โบราณ-ศิลปวัตถุเสี่ยงเสียหาย! สตง.จี้กรมศิลป์รื้อระบบบริหารจัดการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
สตง.แพร่ผลสอบระบบบริหารจัดการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ-กองทุนโบราณคดี หลังพบปัญหาเพียบไล่ตั้งแต่การบันทึกข้อมูล ควบคุมการเคลื่อนย้าย ตรวจสอบจำนวนไม่เป็นไปตามคู่มือที่กำหนด แถมการจัดเก็บดูแลรักษาไม่เป็นไปตามระเบียบหวั่นทำโบราณ-ศิลปวัตถุมูลค่าสูงเสียหาย จี้อธิบดีกรมศิลป์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาด่วน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่รายงานผลตรวจสอบการดำเนินงานบริหารจัดการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และกองทุนโบราณคดี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม พบว่า การบันทึกข้อมูล การควบคุมการเคลื่อนย้าย และการตรวจสอบจำนวนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ยังไม่เป็นไปตามคู่มือที่กำหนด รวมถึงการใช้จ่ายเงินกองทุนโบราณคดียังไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนโบราณคดี ขาดการติดตามผลการยื่นขอหรือต่อใบอนุญาตทำการค้าโบราณวัตถุศิลปวัตถุ ของผู้ประกอบการค้าโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ การเก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติยังไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ตลอดจนไม่มีการประกาศรายชื่อสถานประกอบการค้าที่ได้รับใบอนุญาตในราชกิจจานุเบกษาตามที่กฎหมายกำหนดด้วย
จากการตรวจสอบพบว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหลายแห่ง ไม่มีการบันทึกข้อมูลการควบคุมการเคลื่อนย้าย และการตรวจสอบจำนวนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ รวมถึงการจัดทำสมุดบันทึกเหตุการณ์ประจำวันคลังพิพิธภัณฑ์ไม่เป็นไปตามคู่มือที่กำหนด จำนวนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่มีการจัดทำทะเบียนในรายงานผลการเคลื่อนไหวโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ กับจำนวนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่มีการบันทึกในสมุดทะเบียนบัญชีหลักมีจำนวนไม่สอดคล้องกัน และไม่มีการแต่งตั้งข้าราชการเป็นคณะกรรมการตรวจสอบจำนวนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุประจำปีในระดับสำนัก
ขณะที่การใช้จ่ายเงินไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนโบราณคดี โดยมีการจ่ายค่าจ้าง ค่าตอบแทน ค่าใช้สอย ค่าวัสดุของบางสำนักหรือบางกลุ่มงานทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่ไม่มีภารกิจเกี่ยวกับกิจการโบราณสถานหรือการพิพิธภัณฑ์ ปัญหาเกิดจากความไม่ชัดเจนของระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการเก็บรักษาและการจ่ายเงินกองทุนโบราณคดีพ.ศ. 2534
นอกจากนี้ ยังพบว่า มีปัญหาขาดการติดตามผลการยื่นขอหรือต่อใบอนุญาตทำการค้าโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุของผู้ประกอบการค้าโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และคณะกรรมการตรวจสถานการค้าและสถานจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุไม่ปฏิบัติหน้าที่ที่กำหนด โดยจากรายงานการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสถานการค้าและสถานจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ของสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2556 –2559 พบว่า มีสถานประกอบการค้าที่ไม่ได้ยื่นขอหรือต่อใบอนุญาต จำนวน 33แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 19.64 ของจำนวนสถานประกอบการที่ตรวจสอบทั้งหมด จำนวน 168แห่ง ซึ่งคณะกรรมการจะตักเตือนสถานประกอบการค้าด้วยวาจา แต่ไม่มีการติดตามผลการยื่นขอหรือต่อใบอนุญาตของสถานประกอบการดังกล่าว ทำให้กรมศิลปากรสูญเสียรายได้ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำการค้าโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ จากการที่สถานประกอบการค้าไม่ยื่นขอหรือต่อใบอนุญาต และยังอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่สถานประกอบการค้าจะมีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามที่พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 และยังไม่มีการประกาศรายชื่อสถานประกอบการค้าโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่ได้รับใบอนุญาต ในราชกิจจานุเบกษาตามที่กฎหมายกำหนดด้วย
สตง. ยังระบุด้วยว่า การเก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ก็มีปัญหาไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย โดยจากการสังเกตการณ์การเก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่สุ่มตรวจสอบ จำนวน 21 แห่ง รายละเอียดตามภาคผนวกที่ 11 พบว่า มี15 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 71.43 ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่สุ่มตรวจสอบ ไม่ได้กำหนดเลขของชั้นหรือตู้ที่ใช้วางวัตถุไว้อย่างชัดเจน การจัดวางปะปนกัน และรวมกับวัตถุอื่น ๆ ทำให้การค้นหาตรวจสอบมีความยุ่งยาก ไม่สะดวก ต้องรื้อค้น อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ นอกจากนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบางแห่งมีห้องคลังที่มีการจัดเก็บโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ในห้องใต้ดินที่มีความชื้นสูง ไม่มีการควบคุมอุณหภูมิ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อโบราณวัตถุศิลปวัตถุที่จัดเก็บได้
เบื้องต้น สตง. ได้ทำเรื่องถึงอธิบดีกรมศิลปากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการตามข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาแต่ละด้านที่ตรวจสอบพบแล้ว พร้อมย้ำเตือนให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสำรวจและดำเนินการจัดเก็บโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่มีมูลค่าสูงหรือมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และศิลปะ ทั้งนี้ ในกรณีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่มีการจัดเก็บโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุไว้ในห้องใต้ดินที่มีความชื้นสูงให้พิจารณาจัดหาสถานที่จัดเก็บใหม่
หมายเหตุ : ภาพประกอบจากผู้จัดการออนไลน์