เปิดหนังสือฉบับเต็ม! เรียกค่าปรับ บ.ขายเรือเหาะ สหรัฐ ก่อนปิดฉาก 350 ล.อะไรคิวต่อไป?
เปิดเอกสารฉบับเต็ม ทบ. เรียกค่าปรับ บ. Worldwide Aeros Corp ผิดสัญญาซ่อมบำรุง เรือ เหาะตรวจการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อน ผบ.ทบ.สั่งปลดประจำการ แยกชิ้นส่วน เอากล้องตรวจการณ์-รถลากบอลลูน ไปใช้ ปย.อย่างอื่น ปิดฉาก350 ล. พร้อมคำถาม ยังมีอีกไหม?
กลายเป็นตำนานไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับเรือเหาะกล้องตรวจการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ งบประมาณจำนวน 350 ล้านบาท ที่มีการจัดซื้อในปี 2552
ล่าสุดเมื่อ 14 ก.ย.2560 พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้เรือเหาะที่เป็นตัวบอลลูนหมดอายุการใช้งานแล้ว แต่กล้องตรวจการณ์ที่ติดอยู่ในเรือเหาะยังสามารถใช้การได้ ก็จะนำมาประยุกต์และปรับการใช้งานให้เหมาะสม ซึ่งอาจจะเป็นการใช้ติดกับอากาศยาน โดยทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กำลังดำเนินการ ทั้งนี้ กล้องตรวจการณ์ คือหัวใจสำคัญของการทำงานของบอลลูนและยังสามารถใช้การได้ ก็จะเอาไปใช้ประโยชน์ต่อไป ดังนั้นปัจจุบันเท่ากับว่าเป็นการยุติการใช้เรือเหาะตรวจการณ์ ส่วนรถลากตัวบอลลูน ได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทหารบก เป็นผู้พิจารณา ว่าจะทำอย่างไรอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เท่ากับเป็นให้สัมภาษณ์ถึงการปิดฉากการใช้งานเรือเหาะอย่างเป็นทางการ
กรณีของเรือเหาะ ก่อนหน้านี้ตกเป็นข่าวว่ามีปัญหาในการใช้งานมาโดยตลอด
กระทั่งเมื่อวันที่ 8 ก.ย.2560 สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลกรณี พล.ต.พรชัย ดวงเนตร เจ้ากรมการขนส่งทหารบก ทำการแทน ผู้บัญชาการทหารบก (ขณะนั้น) ได้ทำหนังสือ เมื่อ วันที่ 16 ก.ย.2557 ถึงกรรมการผู้จัดการ บริษัท Worldwide Aeros Corp. ประเทศสหรัฐอเมริกา แจ้งสงวนสิทธิเรียกค่าปรับ กรณีบริษัทปฏิบัติตามสัญญาไม่ครบถ้วน กรณี ไม่สามารถทำการบินเป็นไปตามสัญญา จึงขอสงวนสิทธิการเรียกค่าปรับ
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำหนังสือของกองทัพบกมาเสนออย่างละเอียด
เรื่องแจ้งสงวนสิทธิการเรียกค่าปรับ กรณีบริษัทปฏิบัติตามสัญญาไม่ครบถ้วน
เรียน กรรมการผู้จัดการ บริษัท Worldwide Aeros Corp. ประเทศสหรัฐอเมริกา
อ้างถึง 1.สัญญาจ้างที่ 57/2555 ลงวันที่ 15 ก.ย.2555 2.สัญญาแก้ไขเพิ่มเติมที่ 43/2557 ลงวันที่ 11 ก.ย.2557 ระบุว่า
1. ตามสัญที่อ้างถึง 1 และ 2 กองทัพบก โดย กรมการขนส่งทหารทางบก ได้จ้างปรนนิบัติและซ่อมบำรุงเรือเหาะ Aeros 40D มีกำหนดเวลา 1 ปี ในราคายกเว้นค่าอากรทางศุลกากรแต่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เป็นเงินทั้งสิ้น 943,000.00 เหรียญสหรัฐอเมริกา กับบริษัท Worldwide Aeros Corp. ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีกำหนดการปฏิบัติบำรุงและซ่อมบำรุงเรือเหาะตามสัญญาและกำหนดการชำระเงินเป็น 6 ห้วง ดังนี้
1.1 ห้วงที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2555 ถึงวันที่ 22 ธันวาคม 2555 วงเงิน 121,121.00 เหรียญสหรัฐอเมริกา หักภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เป็นเงิน 7,923.80 เหรียญสหรัฐอเมริกา ผู้รับจ้างคงรับเงิน113,197.20 เหรียญสหรัฐอเมริกา ซึ่งบริษัทฯ ผู้รับจ้างได้ดำเนินการเรียบร้อย และชำระเงินเรียบร้อยแล้ว
1.2 ห้วงที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2557 ถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 วงเงิน 157,300.00 เหรียญสหรัฐอเมริกา หักภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เป็นเงิน 10,290.65 เหรียญสหรัฐอเมริกา ผู้รับจ้างคงรับเงิน 147,009.35 เหรียญสหรัฐอเมริกา
1.3 ห้วงที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2557 ถึงวันที่ 16 กรกฎาคม 2557 วงเงิน 157,300.00 เหรียญสหรัฐอเมริกา หักภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เป็นเงิน 10,290.65 เหรียญสหรัฐอเมริกา ผู้รับจ้างคงรับเงิน 147,009.35 เหรียญสหรัฐอเมริกา
