- Home
- Isranews
- คลังข้อมูล
- คลังข้อมูล ภาคใต้
- เจาะเส้นทาง "เรือเหาะฉาว" การรอคอยอันยืดยาวกว่าจะได้ใช้งาน
เจาะเส้นทาง "เรือเหาะฉาว" การรอคอยอันยืดยาวกว่าจะได้ใช้งาน
การลงพื้นที่ จ.ปัตตานี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เมื่อวันพุธที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นการติดตามสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้รายสัปดาห์ตามที่เคยประกาศไว้ว่าจะลงพื้นที่ทุกอาทิตย์แล้ว ยังมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ การไปตรวจความพร้อมของ "เรือเหาะ"
เจ้า"เรือเหาะ" หรือ "บอลลูนยักษ์ตรวจการณ์" หรือที่เรียกชื่ออย่างเป็นทางการว่า "ระบบตรวจการณ์ทางอากาศ" แต่มีหลายคนแซวแกมประชดว่าเป็น "เรือเหี่ยว" นั้น เสมือนมีวิบากกรรม เพราะประสบปัญหาข้ามปี ถูกตั้งคำถามเรื่องราคาจัดซื้อ และคุณภาพของสินค้าที่ไม่สามารถใช้งานได้จริง
แต่หลังจาก "บิ๊กตู่" ผบ.ทบ.ลุยตรวจเองเที่ยวนี้ ถึงขั้นเข้าไปดู "ของจริง" ในโรงจอดเรือเหาะที่กองพลทหารราบที่ 15 อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ก็น่าเชื่อว่าเจ้า "เรือเหาะ" คงได้ฤกษ์ใช้งานอย่างเป็นทางการเสียที
ที่ผ่านมา "เรือเหาะ" ถูกโจมตีว่าเป็น "เรือเหี่ยว" เพราะมีปัญหาก๊าซรั่วซึม ขึ้นบินได้ต่ำกว่าสเปคถึง 2 กิโลเมตร กระทั่งล่าสุดทางบริษัทผู้จำหน่ายต้องเปลี่ยนผ้าใบผืนใหม่ให้ ทั้งๆ ที่ยังไม่เคยใช้งานจริงเลยแม้แต่ครั้งเดียว
เส้นทางของ "เรือเหาะฉาว" เป็นอย่างไร พิศดารขนาดไหน "ทีมข่าวอิศรา" สืบค้นข้อมูลมาให้อ่านกัน...
แนะนำตัว...
เรือเหาะที่จะใช้ปฏิบัติการเป็น "ดวงตาบนฟากฟ้า" ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นเป็นรุ่น Aeros 40D S/N 21 (SKY DRAGON) ผลิตโดยบริษัท Worldwide Aeros Corp. ประเทศสหรัฐอเมริกา ขนาดกว้าง 34.8 ฟุต (10.61 เมตร) ยาว 155.34 ฟุต (47.35 เมตร) สูง 48/3 ฟุต (13.35 เมตร) ความจุฮีเลี่ยม 100,032 ลูกบาศก์ฟุต (2,833 ลูกบาศก์เมตร)
ระยะความสูงที่สามารถปฏิบัติงานได้ คือ 0-10,000 ฟุต (0-3,084 เมตร) ระยะความสูงปฏิบัติการ 3,000-5,000 ฟุต ความเร็วสูงสุด 88 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วเดินทาง 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เครื่องยนต์ 2 คูณ 125 HP 4-Cylinder, Continental IO-240 B ความจุเชื้อเพลิง 76 แกลลอน (300 ลิตร) บินได้นาน 6 ชั่วโมง
เกณฑ์การสิ้นเปลือง ณ ความเร็วสูงสุด 50 ลิตรต่อชั่วโมง ระยะทางที่บินได้ไกลสุด ณ ความเร็วสูงสุด 560 กิโลเมตร ชนิดเชื้อเพลิงที่ใช้ 100 LL Grade Aviation Fuel ความจุห้องโดยสาร 4 นาย (นักบิน 2 นาย ช่างกล้อง 1 นาย เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 1 นาย)
โครงสร้างการควบคุม "เรือเหาะตรวจการณ์" ประกอบด้วย
