ถอดบทเรียนรุมโทรมเด็ก14...เสริมพลัง "หญิงมุสลิม" สู้กดขี่ทางเพศ
ข่าวใหญ่ช่วงปลายเดือน ส.ค.ต่อเนื่องถึงเดือน ก.ย. คือคดีล่วงละเมิดเด็กหญิงวัย 14 ปี (ขณะเกิดเหตุ) ที่ชุมชนเกาะแรด จ.พังงา
สาเหตุที่เรื่องนี้กลายเป็นข่าวใหญ่และผู้คนให้ความสนใจไปทั่วประเทศ ก็เพราะเด็กและครอบครัวของเด็กอ้างว่าถูกผู้ชายในหมู่บ้านทั้งวัยรุ่นไปจนถึงวัยชราจำนวนถึง 41 คนล่วงละเมิดและบังคับให้เสพยาเสพติด
ภายหลังตำรวจได้แจ้งข้อหากับผู้ถูกกล่าวหาเพิ่มเติมอีกหลายคน จนมีกระแสดราม่าเรื่องเงินประกันตัว ฯลฯ
ความละเอียดอ่อนของเรื่องนี้ไม่เพียงแค่ "เหยื่อ" เป็นเด็กหญิงอายุยังไม่ถึง 15 ปีเท่านั้น แต่เรื่องยังเกิดขึ้นในชุมชนมุสลิม ทำให้มีประเด็นเกี่ยวกับศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง
อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้รับหนังสือร้องเรียนจากครอบครัวของเด็กหญิงวัย 14 ปี ขอให้ช่วยเหลือคุ้มครองพยานในคดี เนื่องจากกำลังตกที่นั่งลำบาก เพราะถูกกลุ่มคนบางกลุ่มพยายามคุกคามอย่างรุนแรง
"เมื่อไม่นานมานี้ กสม.ได้รับหนังสือลับที่สุดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในคดีและผู้เสียหาย โดยร้องขอให้มีการคุ้มครองพยาน เนื่องจากผู้เสียหายมีความหวาดกลัวมาก และครอบครัวได้รับแรงกดดันอย่างมากจากชุมชน มีการขอให้ครอบครัวของเด็กหญิงผู้เสียหายทำการพูดคุยกันตามหลักการศาสนากัน"
อังคณา ขยายความว่า กลุ่มคนที่มากดดันครอบครัวและพยานในคดีนี้ พยายามที่จะให้มีการพูดคุยกันตามหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งโดยนัยอาจหมายถึงการไกล่เกลี่ยกันในชุมชน และให้ผู้นำในพื้นที่เป็นคนกลาง แต่อังคณามองว่าการกระทำล่วงละเมิดทางเพศเด็กหญิงรายนี้ ถือเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา และอาจเข้าข่ายเป็นการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ ซึ่งเป็นความผิดฐานค้ามนุษย์ โดยผู้กระทำต้องรับโทษตามกฎหมาย ฉะนั้นการอ้างหลักศาสนามาใช้ในท่วงทำนองที่สุ่มเสี่ยงกับการถูกมองว่าเป็นการ "ช่วยเหลือคนผิด" หรือทำให้เรื่องจบๆ ไป จึงละเอียดอ่อนและท้าทายอย่างยิ่ง
ปัญหาการกดทับทางค่านิยมและวัฒนธรรมต่อผู้หญิงมุสลิม เป็นปัญหาใหญ่ที่มีความร้ายแรง และส่งผลต่อปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น การคุกคามทางกาย การล่วงละเมิดทางเพศ การคลุมถุงชน และปัญหาขัดแย้งในครอบครัว ซึ่งหลายเรื่องมาจากการตีความหลักคำสอนในทางที่ผิด
อย่างไรก็ดี สังคมไทยมีเวทีพูดถึงปัญหานี้ไม่บ่อยครั้งนัก ทั้งๆ ที่ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล มาตั้งแต่ปี 2489 สาระสำคัญก็คือการใช้กฎหมายอิสลามในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีแพ่งในเรื่องครอบครัวและมรดก แทนการใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เหมือนในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ
ข้อพิพาทว่าด้วยครอบครัวและมรดก ที่กฎหมายกำหนดให้ใช้กฎหมายอิสลามในการวินิจฉัยชี้ขาดนั้น หลายๆ ประเด็นเกี่ยวโยงกับวิถีชีวิตของผู้หญิงมุสลิม โดยเฉพาะใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมาก
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จึงได้จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้โครงการ "การจัดทำข้อเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้หญิงกลุ่มเฉพาะ" โดยมีการเชิญวิทยากรผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา มาหารือเพื่อเสนอแนวทางแก้ไข รวมถึงปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้ความยุติธรรมแก่ผู้หญิงมุสลิม
อังคณา ในฐานะผู้มีบทบาทในการจัดการสัมมนา บอกว่า สถานการณ์ผู้หญิงถูกละเมิดทางเพศ โดยเฉพาะผู้หญิงเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ หรือกลุ่มมุสลิม ยังคงปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง แม้แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นผู้หญิงก็ยังถูกกระทำ รวมถึงกรณีที่มีข่าวเด็กหญิงถูกรุมโทรมที่ จ.พังงา ฉะนั้น กสม.จึงอยากเปิดเวทีเพื่อสะท้อนปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อสตรีทุกพื้นที่ของประเทศไทย ทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และภูมิภาคอื่นๆ รวมทั้งนำเสนอแนวทางเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิง
ไฮไลท์ส่วนหนึ่งของงาน อยู่ที่การบรรยายพิเศษของ จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้ระบุตอนหนึ่งว่า ปัญหาการใช้ความรุนแรงกับผู้หญิง หรือกดขี่ข่มเหง ล่วงละเมิด ล้วนเป็นปัญหาของผู้หญิงทั้งประเทศ และปัจจุบันก็ยังเป็นปัญหาอยู่ เพียงแต่ไม่ได้ถูกนำออกมาเผยแพร่ให้สังคมได้รับรู้กันอย่างกว้างขวาง แต่ปัญหาของผู้หญิงใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความซับซ้อนยิ่งกว่า เพราะมีการยกเว้นให้ใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกกับคู่ความที่เป็นมุสลิม โดยไม่ต้องใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
"ตั้งแต่ปี 2489 เป็นต้นมา จนถึงวันนี้ก็จะ 71 ปีเต็มแล้ว จริงๆ กฎหมายอิสลามไม่มีส่วนไหนเปิดโอกาสให้มีการกดขี่ข่มเหงทำร้ายคนที่อ่อนแอกว่า ไม่ว่าเด็ก ไม่ว่าคนชรา ไม่ว่าคนพิการ แม้แต่คนเป็นโรคติดต่อยังต้องดูแล นี่เป็นผู้หญิงและผู้หญิงในครอบครัว ในชุมชนของเราเอง เป็นผู้หญิงของชุมชนมุสลิมด้วยกัน ถึงแม้ศาสนาอิสลามจะยอมรับให้ใช้ประเพณีชุมชนท้องถิ่นประกอบได้ แต่ต้องไม่ขัดแย้งกับหลักกฎหมายอิสลาม โดยเฉพาะที่ปรากฏอยู่ในอัลกุรอาน เพราะนั่นคือกฎหมายของพระผู้เป็นเจ้าที่ทุกคนจะเอาสิ่งอื่นใดมาขัดแย้งไม่ได้"
"วันนี้ชัดเจนว่าหลักกฎหมายอิสลามต้องคำนึงถึง หรือเดินตามหลักปฏิบัติของท่านนบี หลักปฏิบัติอย่างนี้เป็นบรรทัดฐาน ซึ่งท่านนบีได้ปฏิบัติต่อผู้หญิงของท่านอย่างงดงาม ละเอียดอ่อนลึกซึ้ง ยิ่งกว่ากฎหมายที่เรากำลังเรียกร้องและแสวงหา และนี่คือหลักกฎหมายอิสลามที่ถูกต้อง โดยที่ประเพณีชุมชน ความเชื่อ หรือการแอบอ้างอย่างอื่นไม่สามารถขัดแย้งได้"
จรัญ กล่าวอีกตอนหนึ่งว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอของ ดร.อมรา พงศาพิชญ์ อดีตประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่เสนอให้มีผู้หญิงอยู่ในกลุ่มผู้ที่ดูแลชุมชนมุสลิมด้วย เช่น คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย หรือคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทุกจังหวัด
"ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งให้มีคณะกรรมการด้านสตรี และเชื่อมโยงกับหลักพิสูจน์ของกฎหมายอิสลาม จุดนี้จะช่วยให้อะไรๆ เริ่มต้นได้ดีขึ้น"
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยังยกตัวอย่างการทำงานของคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ หรือ CEDAW (ซีดอว์) ที่มีประเทศมุสลิมหลายสิบประเทศเป็นภาคีอยู่ด้วย แต่ก็ไม่ได้นำกฎหมายอิสลามที่ไม่ถูกไม่ควรมาบิดเบือน
"ผมเคยได้ทำงานที่กระทรวงยุติธรรมระยะหนึ่ง ก็ได้ไปดูงานศาลชารีอะห์ (ศาลที่ใช้กฎหมายอิสลามในการพิจารณาคดี) ในประเทศอาเซียน และพบว่าในมาเลเซีย เขาเดินหน้าไปไกลกว่าเรามากแล้ว ทั้งๆ ที่ฐานของชุมชนเกือบจะเป็นฐานเดียวกันกับบ้านเรา หรือในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของเรา ฉะนั้นจึงไม่ใช่เป็นสิทธิ์เด็ดขาดที่ผู้ชายจะนิก๊ะ (แต่งงาน) หนที่ 2 ที่ 3 ได้ตามอำเภอใจ แม้มหาคัมภีร์อัลกุรอานอนุญาตไว้ก็จริง แต่มีเงื่อนไข แล้วคนนอกจะไปยกอ้างเงื่อนไขเพื่ออย่างอื่นไม่ได้ ต้องครูบาอาจารย์ โต๊ะครู โต๊ะอิหม่าม ผู้รู้ ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นผู้ชี้เงื่อนไข"
"ประเทศมาเลเซียเอาจุดนี้ไปสร้างกฎระเบียบ ไม่ว่าจะเรื่องการนิก๊ะครั้งที่ 2-3-4 หรือในเรื่องการหย่า ไม่ใช่เรื่องที่ทำไปโดยพลการ แต่ต้องอยู่ในกรอบ ในระเบียบ ในระบบกระบวนวิธี ซึ่งไม่ได้ขัดแย้งกับหลักศาสนา นี่คือประเทศเพื่อนบ้านเรา เขาก็ทำได้ ทำให้เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ ข้างบ้านในสิงคโปร์เขาก็ทำอย่างนี้ ในอินโดนีเซียก็เหมือนกัน ในฟิลิปปินส์เองก็ยังมีกลไกที่จะดูแลให้เกิดความเป็นธรรม"
"ผมคิดว่าปัญหาผู้หญิงไทยในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมอยากจะให้คลุมถึงสตูลด้วย เพราะปัญหานี้มันแยกขาดออกจากปัญหาความมั่นคงใน 3 จังหวัดชายแดน (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) แต่มันเป็นปัญหา 4 จังหวัดที่ซ้อนทับปัญหาของผู้หญิงไทยทั้งประเทศ ถ้าได้ช่วยกันแก้ กฎหมายมันไม่ใม่ใช่เงื่อนไขใหญ่ เงื่อนไขใหญ่อยู่ที่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง อยู่ที่สัมมาทิฏฐิ ความคิดเห็นที่ถูกต้อง กับมิจฉาทิฏฐิ ความคิดเห็นกับความคิดที่ผิดเพี้ยนจากความถูกต้องตามหลักศาสนา ถ้าได้เผยแพร่ให้กว้างขวางออกไป ปัญหาจะคลี่คลายเป็นลำดับ"
จรัญ ยังเสนอด้วยว่า การบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้า ต้องเสริมความรู้ ความเข้าใจ และโอกาสของผู้หญิง โดยส่งเสริมให้อย่างเต็มกำลัง ทั้งในระดับพ่อแม่ ครอบครัว ชุมชน องค์กรท้องถิ่น ภูมิภาค และส่วนกลาง คือต้องส่งเสริมให้เด็กผู้หญิงไทยมีโอกาสได้เรียน ได้รับการศึกษาที่ควรจะต้องมากกว่าเด็กผู้ชายด้วยซ้ำ แต่ไม่ได้ขอขนาดนั้น ขอให้เสมอกัน ขอให้ได้เรียน ให้มีโอกาสเป็นแพทย์ มีโอกาสเป็นวิศวกร มีโอกาสเป็นผู้พิพากษา ทนายความ ตุลาการ เป็นทุกอย่างที่ตัวเองมีศักยภาพมากพอ เพราะนี่คือเงื่อนไข