1.4 ห้วงที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2557 ถึงวันที่ 16 กันยายน 2557 วงเงิน 157,300.00 เหรียญสหรัฐอเมริกา หักภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เป็นเงิน 10,290.65 เหรียญสหรัฐอเมริกา ผู้รับจ้างคงรับเงิน 147,009.35 เหรียญสหรัฐอเมริกา
1.5 ห้วงที่ 5 ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2557 ถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2557 วงเงิน 157,300.00 เหรียญสหรัฐอเมริกา หักภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เป็นเงิน 10,290.65 เหรียญสหรัฐอเมริกา ผู้รับจ้างคงรับเงิน 147,009.35 เหรียญสหรัฐอเมริกา
1.6 ห้วงที่ 6 ตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 ถึงวันที่ 29 มกราคม 2558 งวดสุดท้าย วงเงิน 192,679.00 เหรียญสหรัฐอเมริกา หักภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เป็นเงิน 12,605.19 เหรียญสหรัฐอเมริกา ผู้รับจ้างคงรับเงิน 180,073.81 เหรียญสหรัฐอเมริกา
2. ครั้งนี้บริษัทฯ ได้มาปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาห้วงที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2557 ถึง 16 พฤษภาคม 2557 งวดการจ่ายเงินงวดที่ 2 วงเงิน 157,300.00 เหรียญสหรัฐอเมริกา หักภาษีมูลค่าเพิ่ม 10,290.65 เหรียญสหรัฐอเมริกา ผู้รับจ้างคงรับเงิน 147,009.35 เหรียญสหรัฐอเมริกา เรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่าผู้รับจ้างได้ปฏิบัติงานตามห้วงเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาฯ แต่ไม่สามารถทำการบินโดยเฉลี่ย 125 ชั่วโมงบินต่อเดือน รวม 2 เดือนเป็น 250 ชั่วโมงบิน แต่บริษัทฯ ทำความพร้อมบินได้ 93.5 ชั่วโมงบินใน 2 เดือน ซึ่งไม่เป็นไปตามสัญญาจำนวน 156.5 ชั่วโมงบิน (250-93.5) ซึ่งตามเงื่อนไข ช้อ 5 การรับประกันผลงาน กำหนดว่า
“ผู้รับจ้างจะให้การปรนนิบัติบำรุง และแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ เพื่อให้เรือเหาะพร้อมบินตามตารางเวลาที่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้า หรือกำหนดเวลาที่ตกลงไว้ระหว่างผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้าง และทำการบินได้ โดยเฉลี่ย 125 ชั่วโมงบินต่อเดือน มิฉะนั้นผู้รับจ้าง ต้องยอมให้ผู้ว่าจ้างคิดค่าปรับ เวลาที่เรือเหาะไม่สามารถทำการบินได้ ตามตารางเวลาที่กำหนดไว้ล่วงหน้า หรือกำหนดเวลาที่ได้ตกลงไว้ระหว่างผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้าง ในอัตราชั่วโมงละ 105.00 เหรียญสหรัฐอเมริกา (หนึ่งร้อยห้าเหรียญสหรัฐอเมริกา) นับแต่เวลาที่เรือเหาะไม่สามารถทำการบินได้จนถึงเวลาเรือเหาะสามารถทำการบินได้ดังเดิม หรือจนถึงวันบอกเลิกสัญญาแล้วแต่กรณี เศษของชั่วโมงให้คิดเป็น 1 ชั่วโมง” ดังนั้น บริษัทฯ จะต้องถูกปรับในอัตราชั่วโมงละ 105.00 เหรียญสหรัฐอเมริกา จำนวน 157 ชั่วโมงบิน
3. บริษัทฯ ได้ปฏิบัติงานตามเงื่อนไขของสัญญาห้วงที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2557 ถึง 16 พฤษภาคม 2557 ตามข้อ 2 บริษัทฯ ปฏิบัติตามสัญญาไม่ครบถ้วน กรมการขนส่งทหารบก จึงขอสงวนสิทธิการเรียกค่าปรับในครั้งนี้
ลงชื่อ พล.ต.พรชัย ดวงเนตร เจ้ากรมการขนส่งทหารบก ทำการแทน ผู้บัญชาการทหารบก
ทั้งหมดคือรายละเอียดฉบับเต็มในหนังสือเรียกค่าปรับเอกชนกรณีเรือเหาะ 350 ล้าน เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ ก่อนที่จะถูกปิดฉาก หลังจัดซื้อเมื่อปี 2552 พร้อมกับคำถามว่า มีความเสียหายหรือไม่ ใครต้องรับผิดชอบ? และอาจมีการจัดซื้อใหญ่บางรายการที่มีปัญหาในลักษณะเดียวกันที่ยังไม่ถูกเปิดเผยออกมา?
อ่านประกอบ:
ยุติทางการ เรือเหาะ 350 ล.! ผบ.ทบ.ชำแหละ เอากล้องตรวจการณ์ไปใช้ ปย.อย่างอื่น
จัดซื้อรถว้านบอลลูน 11.3 ล.-เป็นเอกชนรายเดียวผู้สืบราคาแลกเปลี่ยนรถ 128 คัน
ก่อนจอดเก็บ!เปิดหนังสือ ทบ.เรียกค่าปรับ บ.ซ่อมเรือเหาะ ผิดสัญญา บินได้ 93.5 ชม.ใน 2 เดือน