1. เรือเหาะ (Airship)
2. เฮลิคอปเตอร์ติดกล้องตรวจการณ์ 3 ลำ (HU-1H Helicopter) อยู่ในพื้นที่จังหวัดละ 1 ลำเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของเรือเหาะตรวจการณ์
3. ศูนย์บัญชาการประจำสถานี กระจายอยู่ทั่วพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 26 สถานี (Fixed Command Center) ซึ่งจะใช้หน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่เป็นที่ตั้งศูนย์บัญชาการประจำสถานี
4. รถบังคับการ (Glizzly) สนับสนุนการปฏิบัติงานของเรือเหาะในภาคพื้นดิน โดยจะติดตามเรือเหาะทางภาคพื้นดิน
ระบบปฏิบัติการของ "เรือเหาะ" จะใช้ 2 ระบบ คือระบบสัญญาณไมโครเวฟ และระบบสัญญาณดาวเทียม ในการส่งข้อมูลไปยังหน่วยเฉพาะกิจหมายเลข 2 ตัวในพื้นที่ หน่วยเฉพาะกิจระดับจังหวัด และกองบัญชาการกองทัพบก
คุณลักษณะทั่วไปของเรือเหาะ คือควบคุมโดยนักบิน ใช้กล้องตรวจการณ์เวลากลางวันและกลางคืนที่สามารถถ่ายภาพและบันทึกภาพความละเอียดสูง สามารถตรวจจับความร้อน รวมทั้งตรวจจับระยะและชี้เป้าหมายได้ ลอยตัวอยู่ในอากาศได้เป็นเวลานาน หรือทำการลาดตระเวนตามวงรอบเพื่อปฏิบัติงานด้านการข่าวที่ต้องการด้วยเสียงที่เงียบกว่าอากาศยานประเภทอื่น
2 ปีแห่งการรอคอย...
10 มี.ค.2552 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบอนุมัติงบประมาณจำนวน 350 ล้านบาท เพื่อดำเนินการจัดหา "ระบบเรือเหาะ" พร้อมกล้องตรวจการณ์ทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อใช้ในกิจการของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ในภารกิจตรวจการณ์ทางอากาศ อันเป็นหนึ่งในยุทธการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ราคาจัดซื้อแบ่งเป็น ตัวเรือบอลลูนราคา 260 ล้านบาท กล้องส่องกลางวันและกลางคืน ราคาประมาณ 70 ล้านบาท ส่วนอีก 20 ล้านบาทเป็นอุปกรณ์สื่อสารภาคพื้น ซึ่งทั้งหมดรวมเป็นระบบเรือเหาะ 1 ชุด (แต่ต่อมามีการชี้แจงจากทางกองทัพหลายครั้งด้วยข้อมูลที่แตกต่างกัน จึงไม่ชัดว่าราคาของอุปกรณ์แต่ละส่วนเป็นเท่าใดแน่ เพราะเป็นการจัดซื้อวิธีพิเศษ)
14 มี.ค.2552 โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ชี้แจงความจำเป็นของการจัดซื้อระบบเรือเหาะตรวจการณ์ หลังถูกหลายฝ่ายวิจารณ์อย่างหนักว่าไม่น่าจะใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอาจถูกยิงตกได้ โดยผู้แทนกองทัพยืนยันว่าเรือเหาะบินสูงกว่าระยะยิงของปืนที่ยิงจากภาคพื้น
23 เม.ย.2552 กองทัพบกทำสัญญาจัดซื้อเรือเหาะตรวจการณ์จากบริษัท Arial International Cooperation
28 มิ.ย.2552 เรือเหาะถูกส่งถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
