วันสื่อทางเลือกชายแดนใต้...กับทางเลือกใหม่ของผู้หญิงด้วยพลังสื่อข้ามพรมแดน
เกือบ 1 ทศวรรษของสถานการณ์ความไม่สงบรอบใหม่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไป และหลายฝ่ายมองว่าเป็นการเปลี่ยนในทางที่ดี นั่นก็คือการมี "สื่อทางเลือก" เกิดขึ้นมากมายในพื้นที่
การก่อกำเนิดและขยายตัวของ "สื่อทางเลือก" มาจากหลายปัจจัย ด้านหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเพราะข้อจำกัดของ "สื่อกระแสหลัก" เอง ที่ไม่สามารถตอบสนองพลวัตในระดับท้องถิ่นได้อย่างลุ่มลึก ครอบคลุมและเท่าทัน ประกอบกับเทคโนโลยีการสื่อสารที่ก้าวไกลกว่าเดิมมาก โดยเฉพาะการเติบโตของ "สื่อใหม่" อย่างโซเชียลมีเดีย ทำให้ผู้คนในระดับปัจเจก ไปจนถึงชุมชน และอนุภูมิภาคสามารถมี "สื่อ" เป็นของตนเองได้
ที่สำคัญที่สุดคือ ความไม่เป็นธรรมยังไม่บังเกิด ปุถุชนจึงต้องมีสื่อเป็น "กระบอกเสียง" เพื่อบอกเล่าปัญหา และเรียกหาความเป็นธรรม
เมื่อวันจันทร์ที่ 12 มี.ค.2555 เครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมชายแดนใต้ ร่วมกับองค์กรภาคีกว่า 20 องค์กร ได้ร่วมกันจัดงาน "วันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ครั้งที่ 2" ที่คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ภายใต้สโลแกนว่า "เชื่อมร้อยเครือข่าย ผสานกำลังสื่อ สร้างพลังต่อรอง"
ภายในงานมีการแสดงละครเพื่อสันติภาพ, การจัดนิทรรศการขององค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่, บูธแสดงผลงานของเครือข่ายสื่อภาคประชาสังคม รวมทั้งนิทรรศการภาพถ่าย และเวทีเสวนาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อาทิ แนวทางการขับเคลื่อนงานสตรีชายแดนใต้โดยใช้พลังสื่อ เป็นต้น
สร้างประเด็นร่วมกัน...สร้างอำนาจต่อรอง
ฐิตินบ โกมลนิมิ ผู้ประสานงานศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ หรือ ดีพเซาท์วอทช์ ในฐานะแม่งาน กล่าวว่า เหตุผลที่จัดงานมี 2 ประเด็นหลัก คือ 1.มองความรุนแรงที่ยืดเยื้อ บวกกับการเกิดขึ้นของภาคประชาสังคมอย่างกว้างขวาง แต่ขาดความเข้มแข็งในการทำงาน อีกทั้งข้อมูลข่าวสารไม่เป็นที่เปิดเผย จึงควรทำงานภายใต้ประเด็นร่วมกันไปพร้อมๆ กัน และ 2.บริบทของการสื่อสารที่เปลี่ยนไป สื่อกระแสหลักคนไม่สามารถเข้าถึงได้ จึงมีสื่อทางเลือกเกิดขึ้นมากมาย ผู้คนสามารถสื่อสารได้เอง บวกกับสื่อกระแสหลักไม่เน้นเรื่องภาคใต้เหมือน 7 ปีที่ผ่านมา ฉะนั้นปัญหาภาคใต้ใครควรเป็นคนสื่อสาร หากไม่ใช่คนในพื้นที่เอง ทั้งหมดนี้จึงนำมาสู่การสร้างพื้นที่สาธารณะให้กับภาคประชาสังคม
"ถ้าเรารู้ประเด็นร่วมกัน การสื่อสารจะเกิดพลังการต่อรองมากขึ้น และเป้าหมายของเราคือจะร่วมกันยุติความรุนแรงได้อย่างไร" ฐิตินบ ระบุ
สื่อทางเลือกใจกล้า-เปิดพื้นที่มากกว่าสื่อหลัก
ส่วนความรู้สึกของผู้ที่เข้าร่วมชมงานอย่าง นูรีมารียัม วาโอ๊ะ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวว่า ชอบสื่อทางเลือกเพราะกล้านำเสนอประเด็นที่สื่อกระแสหลักไม่ค่อยกล้านำเสนอมากนัก เช่น การเรียกร้องให้ยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) ในพื้นที่
