เวที “เสียงเล็กๆ จากเด็กถูกเท”พบเยาวชนอยู่ในภาวะเปราะบาง 3.17 ล้านคน
สสส.-พม.-ยูเอ็นเอฟพีเอ-จุฬาฯ เปิดเวทีรับฟัง “เสียงเล็กๆ จากเด็กถูกเท” พบเด็กเยาวชนภาวะเปราะบาง 3.17 ล้านคน “ยากจนพิเศษ-ไร้สัญชาติ-เร่ร่อน-ลูกแรงงานต่างด้าว--แม่วัยใส-ต้องคดี-บกพร่องการเรียนรู้” ขณะที่ 5 ข้อเสนอ พาเด็กเยาวชนให้หลุดพ้นภาวะเปราะบาง แนะพัฒนาระบบฐานข้อมูลและระบบความคุ้มครองทางสังคม
เมื่อวันที่ 18 ก.ย. ที่โรงแรมปริ้นพาเลซ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNFPA) และศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ‘เสียงเล็ก ๆ จากเด็กถูกเท’ พาเด็กและเยาวชนให้หลุดพ้นภาวะเปราะบาง โดยมีพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็น ซึ่งมีเครือข่ายเด็ก เยาวชนที่เผชิญภาวะเปราะบาง เข้าร่วมกว่า 150 คน
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า รัฐบาลวางยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไว้ 6 ด้านคือการสร้างความมั่นคงประเทศ การพัฒนาศักยภาพทางการแข่งขัน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ลดความเหลื่อมล้ำ คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และประสิทธิภาพในการบริหาร ซึ่งต้องสร้างความเข้มแข็งจากภายในโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อย่างไรก็ตามจากข้อมูลศูนย์รับแจ้งเหตุของกระทรวงพม. 1300 พบว่าในจำนวนคนแจ้งเหตุ 30,000 คน มีเด็กเยาวชนกลุ่มเปราะบาง 20,000 คน ซึ่งครอบครัวมีส่วนสำคัญ ถ้าพ่อแม่ไม่มีเวลา ไม่เคยกอดลูก ผลก็จะมาสู่สังคม ประเทศจะมั่นคงไม่ได้ถ้าไม่ได้มาจากครอบครัวที่มั่นคง เป็นเรื่องเล็กๆแต่ยิ่งใหญ่มาก ไม่ควรตายเพราะขาดรักจากครอบครัว การทำลายความรักในครอบครัวเป็นแผลที่ยิ่งใหญ่มาก จึงเป็นเสียงที่ผู้ใหญ่ต้องฟังเพื่อให้เด็กมีที่ยืน
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สถานการณ์เด็กเยาวชนภาวะเปราะบางในปัจจุบัน พบว่า มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 3.17 ล้านคน ประกอบด้วย กลุ่มเด็กเยาวชนที่มีความต้องการพิเศษทางการเรียนรู้ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 10%ของจำนวนประชากรเด็กไทย โดยยังขาดการส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้และอาชีพรองรับ กลุ่มเด็กยากจนพิเศษ จำนวน 476,000 คน ลูกแรงงานต่างด้าว 250,000 คน เมื่อประเทศได้จัดระบบแรงงานต่างด้าวด้วยการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก็ต้องคิดถึงสิทธิสวัสดิการทางการศึกษาแก่คนกลุ่มนี้ไว้รองรับ กลุ่มเด็กไร้สัญชาติ ราว 200,000 คน ที่เผชิญกับปัญหารอยต่อทางการศึกษา แม่วัยรุ่น ที่มีอยู่ 104,289 คน โดยพบว่าเด็กแรกเกิดของไทย 15% มาจากแม่วัยรุ่น ทำอย่างไรจะทำให้เด็กที่เกิดใหม่เหล่านี้เติบโตอย่างมีคุณภาพ รวมถึงกลุ่มเด็กเยาวชนที่ถูกดำเนินคดี 33,121 คน ที่ 68% มาจากครอบครัวที่พ่อแม่แยกทาง และส่วนใหญ่หลุดจากระบบการศึกษา