18 ธ.ค.2552 เรือเหาะเข้าประจำการ ณ โรงจอดภายในหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี กองพลทหารราบที่ 15 อย่างเป็นทางการ โดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในขณะนั้น ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อติดตามความพร้อมของเรือเหาะด้วยตนเอง
15 ม.ค.2553 กองทัพกำหนดให้เป็นวันเริ่มนำเรือเหาะขึ้นปฏิบัติการเป็นครั้งแรก แต่ประสบปัญหาทางเทคนิค ไม่สามารถดำเนินการได้ จึงยังไม่มีการลงนามรับมอบสินค้าอย่างเป็นทางการจากบริษัทผู้ผลิต
5 มี.ค.2553 คณะกรรมการตรวจรับเรือเหาะของกองทัพบกจัดทดสอบประสิทธิภาพการใช้งาน โดยไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปติดตามทำข่าว ผลการทดสอบพบปัญหาหลายประการ ทั้งในส่วนของกล้องและตัวบอลลูน ขณะที่มีข่าวเล็ดรอดจากชุดทดสอบว่า เรือเหาะบินสูงได้เพียง 1 ใน 3 ของสเปคเท่านั้น ทำให้ไม่พ้นระยะยิงจากภาคพื้น
9 มี.ค.2553 พล.อ.อนุพงษ์ ลงพื้นที่ จ.ปัตตานี อีกครั้ง เพื่อร่วมตรวจสอบประสิทธิภาพของระบบเรือเหาะ และพบปัญหาเพิ่มเติมอีกหลายประการ แต่ยังยืนยันว่าระบบโดยรวมใช้งานได้ดี
27 พ.ค.2553 คณะกรรมการตรวจรับฯ ได้ลงนามรับมอบ "บอลลูน" ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของเรือเหาะ
9 มิ.ย.2553 พ.อ.วิวรรธน์ สุชาติ รองเจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารบก แถลงข่าวตอบโต้กรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์โครงการจัดซื้อเรือเหาะตรวจการณ์ทุกประเด็น โดยบอกว่าไม่ตรงกับข้อเท็จจริง โดยเฉพาะเรื่องเพดานบินของเรือเหาะที่สเปคกำหนดไว้ 10,000 ฟุต หรือราว 3 กิโลเมตร แต่จากการทดสอบหลายครั้งที่ผ่านมาเรือเหาะตรวจการณ์กลับบินได้เพียง 1 กิโลเมตรนั้น พ.อ.วิวรรธน์ อธิบายว่าเพดานบินสูงสุดกำหนดไว้เฉพาะเรือเหาะเปล่าๆ แต่เมื่อติดกล้องเข้าไป และมีเจ้าหน้าที่ขึ้นไปขับ ก็จะทำให้เพดานบินต่ำลง
23 ก.ค.2553 คณะกรรมการตรวจรับฯ ลงนามรับมอบเฮลิคอปเตอร์และกล้องจับภาพที่ใช้กับเรือเหาะ ซึ่งเท่ากับเป็นการรับมอบครบทั้งระบบ ทั้งๆ ที่ยังมีหลายฝ่ายตั้งคำถาม
19 ส.ค.2553 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2554 ส.ส.ฝ่ายค้านได้เรียงหน้ากันขึ้นอภิปรายโจมตีการจัดซื้อเรือเหาะตรวจการณ์ ว่าเป็นการทำสัญญาโดยไม่ผ่านการพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุด หนำซ้ำยังมีการเบิกจ่ายงบประมาณจัดซื้อไปแล้ว 100% โดยที่ไม่มีการขอให้บริษัทคู่สัญญาส่งสินค้ามาให้ทดลองใช้ก่อน ปรากฏว่าเมื่อนำมาใช้จริงก็ไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากผ้าใบเสื่อมสภาพและมีรูรั่ว
30 ก.ย.2553 พล.อ.อนุพงษ์ เกษียณอายุราชการ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.แทน
20 ก.พ.2554 กองทัพนำเรือเหาะขึ้นบินเพื่อทดสอบ ท่ามกลางกระแสข่าวว่าได้ขอเปลี่ยนผ้าใบผืนใหม่จากบริษัทผู้ผลิตเรียบร้อยแล้ว