"เมื่อผู้หญิงมีความรู้ เขาก็จะมีความสามารถ เขาจะมีอาชีพ เขาจะมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น การบิดเบือนกดขี่ข่มเหงก็จะทำได้ยากขึ้น เขาจะเป็น working women ในสังคมมุสลิมที่ปฏิบัติตนถูกต้องตามหลักศาสนาทุกประการ แต่จะต้องไม่สยบยอมให้กับการกดขี่ข่มเหงที่มันผิดเพี้ยนไปจากแนวปฏิบัติของท่านนบี"
"ผมอยากเสนอให้ใช้วิธีที่ครอบครัวหลายๆ ครอบครัวในสังคมไทยทั่วไปใช้มาแต่ดั้งเดิม ผมเข้าใจว่าในสังคมมุสลิมก็มีการปฏิบัติแบบนี้ คือเวลาที่เขาจะดุแลลูกสาวเขา นอกจากให้การศึกษาแล้ว เขาจะต้องให้ฐานะทางเศรษฐกิจ เพราะนี่คือเงื่อนไข คนอ่อนแอ คนยากคนจน คนโง่เขลาเบาปัญญาจะถูกกดขี่ข่มเหง ไม่ว่าชุมชนไหน ถ้าเราอยากช่วยแก้ปัญหานี้ ต้องช่วยให้ผู้หญิงใน 4 จังหวัดภาคใต้ของเรามีโอกาสที่จะเป็นเจ้าของทรัพย์สินมากขึ้น เรื่องนี้ในหลายบ้าน หลายครอบครัวในสังคมคนไทยทั่วไปเขาจะทำพินัยกรรมยกทรัพย์สมบัติให้กับลูกสาว อย่างน้อยก็เท่าเทียมกับลูกชาย บางแห่งให้ลุกชายน้อยกว่า แต่ไม่บอกให้รู้นะ"
"เพราะฉะนั้นในสังคมไทย ทรัพย์สมบัติส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในกำมือผู้ชาย แล้วถ้าเรื่องนี้มันจะเป็นอำนาจต่อรอง การกดขี่ขมเหงมันจะยากขึ้น แต่เรื่องมีปัญหาในกฏหมายมรดกของอิสลาม คือผู้หญิงจะได้สิทธิ์แค่ 1 ใน 3 แต่ในทางปฏิบัติ เขาก็มีวิธีแก้อีกวิธีหนึ่ง คือทำ 'วะศียะฮ์' โดยยกให้ก่อนตาย เหมือนที่ครอบครัวในสังคมไทยเราทำกัน ซึ่งทรัพย์สินส่วนนี้จะไม่อยู่ในบังคับ 1 ใน 3 เหลือสุดท้ายเท่าไรค่อยเป็นมรดก จะทำพินัยกรรมหรือไม่ทำพินัยกรรมก็สุดแท้แต่จะสมควร"
"วิธีนี้จะค่อยๆ ทำให้ผู้หญิงมีอำนาจต่อรองมากขึ้น เมื่อเชื่อมโยงกับการศึกษาที่ดีขึ้น อาชีพการงานที่มั่นคงขึ้น และชุมชนสังคมได้รับความรู้ความเข้าใจในหลักศาสนาที่ถูกต้องมากขึ้น ผมคิดว่าปัญหาเหล่านี้จะคลี่คลาย ฉะนั้นเรื่องนี้ไม่ใช่แค่กฎหมาย แต่เป็นการใช้กฎหมาย และต้องไม่ใช่เฉพาะกลไกทางกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น แต่เป็นรากฐานสังคม โดยมีรากเหง้าอยู่ที่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ยอมรับการบิดเบือน ไม่สยบยอมนิ่งเฉยต่อการบิดเบือน" จรัญ ระบุ
ขณะที่ ดาราราย รักษาสิริพงษ์ ผู้ประสานงานมูลนิธิผู้หญิง ให้มุมมองว่า เรื่องของศาสนาและประเพณีนั้น เคยได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอิสลาม ซึ่งระบุว่า เรื่องนี้มีเส้นแบ่งบางๆ อยู่ แต่บางกรณีหน่วยงานภาครัฐอาจจะเกิดความเข้าใจผิด เพราะหากพูดว่าเป็นเรื่องของศาสนา ก็จะไม่กล้าแตะต้อง แต่หลายเรื่องไม่ใช่เรื่องของศาสนาจริงๆ เพราะหลักศาสนาอิสลามไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง เรื่องนี้ต้องทำให้หน่วยงานภาครัฐมีความเข้าใจ และทำการศึกษาร่วมกัน รวมถึงการเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงได้เข้าไปร่วมในคณะกรรมการที่มีการแต่งตั้งขึ้นมาด้วย โดยผู้หญิงทุกคนไม่ว่าจะเป็นศาสนาไหนก็ตาม มีสิทธิที่จะเข้าถึงโอกาส ทั้งในด้านศึกษาและเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียมกัน
------------------------------------------------------------------------------------
เรื่อง : อนุรักษ์ เพ็ญสวัสดิ์, ภัทราวดี คำจันดา
ภาพ : เนชั่นทีวี
อ่านประกอบ : เจาะชีวิต "อดีตลูกจ้าง อบต." อีกหนึ่งเหยื่อคุกคามทางเพศ