ดร.สุปรีดา กล่าวถึงการทำงานของสสส.ในเด็กและเยาวชนที่เผชิญภาวะเปราะบางจึงเน้นทำงานเชิงวิชาการเพื่อสังเคราะห์นโยบายและแนวทางการจัดการที่เอื้อให้เกิดการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาวะที่ดี ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเพื่อถอดบทเรียนการทำงาน และมองหาแนวทางเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเน้นการเชื่อมโยงเครือข่ายภาคนโยบาย ภาครัฐ ภาคประชาสังคม และคนทำงานในพื้นที่ เพราะการแก้ไขปัญหาเด็กเยาวชน รวมถึงครอบครัวที่เผชิญภาวะเปราะบางทางสังคม ต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่ายร่วมสนับสนุน
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงข้อเสนอจากเวทีแลกเปลี่ยนเด็กเยาวชนที่เผชิญภาวะเปราะบาง จาก 4 ภูมิภาค จำนวน 35 เครือข่าย พบว่า
1. ต้องมีการจัดทำระบบฐานข้อมูลเด็กและเยาวชนภาวะเปราะบางในระดับพื้นที่ เพื่อนำสู่การวางทิศทางแก้ปัญหา โดยร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ในการประสานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งใกล้ชิดกับคนในพื้นที่มากที่สุด
2. การพัฒนาระบบความคุ้มครองทางสังคมสำหรับเด็กเยาวชนภาวะเปราะบาง เพื่อเป็น“ตัวช่วยภาครัฐ” โดยดึงความร่วมมือจากภาคประชาสังคมที่ทำงานอยู่ ดึงทุนจากภาคเอกชน โดยแชร์ข้อมูล แชร์บุคลากร เพื่อเป็นตัวช่วยการทำงานของศูนย์ชุมชนคุ้มครองเด็ก รวมถึงพัฒนาศักยภาพคนทำงานด้านเด็กเพื่อพัฒนาศักยภาพเด็กเยาวชนภาวะเปราะบาง
3. การปลดล็อกเงื่อนไขและข้อจำกัดทางกฎหมาย เช่น รอยต่อทางการศึกษาระหว่างช่วงชั้น ที่ต้องมีบัตรประชาชน
4. การปรับปรุงกองทุนที่มีอยู่ให้มุ่งเป้าสู่การพัฒนามากกว่าการสงเคราะห์ รวมถึงการฝึกอาชีพขั้นสูงที่มีงานรองรับมากกว่าฝึกอาชีพที่ไม่สามารถอยู่ได้จริง
และ 5. เปิดพื้นที่ให้กับเด็กเยาวชนภาวะเปราะบาง เช่น สนับสนุนกิจกรรมพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อสร้างคุณค่าและการยอมรับให้กับเด็กเยาวชนภาวะเปราะบาง ตลอดจนเพิ่มสัดส่วนการมีส่วนร่วมของเยาวชนภาวะเปราะบางในสภาเด็กและเยาวชนทุกระดับระดับตำบล