16 มี.ค.2554 พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่ จ.ปัตตานี ตรวจความพร้อมของเรือเหาะครั้งสุดท้ายก่อนใช้งานจริง
สารพัดข้อหา "เรือเหาะ-เรือเหี่ยว"
ตลอด 2 ปีของการรอคอย เรือเหาะถูกวิจารณ์อย่างหนักจากหลายฝ่ายว่าเป็นการจัดซื้อที่ไม่คุ้มค่า ราคาแพงเกินจริง และไม่น่าจะใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสามารถรวบรวมข้อสังเกตและประเด็นทักท้วงจากฝ่ายต่างๆ ได้ดังนี้
1.แหล่งข่าวจากวงการผลิตอาวุธ ระบุว่า เทคโนโลยีเรือเหาะตรวจการณ์ใช้มาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 จึงไม่แน่ว่าจะมีประสิทธิภาพเท่าทันกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบันหรือไม่ โดยเฉพาะกับยุทธการของกลุ่มก่อความไม่สงบที่ใช้วิธีก่อการร้ายในเมือง ไม่มีฐานบัญชาการ ไม่ค่อยมีการซ่องสุมกำลัง และฝ่ายเจ้าหน้าที่ไม่รู้จัดว่าคนร้ายคือใคร
2.แหล่งข่าวในแวดวงธุรกิจบอลลูนและเรือเหาะ ระบุว่า ราคาเรือเหาะที่กองทัพจัดซื้อน่าจะแพงเกินจริง เพราะเรือเหาะของบริษัทแอร์ชิป เอเซีย ที่นำเข้าและจดทะเบียนก่อนที่กองทัพจะจัดซื้อ และมีขนาดใกล้เคียงกับเรือเหาะ "สกาย ดรากอน" มีราคาเพียง 30-35 ล้านบาทเท่านั้น แต่เรือเหาะของกองทัพบก เฉพาะตัวบอลลูนอ้างว่ามีราคาสูงถึง 260 ล้านบาท
3.วงการผู้เชี่ยวชาญด้านระบบตรวจการณ์ทางอากาศตั้งข้อสงสัยว่า ตัวเรือเหาะที่กองทัพบกจัดซื้ออาจเป็น "สินค้ามือสอง" เพราะสั่งซื้อและได้รับสินค้าอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่เดือน ทั้งๆ ที่หากเป็นของใหม่จะต้องใช้เวลาสร้างร่วม 1 ปี
4.มีกระแสวิจารณ์เกี่ยวกับราคาเติมก๊าซฮีเลี่ยมที่สูงถึง 3 ล้านบาท ทั้งๆ ที่เรือเหาะลำใกล้เคียงกันเติมเพียงครั้งละ 7-8 แสนบาท
5.ผ้าใบมีรอยรั่วซึมจนไม่สามารถบินได้สูงตามสเปค และทำให้ต้องเติมก๊าซฮีเลี่ยมเร็วกว่ากำหนด สิ้นเปลืองงบประมาณ
6.อดีตนายทหารระดับสูงหลายนายอย่าง พล.อ.หาญ ลีนานนท์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และ พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ อดีตประธานที่ปรึกษากองทัพไทย ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การจัดซื้อ "ระบบเรือเหาะตรวจการณ์" อย่างรุนแรงว่า ไร้ประโยชน์ในทางยุทธการ ไม่เหมาะกับสภาพพื้นที่ที่เป็นป่าเขาและฝนตกชุกอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งยังเสี่ยงต่อการถูกยิงตกด้วย
นับจากวันนี้คงอีกไม่นานที่คนไทยจะได้ชมปฏิบัติการของ "เรือเหาะติดกล้อง" ราคา 350 ล้าน ว่าจะคุ้มค่ากับงบประมาณและการรอคอยหรือไม่!
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เรือเหาะตรวจการณ์ "สกาย ดรากอน" ระหว่างถูกนำมาทดสอบหลายต่อหลายครั้งในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา (ภาพโดย อับดุลเลาะ หวังนิ และ สุเมธ ปานเพชร)