ย้อนเส้นทาง"เรือเหาะฉาว" 8 ปีไม่มีข่าวดีเลยสักครั้ง!
"ทีมข่าวอิศรา" ได้สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับโครงการจัดซื้อเรือเหาะตรวจการณ์ของกองทัพบก และพบว่าตลอด 8 ปีตั้งแต่จัดซื้อมา กระทั่งถูกสั่งปลดประจำการ มีแต่ข่าวฉาวมาอย่างต่อเนื่อง
เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค.52 หรือกว่า 8 ปีมาแล้ว ที่ประชุม ครม.เห็นชอบอนุมัติงบประมาณจำนวน 350 ล้านบาท เพื่อดำเนินการจัดหา "ระบบเรือเหาะ" พร้อมกล้องตรวจการณ์ทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อใช้ในภารกิจดับไฟใต้
23 เม.ย.ปีเดียวกัน กองทัพบกทำสัญญาจัดซื้อเรือเหาะตรวจการณ์ จากบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา
28 มิ.ย.หรืออีกเพียงแค่ 2 เดือนต่อมา เรือเหาะก็ถูกส่งถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (จุดนี้ทำให้มีเสียงนินทาว่าทำไมได้ของเร็วเหลือเกิน ซื้อมือสองมาหรือเปล่า)
18 ธ.ค.52 เรือเหาะเข้าประจำการที่โรงจอด ภายในกองพลทหารราบที่ 15 อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ครั้งนั้น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในฐานะ ผบ.ทบ.เดินทางไปติดตามความพร้อมของเรือเหาะด้วยตนเอง
หลังจากวันนั้น ปัญหาก็เริ่มเกิด 15 ม.ค.53 กองทัพกำหนดให้เป็นวันเริ่มนำเรือเหาะขึ้นปฏิบัติการเป็นครั้งแรก แต่ประสบปัญหาทางเทคนิค ไม่สามารถนำขึ้นบินได้ และยังไม่มีการลงนามรับมอบสินค้า
จากนั้นในเดือน มี.ค.คณะกรรมการตรวจรับเรือเหาะของกองทัพบก ได้จัดทดสอบประสิทธิภาพการใช้งาน ปรากฏว่าพบปัญหาหลายประการ ทั้งในส่วนของกล้องและตัวบอลลูน โดยมีข่าวเล็ดลอดจากชุดทดสอบว่า เรือเหาะบินสูงได้เพียงแค่ 1 ใน 3 ของสเปคเท่านั้น ทำให้ไม่พ้นระยะยิงจากภาคพื้น
ช่วงนั้นมีการพยายามแก้ไขปัญหา กระทั่งวันที่ 27 พ.ค. หลังการรับสินค้ามาเกือบ 1 ปีเต็ม คณะกรรมการตรวจรับฯ จึงยอมลงนามรับมอบเรือเหาะ แต่รับเฉพาะ "บอลลูน" เท่านั้น กระทั่งอีก 2 เดือนต่อมา จึงมีการรับมอบครบทั้งระบบ ซึ่งเท่ากับรับของมานานกว่า 1 ปี สะท้อนว่าสินค้ามีปัญหา เพราะถ้าไม่มีปัญหา ต้องตรวจรับได้ทันที หรือรวดเร็วกว่านี้
ระหว่างนั้นเสียงวิจารณ์เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ ทำให้กองทัพต้องจัดแถลงข่าวชี้แจงตอบโต้เสียงวิจารณ์ เช่น เรื่องเพเดานบินที่บินได้แค่ 1ใน 3 ของสเปค กองทัพอ้างว่า เป็นเพดานบินของเรือเหาะเปล่าๆ แต่พอติดกล้องเข้าไป และมีเจ้าหน้าที่ขึ้นไปขับ ทำให้เพดานบินต่ำลง!!!
เสียงวิจารณ์ลามเข้าไปถึงในสภา บรรดา ส.ส.ยังอภิปรายถล่มกันอย่างหนัก กระทั่งปี 54 หลังจากรับของมาไม่ถึง 2 ปี ก็มีข่าวเปลี่ยนผ้าใบบอลลูน จากนั้นก็มีการนำขึ้นบินทดสอบ แต่กองทัพปิดข่าว
ต่อมาเรือเหาะยังประสบอุบัติเหตุตกอย่างน้อย 2 ครั้ง คือวันที่ 13 ธ.ค.55 หลังภารกิจ รปภ.นายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เดินทางลงพื้นที่ชายแดนใต้ ทำให้ตัวเรือเสียหายกว่า 50% และวันที่ 5 ก.ย.57 ลงจอดฉุกเฉินกลางทุ่งนาที่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี
วันที่ 16 ก.ย.57 กองทัพบกได้ทำหนังสือเรียกค่าปรับกับบริษัทผู้จำหน่าย เพราะเรือเหาะไม่สามารถทำการบินได้ตามสัญญา แต่ไม่มีรายงานว่าบริษัทยอมจ่ายหรือไม่ แต่สะท้อนว่าเรือเหาะมีปัญหาจริง กระทั่งล่าสุด พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ.คนที่ 5 ใน 8 ปีที่ต้องแบกเรือเหาะไว้บนบ่า ได้ออกมายอมรับว่ายุติการใช้งานเรือเหาะอย่างเป็นทางการแล้ว เพราะผ้าใบหมดอายุ!!!