สำหรับเสียงสะท้อนจากเยาวชนที่เผชิญภาวะเปราะบาง นายเนม (นามสมุมติ) อายุ 24 ปี อดีตเยาวชนที่เคยก้าวพลาดจนต้องคดียาเสพติด กล่าวถึงประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาว่า ตอนม.2 ชอบเที่ยวมากกว่าเรียนจึงถูกไล่ออก ไปสมัครเรียนที่ไหนก็ไม่มีโรงเรียนไหนรับ จึงตัดสินใจไม่เรียน หลังจากนั้นก็เที่ยว กินเหล้า ตีกัน ขับรถแว้น จนมาถึงการลองใช้ยาเสพติด(ยาบ้า)เพราะคิดว่า แค่ทดลองไม่เป็นไร แต่กลับทำให้ยิ่งหลงเข้าไปจนเริ่มไปใช้ยาตัวอื่นๆ เช่น เฮโรอีน สุดท้ายก็ติดจนไม่สามารถขาดยาได้ ตอนนั้นอายุเพียง 15 ปี เมื่อติดยาแล้วก็ต้องหาเงินไปซื้อจึงเริ่มเป็นเด็กเดินยาแถวบ้าน แล้วก็ผันตัวมาเป็นผู้ขายรายย่อย ขายส่ง จนวันหนึ่งมีคนมาจ้างให้ไปส่งยาบ้า 50,000 เม็ด ได้ค่าตอบแทน 200,000 กว่าบาท ตอนนั้นมีความสุขมากเพราะได้เงินมาง่ายและเร็ว จึงรับงานนี้ แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอดโดนจับกุมข้อหามียาบ้า 50,000 เม็ด โดยศาลเยาวชนตัดสินส่งไปอยู่ศูนย์ฝึก
“ปัจจุบันผมพ้นโทษแล้วและเลิกยุ่งกับยาเสพติดทุกชนิด เพราะได้รับโอกาส ได้ฝึกอาชีพโดยให้ค้นหาตัวเองถึงอาชีพที่สนใจ การซ่อมและซื้อขายมอเตอร์ไซด์เก่า รวมถึงเรียนรู้การทำเกษตรแบบผสมผสานแบบพอเพียง ทำให้ผมมีความฝันอยากอยากจะมีบ้านสวนเล็กๆ และเปิดร้านซ่อมมอเตอร์ไซต์ เพื่อสักวันหนึ่งผมจะมีโอกาสรับเยาวชนที่เคยก้าวพลาดมาดูแล เหมือนที่ตนเองได้รับโอกาสนั้นมา เพราะเด็กและเยาวชนที่ก้าวพลาด ต้องการเพียงคนให้อภัย ให้โอกาสได้เริ่มต้นใหม่” อดีตเยาวชนที่เคยก้าวพลาดจากคดียาเสพติด กล่าว
นางสาวคำแลง เยาวชนไร้สัญชาติ อายุ 20 ปี นักเรียนชั้น ม.6 สายวิทย์-คณิต จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวถึงการอยู่ในสถานะไร้สัญชาติแม้ว่าจะเกิดที่ประเทศไทย แต่พ่อแม่ไม่ได้แจ้งเกิด ที่ผ่านมาพยายามยื่นเรื่องขอมีสัญชาติไทยแต่ติดปัญหาที่ต้องมีพ่อแม่มายืนยันการเกิด ซึ่งพ่อที่แยกทางจากแม่ก็แจ้งว่ามีลูกเพียงคนเดียวคือลูกที่เกิดกับครอบครัวใหม่ ทุกครั้งเวลาไปร่วมกิจกรรมภายนอกตนมักใส่เสื้อกันหนาวปิดไว้ เพราะมีแต่ชื่อไม่มีนามสกุลทำให้รู้สึกอายเมื่อมีคนมาถามว่า ทำไมมีแค่ชื่อ และการไม่มีสัญชาติทำให้ถูกจำกัดสิทธิในการเรียนต่อ เพราะคณะที่อยากศึกษาต่อคือ คณะแพทย์และสายสุขภาพ ซึ่งมีการระบุคุณสมบัติว่า ไม่รับเด็กที่ไม่มีสัญชาติ และไม่มีสิทธิกู้ยืมกองทุนช่วยเหลือทางการศึกษา (กยศ.)
“หนูมีเกรดเฉลี่ย 3.8 ฝันอยากเป็นหมอหรือพยาบาล แต่สิทธิการสมัครสอบก็ไม่สามารถทำได้ ที่ผ่านมามีผู้ใหญ่หลายคนพยายามช่วยให้หนูได้รับสัญชาติโดยเร็ว แต่ปัญหาของหนูมันซับซ้อน ซึ่งหนูมีเส้นตายการสมัครอยู่ภายใน 30 ก.ย.นี้”