นานาทัศนะ : ถึงเวลาอาเซียนแสดงบทบาทกู้วิกฤติ 'โรฮิงญา'
หมายเหตุ:รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ เเละดร.อณัส อมาตยกุล คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ม.มหิดล นำเสนอความคิดเห็นต่อกรณีวิกฤติโรฮิงญา ในเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 9 เรื่อง โรฮิงญา:เรื่องที่ใกล้ตัวกว่าที่คิด ณ ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์เมียนมา แสดงความเห็นเกี่ยวกับบทบาทของไทยภายใต้การนำรัฐบาลทหาร ที่มี ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อกรณีวิกฤติโรฮิงญา ซึ่งกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น
“ไม่ต้องเป็นรัฐบาลไทย แม้แต่รัฐบาลในประเทศอาเซียน คงไม่มีประเทศใดอยากแสดงจุดยืนหรือท่าทีสนับสนุนมุสลิมโรฮิงญา”
ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์เมียนมา บอกเหตุผลเนื่องจากผู้นำประเทศต่างกังวลว่า จะเกิดผลกระทบกลับคืนมายังประเทศตนเองในหลายด้าน ยกตัวอย่าง ประเทศไทยอาจจะถูกตั้งคำถามว่า หากเป็นกรณีปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อมากว่า 10 ปี จะยอมให้เป็นปัญหาระดับสากลหรือไม่
ยกเว้นเกิดจากการรวมตัวกันของประเทศกลุ่มอาเซียน โดยทำให้ประเด็นดังกล่าวถูกหยิบยกเข้าสู่ที่ประชุมของทั้ง 10 ประเทศ รศ.ดร.สุเนตร เชื่อว่า การแสดงจุดยืนในระดับภูมิภาคค่อนข้างปลอดภัยมากกว่า และหากทำได้จริงจะเป็นเรื่องที่ดี
ทั้งนี้ บนพื้นฐานที่ว่า “ปัญหาภายในพม่าต้องกำลังมีสภาพกลืนกลายเป็นปัญหาภูมิภาคจนหาเส้นแบ่งไม่ได้ชัดเจนว่า ตกลงแล้ววิกฤติโรฮิงญาเป็นปัญหาภายในหรือภูมิภาค”
ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์เมียนมา ยังบอกว่า ภาคประชาชนมีส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนแก้ไขวิกฤติ จึงอยากเห็นความร่วมมือจากทุกศาสนา ที่เห็นว่าเป็นปัญหามนุษยธรรมที่เป็นปัญหาสากล ไม่ว่านับถือศาสนาใด สิ่งที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ดังนั้น ถ้าเราเปิดพื้นที่ขับเคลื่อนเช่นนี้ได้ จะค่อนข้างปลอดภัยในเชิงการต่อรอง
ดร.อณัส อมาตยกุล คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ม.มหิดล แสดงทัศนะของโลกมุสลิมในประเด็นวิกฤติโรฮิงญา ต้องมองในประเด็นชาวพม่าควรมีศาสนาที่ดำรงอยู่ในดุลยภาพของธรรมะ ผู้นำศาสนาหรือนักบวช ควรขับเคลื่อนไปตามภารกิจหรือพันธกิจของตัวเองในการที่จะนำปวงชนออกจากการเบียดเบียนผู้อื่น
มิฉะนั้นพม่าจะล่มสลายในทางธรรมะ มีเพียงแค่วัตถุปรากฎมากมายเป็นพัน ๆ หมื่น ๆ ชิ้น ที่เป็นสัญลักษณ์ว่า คนที่พม่าบูชาธรรมะ แต่ในทางปฏิบัติแล้วธรรมะกลับไม่ซึมซับไปเป็นพฤติกรรมของผู้คน เพราะผู้คนยังเต็มไปด้วยความเบียดเบียน ไร้ซึ่งเสรีภาพ ไม่มีดุลยธรรม และไม่มีแม้กระทั่งน้ำใจ
ดร.อณัส ยังเปรียบเทียบกับไทยว่า พัฒนามากกว่าพม่ามาก ยกตัวอย่างเฉพาะผู้ที่อพยพข้ามดินแดนเข้ามาฝั่งไทย เราได้ช่วยเหลือให้บริการด้านสาธารณสุขแก่คนเหล่านี้ ซึ่งถือเป็นคุณธรรมพื้นฐาน ที่น่าภูมิใจ คือ คนไทยยังอยู่ในดุลยภาพของศีลธรรม ไม่มีการจลาจลหรือรบราฆ่าฟัน .
ภาพประกอบ:http://www.un.org/apps/news/story.asp?NewsID=57500#.WbkyMchJbIV