5ปีคดี‘บอส’ข้อครหาดองเรื่อง-เลื่อนพบอัยการ7หน? ก่อนอินเตอร์โพลแพร่หมายจับทั่วโลก
พลิกปูมคดี ‘บอส กระทิงแดง’ จากข้อหาขับรถชนตำรวจเสียชีวิตปี’55 จนหนีออกนอกประเทศปี’60 ข้อครหากระบวนการยุติธรรม ถูกดองเรื่อง-ยื้อสำนวน จนคดีขาดอายุความเหลือแค่ข้อหาเดียว ก่อนอินเตอร์โพลเผยแพร่หมายจับไปทั่วโลก
นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ ‘บอส’ ทายาทตระกูลนักธุรกิจชื่อดัง ‘กระทิงแดง’ เป็นคนไทยรายล่าสุดที่ถูกองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ หรือ ‘ตำรวจสากล’ หรือ ‘อินเตอร์โพล’ เผยแพร่หมายจับ ‘สีแดง’ (หมายถึงบุคคลที่ต้องการตัว – Wanted) จากข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย (อ่านรายละเอียด : https://www.interpol.int/en/notice/search/wanted/2017-188828)
สำหรับนายวรยุทธ คือผู้ต้องหาตามหมายจับของทางการไทย กรณีเมื่อปี 2555 ขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ อดีตผู้บังคับหมู่ปราบปราม สน.ทองหล่อ เสียชีวิต
อินเตอร์โพล เผยแพร่ข้อหา พร้อมรายละเอียดคดีของนายวรยุทธ ในเว็บไซต์ตั้งแต่วันที่ 11 ก.ย. 2560 ที่ผ่านมา ภายหลังหลบหนีคดี ไม่ยอมมาพบพนักงานอัยการเพื่อนำตัวส่งฟ้องคดีตั้งแต่กลางปี 2560 เป็นต้นมา
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รวบรวมความเคลื่อนไหวกรณีดังกล่าว ให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
ภายหลังเกิดเหตุการณ์ขับรถชน ด.ต.วิเชียร เมื่อปี 2555 ต่อมาตำรวจ สน.ทองหล่อ ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเอาผิดนายวรยุทธ โดยตำรวจตั้งข้อหา 5 ข้อหา ได้แก่ ขับรถขณะเมาสุรา ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ขับรถโดยประมาททำให้ทรัพย์สินเสียหาย ไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือและไม่แจ้งเจ้าพนักงาน และขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
ต่อมา ข้อหาขับรถขณะเมาสุรา ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และข้อหาขับรถโดยประมาททำให้ทรัพย์สินเสียหาย ได้หมดอายุความลงไป หลังจากตำรวจจึงสรุปคดีส่งสำนวนให้พนักงานอัยการเพื่อดำเนินการสั่งฟ้องคดีดังกล่าว เมื่อช่วงปี 2559
ในชั้นพนักงานอัยการ จึงเหลือข้อหาให้ฟ้องแค่ 2 ข้อหา คือ ไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือและไม่แจ้งพนักงาน (หมดอายุความ 3 ก.ย. 2560) และขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย (หมดอายุความ 3 ก.ย. 2570)
พนักงานอัยการได้เรียกตัวนายวรยุทธ เพื่อนำส่งฟ้อง 2 ข้อหาดังกล่าวต่อศาลถึง 7 ครั้ง ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2559 เป็นต้นมา กระทั่งถึงวันที่ 27 เม.