิสาหกิจทุจริต3.5%แต่เสียหายสูง!ป.ป.ช.แย้ม จนท.ระดับล่างเตรียมยื่นทรัพย์สิน)
สำนักงาน ป.ป.ช. ยังเรียนเชิญ ‘บิ๊กต๊อก’ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ที่มาคราวนี้ในฐานะ ‘องคมนตรี’ มิใช่ในตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม อย่างที่คุ้นเคยกันก่อนหน้านี้
อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่า บทบาทของ พล.อ.ไพบูลย์ ก่อนหน้านี้ คือ ประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช. คนละส่วนกับคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ หรือ คตร. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานฯ) โดย ศอตช. ประกอบด้วยองค์กรอิสระ และหน่วยงานปราบปรามการทุจริตในประเทศ เช่น ป.ป.ช. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ทำหน้าที่รวบรวม-ไต่สวนข้อเท็จจริง-สะสางคดีคอร์รัปชั่นต่าง ๆ รวมถึงรวบรวมรายชื่อข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกร้องเรียน ส่งให้ ‘บิ๊กตู่’ เซ็นคำสั่งหัวหน้า คสช. งัด ม.44 มาพักงานไปหลายฉบับ มีคนโดนไปแล้วหลายร้อยราย
ในงานคราวนี้ ‘บิ๊กต๊อก’ ปาฐกถาพิเศษ ‘ธรรมาภิบาลกับการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจ’ ให้เจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจฟังนานกว่า 1 ชั่วโมง แนะนำประสบการณ์สมัยเป็นประธาน ศอตช. ว่า ภาครัฐควรดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างไร แบบไหนบ้าง ควรมองความเป็นจริงของสังคมไทยเป็นหลัก มากกว่ายึดติดกับทฤษฎี
นอกจากนี้ยังเล่าบางฉากถึง ‘เบื้องลึกเบื้องหลัง’ บางคดีที่เคยทำสมัยเป็นประธาน ศอตช. ยกตัวอย่าง คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้สินเชื่อให้เครือกฤษดามหานครโดยทุจริต (คนละคดีกับคดีฟอกเงินที่กำลังถูกตรวจสอบอยู่ขณะนี้) ที่พบว่า จำเลยบางรายเป็นแค่พนักงานระดับปฏิบัติ หรือระดับล่าง แต่ต้องมาติดร่างแหไปด้วย
ครั้งหนึ่งเคยนำเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ทราบถึงผลคดีดังกล่าว ‘บิ๊กตู่’ ถึงกับเปรยว่า “เขา (พนักงานระดับปฏิบัติ) เป็นแค่คนเล็กคนน้อย ถ้าฝ่ายบริหาร หรือนักการเมืองไม่สั่งให้ทำ เขาก็คงไม่ทำ เราจะช่วยเขาหรือไม่” แต่ ‘บิ๊กต๊อก’ ยืนยันว่า แม้จะเป็นพนักงานระดับล่างก็ตาม แต่ก็มีส่วนเกี่ยวข้องในการทุจริต ดังนั้นจึงนำไปสู่ว่า ถ้าข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่รัฐระดับล่าง ถูกฝ่ายการเมือง หรือฝ่ายบริหารสั่งการมาให้ทำเรื่องทุจริต จะปฏิเสธอย่างไร สมควรต้องทำตามหรือไม่
“ทุกคนรู้ดีถึงปัญหาทุจริตประเทศไทยว่า บั่นทอนบ้านเมืองแค่ไหน การทุจริตเกิดจากหน่วยงานรัฐเป็นสำคัญ ไม่อยากโทษภาคเอกชนเท่าใด ยิ่งถ้ารัฐบาลทำเองก็ไม่ต้องพูดอะไรกัน การปราบทุจริตเหมือนยาเสพติด หรือฟอกเงิน ไม่สามารถใช้นโยบายปราบปรามอย่างเดียวได้ แต่นโยบายป้องกันเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ต้องอุดช่องไม่ให้เกิดทุจริต เพราะถ้าโกงไปแสนล้านบาทแล้ว จะไปเอาคืนมาอย่างไร”
พล.อ.ไพบูลย์ ยังเน้นย้ำให้เห็นอีกว่า การคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นมานั้น ประการสำคัญคือทำให้ขั้นตอนพัฒนาประเทศสะดุด จึงต้องวางระบบป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริต ถ้าป้องกันไม่ได้ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร แม้การป้องกันและปราบทุจริตมีหน่วยงานมากมาย อย่างโครงสร้าง ป.ป.ช. เขียนไว้สมบูรณ์มาก แต่ถูกนำมาใช้ไม่รู้ถึง 10% หรือไม่ ทำให้ ป.ป.ช. และรัฐบาลถูกวิจารณ์ว่าทำงานช้า ถึง 3-4 ปีที่ผ่านมา ป.ป.ช. จะทำงานหนักมาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เชื่อปัญหาทุจริตจะดีขึ้น ต้องใช้เวลา และใช้ความกล้าหาญของผู้บริหารให้มากกว่านี้
ปัญหาสำคัญที่ ‘บิ๊กต๊อก’ ต้องการให้ภาครัฐ-รัฐวิสาหกิจดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อแก้ไขเรื่องคอร์รัปชั่นคือ การแก้ไขกฏหมายให้มีความสอดคล้องกับความเป็นจริง
“ทุกวันนี้หน่วยงานที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดคือท้องถิ่น เพราะระเบียบใหญ่ที่นำไปใช้กับท้องถิ่นไม่สอดคล้องกัน จึงควรแก้ไข ไม่อย่างนั้นผู้บริหารท้องถิ่นติดคุกกันหมด อย่าไปมองว่า ท้องถิ่นทุจริตมากที่สุด ขอให้มองด้วยว่า ท้องถิ่นเจอปัญหาอะไรบ้าง จึงต้องแก้ปัญหาให้ท้องถิ่น ไม่ใช่ให้ไปยุบท้องถิ่น”
ก่อนจะปิดท้ายว่า “คนมักพูดเสมอว่า คนทำเลวไม่เห็นเป็นอะไร คนทำดีไม่ได้ผลดีอะไร เรื่องแบบนี้ต้องใช้เวลา อย่างน้อยคนทำเลวต้องอยู่อย่างหวาดผวาตลอดเวลา คนโกงแผ่นดินไม่เคยเห็นได้ดีสักคน ไม่ว่ารัฐบาลใด คนชั่วไม่มีทางหลุดพ้นจากกระบวนการยุติธรรมได้ แต่ต้องให้เวลา ไม่มีใครหลุดพ้นการทุจริตได้ ถ้าหมดอำนาจเมื่อไร ยังไงก็ต้องโดน หนีไม่พ้นแน่”
นี่คือ ‘วาทะ’ สำคัญจากปากอดีตรัฐมนตรีที่คลุกคลีกับการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นในช่วงรัฐบาล คสช. เรืองอำนาจ ก่อนจะได้รับการโปรดเกล้าฯเป็นองคมนตรีในเวลาต่อมา
แม้ว่าในช่วงนั่งเก้าอี้ประธาน ศอตช. จะยังมีบางคดีที่ยัง ‘ไม่เคลียร์’ หรือ ‘ค้านสายตาประชาชน’ เช่น กรณีกองทัพบกดำเนินการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ หรือกรณีการขุดลอกแหล่งน้ำทั่วประเทศที่ดำเนินการโดยองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) ก็ตาม ?