ตลอดระยะเวลา 8 ปีตั้งแต่จัดซื้อมา "เรือเหาะ" ลำนี้ถูกวิจารณ์และเปิดโปงข้อมูลลบๆ มากมายซ้ำแล้วซ้ำเล่า ที่เป็นไฮไลท์ก็เช่น
- เรือเหาะเป็นเทคโนโลยีโบราณ ใช้มาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 และไม่น่าจะเหมาะกับการรบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะสภาพพื้นที่เป็นป่าเขา และผู้ไม่หวังดีใช้ยุทธวิธีแบบก่อการร้ายในเมือง ไม่ใช่ตั้งฐานต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ฉะนั้นจึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้เรือเหาะตรวจการณ์หรือค้นหาฐานที่มั่นของคนร้าย
- เรื่องราคา มีข้อมูลจากฝ่ายตรวจสอบ ระบุว่า ราคาระบบเรือเหาะ 350 ล้านบาท แยกเป็น บอลลูน 260 ล้านบาท, กล้องตรวจการณ์ 70 ล้านบาท และอุปกรณ์สื่อสารภาคพื้่น 20 ล้านบาท แต่ข้อมูลจาก พล.อ.อนุพงษ์ ที่ออกมาชี้แจง ต้องเรียกว่ากลับด้านกันเลย คือ กล้องตรวจการณ์ 250 ล้านบาท มี 5 ตัว (แสดงว่ากล้องตัวละ 50 ล้านเลยทีเดียว), บอลลูน กับ โรงจอด 100 ล้านบาท น่าสนใจว่าความจริงคืออะไรแน่
ด้วยราคาบอลลูนที่แพง ทำให้มีคนสงสัยว่าซื้อเรือเหาะมือสองมาหรือเปล่า นอกจากนั้นยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าเติมก๊าซฮีเลี่ยม ข่าวบางกระแสว่าหลักแสน บางกระแสว่าหลักล้าน ยิ่งผ้าใบบอลลูนมีรูรั่ว ยิ่งทำให้ต้องเติมฮีเลี่ยมบ่อย สิ้นเปลืองหนักเข้าไปอีก แถมยังบินได้ไม่สูง จึงเสี่ยงถูกคนร้ายยิงตกได้
นี่คือมหากาพย์ "เรือเหาะตรวจการณ์" ของกองทัพบกที่แม้แต่ทหารด้วยกันยังออกมาตำหนิโจมตี ก็ต้องรอดูว่างานนี้จะมีการตรวจสอบหาคนผิดในการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ไม่มีคุณภาพมาใช้งานหรือไม่
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เรือเหาะตรวจการณ์ของกองทัพบก ขณะต้องร่อนลงฉุกเฉินกลางทุ่งนา เมื่อปี 57
ขอบคุณ : ภาพจากเจ้าหน้าที่
อ่านประกอบ :
ปิดตำนาน "เรือเหี่ยว" กองทัพบก! สูญ 350 ล้าน...ใครรับผิดชอบ
เรือเหาะร่อนลงฉุกเฉินที่ยะรัง - "อกนิษฐ์"นั่งที่ปรึกษาคณะพูดคุยดับไฟใต้
"เรือเหาะ" ส่อเป็น "เรือเหี่ยว" เผยเจอรูรั่ว จ่อส่งซ่อมก่อนใช้!
เจาะเส้นทาง "เรือเหาะฉาว" การรอคอยอันยืดยาวกว่าจะได้ใช้งาน
"เรือเหาะ"ฉลุย ทบ.รับได้บินสูงแค่ 3 พันฟุต ต่ำกว่าสเปค 2 กิโลเมตร อ้างแบกน้ำหนัก แต่เสี่ยงถูกยิง!
เปิดสเปคเรือเหาะต้องลอยสูง 3 กิโลฯ ทบ.มึนทดลองบินจริงได้แค่พันเมตร
สงสัย ทบ.ซื้อเรือเหาะ"มือสอง" เทียบราคาส่อแพงเกินจริง 8 เท่า