รัฐวิสาหกิจทุจริต3.5%แต่เสียหายสูง!ป.ป.ช.แย้ม จนท.ระดับล่างเตรียมยื่นทรัพย์สิน
เรื่องกล่าวหาทุจริตในรัฐวิสาหกิจแค่ 3.5% แต่ความเสียหายสูง! รองเลขาฯ ป.ป.ช. แนะผู้บริหาร-กก.-จนท. ทำตามระเบียบเคร่งครัด รับของฝาก-ของฟรีเกิน 3,000 บ.ไม่ได้-ห้ามทำงานให้เอกชนที่กำกับ-เอาบริษัทตัวเองไปรับงานไม่ได้ แย้มให้ จนท.ระดับล่าง เตรียมพร้อมเรื่องยื่นทรัพย์สิน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2560 ที่โรงแรมริชมอนด์สไตล์ลิช คอนเวนชั่น ถ.รัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดเสวนาและอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ด้านการพัฒนาและยกระดับคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ
นายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. รักษาราชการแทนเลขาธิการฯ กล่าวตอนหนึ่งถึงภาพรวมสถานการณ์การทุจริตในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจสรุปได้ว่า ปัจจุบันสำนักงาน ป.ป.ช. รับเรื่องร้องเรียนกล่าวหาทุกหน่วยงานทั่วประเทศแบ่งเป็นอยู่ระหว่างขั้นตอนแสวงหาข้อเท็จจริง 12,649 เรื่อง ไต่สวนข้อเท็จจริง 2,739 เรื่อง เป็นเรื่องส่วนกลาง 2,429 เรื่อง ส่วนภูมิภาค 10,029 เรื่อง โดยในส่วนของรัฐวิสาหกิจนั้นมีอยู่ประมาณ 3.5% ของทั้งหมด คือมีเรื่องกล่าวหาร้องเรียน 548 เรื่อง แสวงหาข้อเท็จจริง 429 เรื่อง ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนแล้ว 119 เรื่อง แบ่งเป็นข้อร้องเรียนกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจนั้น แบ่งเป็นปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ 62% การจัดซื้อจัดจ้าง 20% พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) 10% และอื่น ๆ 8% แม้จะเห็นว่าเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อย แต่ความเสียหายมีสูง เพราะรัฐวิสาหกิจมีงบประมาณค่อนข้างมาก
นายวรวิทย์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีข้อมูลการวิจัยจาก ม.หอการค้าไทย เมื่อปี 2560 โดยวิเคราะห์การรับสินบนของเจ้าหน้าที่รัฐตั้งแต่ปี 2553-2560 พบว่า ช่วงก่อนปี 2557 มีเงินพิเศษจ่ายสินบนให้กับนักการเมืองเพื่อให้ได้สัญญา 25-35% แต่ในปี 2557 ลดเหลือ 5-15% และปัจจุบันปี 2560 เฉลี่ย 5-15% เป็นเพราะสภาวการณ์ที่นักการเมืองใช้อำนาจรัฐลดลงกว่าเดิม ขณะเดียวกันยังทำผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. เมื่อปี 2560 พบว่า มีประสิทธิภาพมาก 56% ปานกลาง 14% และไม่มีประสิทธิภาพ 28% ไม่มีความเห็น 2% ถือว่ามากขึ้นกว่าปี 2559 ที่ระบุว่ามีประสิทธิภาพมากแค่ 45% เท่านั้น
“สถานการณ์คอร์รัปชั่นเป็นอย่างนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. จึงทำโครงการกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อช่วยกันแก้ไข โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจ มีข้อเสนอแนะเพื่อสร้างความเข้าใจกับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ เช่น อย่าเข้าไปเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐทำงานกับบริษัทเอกชนที่ตัวเองมีหน้าที่กำกับดูแล ไม่ว่าตอนดำรงตำแหน่ง หรือตอนพ้นจากตำแหน่งไปแล้วไม่เกิน 2 ปี และอีกอันง่าย ๆ ห้ามรับของขวัญ ของฝาก ของฟรี ถ้ารับต้องไม่เกินเกณฑ์กำหนดทั่วไป ไม่เกิน 3,000 บาท” นายวรวิทย์ กล่าว
นายวรวิทย์ กล่าวด้วยว่า ภายหลังมีการนำเรื่องประเมินคุณธรรม หรือ ITA มาใช้ พบว่ารัฐวิสาหกิจทำได้สูงถึง 70-80% ต้องรักษาระดับนั้นให้ได้ และทุกวันนี้สนับสนุนให้มีการสร้างศูนย์ต้านทุจริตในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สร้างความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง ตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างที่ออกมาบใหม่ เป็นต้น สุดท้ายการยื่นบัญชีทรัพย์สิน ปัจจุบันมีแค่ผู้บริหารสูงสุด และกรรมการ (บอร์ด) เท่านั้น ที่ต้องยื่นแสดงความโปร่งใสต่อ ป.ป.ช. อย่างไรก็ดีขอให้เจ้าหน้าที่เตรียมความพร้อมเอาไว้ เพราะได้ยินมาว่ารัฐบาลต้องการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐยื่นบัญชีทรัพย์สินทุกคน เบื้องต้นให้ลองยื่นมาไว้ที่หน่วยงานก่อนก็ได้ เหมือนกับ กสทช. ที่เริ่มทำแล้ว จะทำให้องค์กรได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนมากขึ้น