ขณะที่ผู้ร่วมจัดงานอย่าง พลธรรม์ จันทร์คำ จากซุ้มสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา เจ้าหน้าที่วิจัยลุ่มน้ำสายบุรี กล่าวว่า การเปิดพื้นที่ให้คนทำงานเป็นเรื่องดี โดยเฉพาะประเด็นลุ่มน้ำสายบุรี ซึ่งมีคนรู้น้อยมากว่ามีปัญหาทับซ้อนมากขนาดไหน
ใช้ "สื่อข้ามพรมแดน" ถ่ายทอดเรื่องเล่าของผู้หญิง
ด้านไฮไลท์ของงานบนเวทีอยู่ที่การตั้งวงเสวนาหัวข้อ "แนวทางการขับเคลื่อนงานสตรีชายแดนใต้โดยใช้พลังสื่อ" โดย พัชรา ยิ่งดำนุ่น ผู้จัดรายการสถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี ตั้งประเด็นว่า พลังสื่อมีส่วนช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ และสร้างความเคลื่อนไหวจากจุดเล็กๆ ไปสู่โลกกว้าง เพราะสื่อปัจจุบันไม่มีข้อจำกัดอีกต่อไปแล้ว เป็นสื่อข้ามพรมแดน ทุกอย่างที่ต้องการสื่อสารจึงอยู่ในมือเรา ประเด็นคือเราจะใช้อย่างไร
ฐิตินบ โกมลนิมิ ผู้ประสานงานศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ร่วมแลกเปลี่ยนในเวทีนี้ด้วยว่า ในต่างประเทศนั้น เรื่องเล่าของผู้หญิงมีความสำคัญมาก และขบวนการเคลื่อนไหวของผู้หญิงในโลกที่สามก็ใช้เรื่องเล่าของผู้หญิงในการเปิดพื้นที่และเป็นเครื่องมือในการต่อสู้
"การเขียนคือการต่อสู้รูปแบบหนึ่ง แต่การเขียนของผู้หญิงไม่ใช่การเขียนแค่ตัวอักษร แต่ผู้หญิงสามารถบันทึกเรื่องเล่าของเธอผ่านการกระทำทั้งรูป รส กลิ่น เสียง หรือแม้แต่อาหารที่ทำก็ได้ ข้อเสนอคือทุกกระบวนการของผู้หญิงชายแดนใต้ให้ใส่เรื่องเล่าและความหมายลงไปด้วย เรื่องเล่าของเรานั้นมีช่องทางการสื่อสารเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์เน็ต เฟซบุ๊ค แต่เราต้องมียุทธศาสตร์ในการเล่าเรื่อง รวมถึงจะทำอย่างไรให้เรื่องเล่านั้นกระจายเป็นหลายภาษาได้ด้วย" ฐิตินบ ตั้งโจทย์ให้คิดต่อ
ขณะที่ มูฮำมัดอายุบ ปาทาน ผู้อำนวยการอาวุโสศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นคือการผนวกเป็นมัลติมีเดีย คือมีทั้งเว็บไซต์ผู้หญิง ขณะเดียวกันผู้หญิงก็ทำทีวีได้ ทำวิทยุได้ จึงต้องเชื่อมวิทยุ ทีวี และเคเบิ้ลทีวีให้เป็นเครือข่ายเดียวกัน โดยเน้นการสื่อสารสองทาง
ส่วน ตูแวดานียา มือรีงิง ผู้อำนวยการสำนักข่าวอามาน กล่าวว่า ทุกคนสามารถเป็นนักข่าว เป็นนักเล่าเรื่อง หรือนักสร้างหนังก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปเรียนนิเทศศาสตร์ ในอดีตเราพูดเรื่องของตนเองยากมากเพราะเราไม่มีสื่อ แต่วันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไป ฉะนั้นผู้หญิงชายแดนใต้ต้องยืนอยู่บนขาของตนเองเพื่อขับเคลื่อนเรื่องของตนเองสู่สังคม
สำหรับกิจกรรมหลักในการขับเคลื่อนงานโครงการเครือข่ายสตรีในระยะต่อไป คือ
1.การจัดประชุมแกนนำผู้หญิงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกับเครือข่ายสื่อมวลชน
2.กิจกรรมอบรมพัฒนาศักยภาพผู้หญิงให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของสื่อ โดยจะมีกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้หญิงรุ่นใหม่
3.กิจกรรมเรียนรู้การถ่ายภาพ เพื่อให้ผู้หญิงสามารถเป็นนักข่าวได้ และทำเว็บไซต์ได้
4.การเป็นนักข่าวพลเมือง โดยคนที่อยู่ในพื้นที่สามารถนำเสนอข่าวออกโทรทัศน์ก็ได้
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : บรรยากาศในงานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ครั้งที่ 2 (ภาพทั้งหมดโดย แวลีเมาะ ปูซู)