ย. 2560 นายวรยุทธ ก็ไม่ยอมมาพบพนักงานอัยการ โดยมีข้ออ้างหลายครั้ง เช่น เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2559 (ตอนโดนเรียกตัวครั้งแรก) มอบอำนาจทนายความขอเลื่อน โดยให้เหตุผลว่าอยู่ต่างประเทศ เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2559 มอบอำนาจทนายความขอเลื่อน อ้างว่าอยู่ระหว่างการร้องขอความเป็นธรรมกับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2559 ขอเลื่อนอีก อ้างว่า ติดภารกิจที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2560 ขอเลื่อนอีก อ้างว่า ติดภารกิจอยู่ที่ประเทศอังกฤษ อย่างไรก็ดีในครั้งนี้ มีสื่อมวลชนจากประเทศอังกฤษ ได้ยืนรออยู่หน้าบ้านพักของนายวรยุทธ เพื่อขอสัมภาษณ์ถึงการไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไทย อย่างไรก็ดีนายวรยุทธ ไม่ให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด
สำหรับบ้านพักของนายวรยุทธที่ประเทศอังกฤษ ต่อมาสำนักข่าวเอพี ได้แกะรอยนายวรยุทธจากการโพสต์ข้อความลงในสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) พบว่า เป็นบ้านก่ออิฐห้าชั้นที่นายเฉลิม อยู่วิทยา (ปู่ของนายวรยุทธ บุตรของนายเฉลียว อยู่วิทยา ผู้ก่อตั้งธุรกิจกระทิงแดง) ใช้เป็นที่อยู่ในเอกสารก่อตั้งบริษัท ไทยสยามไวเนอรี่ จำกัด (ธุรกิจเกี่ยวกับไวน์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของตระกูล ‘อยู่วิทยา’) เมื่อปี 2545 และเป็นบ้านหลังเดียวกันกับที่นางดารณี อยู่วิทยา มารดาของนายวรยุทธ ใช้เป็นที่พักเมื่อ 11 ปีที่แล้ว ช่วงเดินทางเปิดธุรกิจเกี่ยวกับร้านอาหารที่ประเทศอังกฤษ
สำนักข่าวเอพี สืบค้นชื่อเจ้าของบ้านในฐานข้อมูลของปานามา เปเปอร์ส (Panama Papers) พบว่า บ้านหลังนี้เป็นทรัพย์สินของบริษัท คาร์น ฟอร์ธ อินเวสเม้นท์ (Karnforth Investment Ltd.) จดทะเบียนที่หมู่เกาะบริติช เวอร์จิน ผ่านบริการสำนักกฎหมาย มอสแซค ฟอนเซเก้า เจ้าของข้อมูลที่ถูกเปิดเผยในปานามา เปเปอร์ส นั่นเอง
สำนักข่าวเอพี ระบุด้วยว่า ข้อมูลในฐานข้อมูลปานามา เปเปอร์ส ชี้ว่า ตระกูลอยู่วิทยาใช้บริการ มอสแซค ฟอนเซก้า ในการเป็นเจ้าของบริษัทนอกอาณาเขตจำนวนหนึ่งมาเป็นเวลากว่าสองทศวรรษแล้ว โดยบริษัทเหล่านี้มีการทำธุรกรรมซับซ้อน และสามารถปกป้องความเกี่ยวโยงกับชื่อตระกูลอยู่วิทยาและแบรนด์ Red Bull (กระทิงแดง) ให้อยู่นอกความสนใจของสาธารณะได้ (อ่านประกอบ : เอพีแกะรอยอินสตาแกรม-เฟซบุ๊ก พบทายาทกระทิงแดงโผล่บ้านหรูลอนดอน-โยง'ปานามา เปเปอร์ส์')
กระทั่งเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2560 นายวรยุทธ มอบอำนาจทนายความขอเลื่อนพบพนักงานอัยการเป็นครั้งที่ 7 อ้างว่า มีเหตุเร่งด่วนต้องไปจัดการธุรกิจที่ประเทศต่าง ๆ (ดูตารางประกอบ)
วัน/เดือน/ปี |
เหตุผล |
25 เม.ย. 2559 |
อยู่ต่างประเทศ |
25 พ.ค. 2559 |
อยู่ระหว่างร้องขอความเป็นธรรม กับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) |
24 มิ.ย. 2559 |
อยู่ระหว่างกระบวนการร้องขอความเป็นธรรมกับ กมธ.กฏหมายฯ สนช. - อัยการได้แจ้งตำรวจ สน.ทองหล่อ ให้ติดตามตัวมาให้ทันส่งฟ้อง
|
28 ต.ค. 2559 |
อยู่ระหว่างกระบวนการร้องขอความเป็นธรรมกับ กมธ.กฏหมายฯ สนช. - อัยการเรียกตัวมาพบเพื่อนำตัวส่งฟ้องอีกครั้ง
