สปสช.ระบุ เคสคนไข้เส้นเอ็นขาดเข้าข่ายฉุกเฉิน 1 เม.ย.ทุก รพ.ห้ามปฏิเสธ
“หมอประทีป” ขยายความ “คนไข้ฉุกเฉิน”ตามมติใหม่ 3 กองทุนสุขภาพ 1 เม.ย.ทุก รพ.ห้ามปฏิเสธ เครือข่ายผู้เสียหายการแพทย์ฯ แนะกรณีโจ๋เส้นเอ็นขาด หาก รพ.บัตรทองไม่รักษา-ไม่ส่งต่อ คนไข้ฟ้องได้
จากกรณีนายนนทพรรธน์ ตั้งศิริกุลธร ชาวอำเภอไทรน้อย จ.นนทบุรี ผู้ปกครองนายพงษ์ดนัย ทองคล้าย อายุ 15 ปี นักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่งย่านบางบัวทอง เข้าร้องเรียนต่อศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา กรณีนำนายพงษ์ดนัยเข้ารับการรักษาอาการบาดเจ็บถูกฟันที่แขนซ้ายเป็นแผลลึกถึงกระดูก เส้นเอ็นขาด ตระเวนรักษาอาการบาดเจ็บในโรงพยาบาลจังหวัดนนทบุรีถึง 3 แห่ง แต่ได้รับการปฏิเสธอ้างว่าไม่พร้อม เตียงเต็มและสิทธิบัตรทองผู้ป่วยไม่ได้ขึ้นตรงต่อโรงพยาบาล ส่วนโรงพยาบาลในสังกัดบัตรทองของผู้ป่วยก็อ้างว่าเครื่องมือไม่พร้อม กระทั่งญาติต้องนำตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน โดยจ่ายค่ารักษาร่วม 6 หมื่นบาท ตามข่าวที่ได้เสนอไปแล้วนั้น
วันที่ 19 มี.ค.55 ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยัง นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งกล่าวว่าหนึ่งในนโยบายใหม่ของ 3 กองทุนสุขภาพ(กองทุนประกันสังคม กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนสวัสดิการข้าราชการ) ที่จะเริ่มใช้ในวันที่ 1 เม.ย.55 นี้นั้นในกรณีฉุกเฉินผู้ป่วยสามารถเข้าโรงพยาบาลใดก็ได้ และให้โรงพยาบาลให้บริการรักษาทันที โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบสิทธิและไม่ต้องให้ผู้ป่วยสำรองจ่าย โดยให้ สปสช.เป็นศูนย์กลาง ซึ่งดูแลครอบคลุมประชาชนคนไทยทุกคน
โดย นพ.ประทีป กล่าวว่าคำว่า “ฉุกเฉิน” ดังกล่าว ให้เป็นไปตามนิยามของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ที่แบ่งระดับการฉุกเฉินคือ กรณีฉุกเฉินถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ เช่น ภาวะหัวใจวาย ภาวะช็อคหรือเกิดอุบัติเหตุทางสมอง อีกกรณีคือถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดอันตราย เช่น เส้นเอ็นฉีกขาด ถ้าไม่รีบผ่าตัดหรือรักษาอาจทำให้เกิดความพิการได้ หรือบางกรณีที่ภาษาแพทย์เรียกว่า “เวลาทองของการรักษา” ถ้าปล่อยช่วงนั้นผ่านไปอาจมีภาวะอันตราย การมีแผลเหวอะหวะถ้าไม่ได้รับการรักษาเกิน 24 ชั่วโมงอาจเกิดการติดเชื้อรุนแรง
“กรณีนายพงษ์ดนัยเป็นอีกตัวอย่างของปัญหาที่นโยบายใหม่จะเข้าไปแก้ไข ส่วนที่หนึ่งเอ็นขาดก็ต้องต่อ นั่นก็แสดงว่าเข้าข่ายฉุกเฉิน ถ้าปล่อยไว้จะทำให้พิการได้ ส่วนที่สองคนไข้สามารถไปที่โรงพยาบาลไหนก็ได้ที่อยู่ใกล้ แต่ถ้าโรงพยาบาลเกินกำลังก็ส่งต่อโดยที่ไม่จำกัดว่าจะต้องไปตามเครือข่าย และต้องมีใบส่งตัว มีข้อมูลทางวิชาการ ทำตามขั้นตอน ไม่ต้องคำนึงค่าใช้จ่ายเพราะ 3 กองทุนจะเข้าไปดูแลค่าใช้จ่ายที่ร่วมกับทางโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ซึ่งหลังวันที่ 1 เม.ย.จะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ซึ่งสปสช.ที่เป็นเจ้าภาพจะทำให้เต็มที่ ส่วนญาติคนไข้จะฟ้องร้องได้หรือไม่ต้องดูที่ข้อเท็จจริง” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
ด้าน นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่าการที่โรงพยาบาลต้นสังกัดบัตรทองอ้างเครื่องมือไม่เพียงพอที่จะรักษา แสดงว่าผู้ป่วยรายนี้อาการหนัก ควรทำเรื่องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่พร้อม และมีรถส่งต่ออย่างเป็นทางการ จึงต้องดูว่าปล่อยให้ผู้ป่วยตระเวนไปหาโรงพยาบาลเองจนสุดท้ายต้องเข้าโรงพยาบาลเอกชนเสียค่ารักษาสูงหรือไม่ ซึ่งไม่ถูกต้อง
“ถ้าเป็นแบบนั้น แนะนำให้เรียกร้องโรงพยาบาลต้นสังกัดรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล เพราะไม่ใช่ความผิดผู้ป่วย เป็นความไม่พร้อมของสถานพยาบาล รวมทั้งควรร้องเรียนให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)รับผิดชอบที่จ่ายให้โรงพยาบาลเอกชนด้วย เพราะ สปสช.โดยคณะกรรมการควบคุมคุณภาพโรงพยาบาลในสังกัด ควรรับผิดชอบร่วมด้วย" ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าว .
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในข่าว “คนไข้โวย3รพ.ไม่รับรักษาเอ็นขาด รพ.บัตรทองปัดเครื่องมือไม่พร้อม”
http://bit.ly/xmFW26