|
30 พ.ย. 2559 |
ติดภารกิจที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ต่อมา กมธ.กฏหมายฯ สนช. ส่งผลสอบสวนถึงอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ กรณีนายวรยุทธได้ร้องขอความเป็นธรรมไว้
|
30 มี.ค. 2560 |
ติดภารกิจอยู่ที่ประเทศอังกฤษ - สื่อมวลชนจากประเทศอังกฤษ เผยแพร่ข่าวนายวรยุทธเดินทางรอบโลก และได้เข้าไปสัมภาษณ์นายวรยุทธถึงกรณีไม่มาพบอัยการที่ประเทศไทย แต่นายวรยุทธ ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ใด ๆ
|
27 เม.ย. 2560 |
มีเหตุเร่งด่วนต้องไปจัดการธุรกิจที่ประเทศต่าง ๆ – อัยการขอศาลออกหมายจับ |
ส่งผลให้คราวนี้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ออกหมายจับนายวรยุทธ และศาลได้อนุมัติตามคำขอดังกล่าว เผือกร้อนจึงถูกโยนไปที่ฝ่ายตำรวจทันที ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่นำตัวผู้ต้องหาตามหมายจับกลับมาให้ได้ โดยในชั้นตำรวจนี้ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำหน้าที่ โดยเฉพาะการโยนภาระกันไปมาระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกระทรวงการต่างประเทศ ในเรื่องการแปลข้อความเอกสารภาษาอังกฤษเพื่อส่งไปยังอินเตอร์โพล เพื่อประสานขอให้ติดตามจับกุมตัวนายวรยุทธมาดำเนินคดีในไทย
กระทั่งช่วง ส.ค. 2560 ที่ผ่านมา ตำรวจจึงส่งเอกสารภาษาอังกฤษถึงอินเตอร์โพลสำเร็จ และอินเตอร์โพลได้เผยแพร่ข้อมูลหมายจับนายวรยุทธบนหน้าเว็บไซต์เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2560 ที่ผ่านมานั่นเอง (ดูภาพประกอบ)
นอกเหนือจากการติดตามจับกุมนายวรยุทธแล้ว อีกด้านหนึ่งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีอำนาจหน้าที่ไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงนายตำรวจระดับสูงทีเกี่ยวข้องในคดีนี้ด้วยเบื้องต้น 5 ราย
ได้แก่ พล.ต.ต.กฤษฎิ์ เปียแก้ว เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5 กับพวก ได้แก่ พ.ต.อ.สุคุณ พรหมาย รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5, พ.ต.อ.ไตรเมต อู่ไทย รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5, พ.ต.อ.ชุมพล พุ่มพวง ผู้กำกับการ สน.ทองหล่อ, พ.ต.อ.สัมฤทธิ์ เกตุแย้ม พนักงานสืบสวนสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ สน.ทองหล่อ, พ.ต.ท.วิบูลย์ ถิ่นวัฒนากูล พนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ, พ.ต.ท.วิรดล ทับทิมดี พนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ตั้งอนุฯสอบอดีต ผบก.น.5-พวก ปมช่วยเหลือ-ไม่นำตัวส่งอัยการฟ้อง‘บอส อยู่วิทยา’)
ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2560 ที่ผ่านมา นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. ร้องเรียนกล่าวหา พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. พล.ต..ท.ศานิตย์ มหถาวร ผบช.น. นายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ นายสุพล ยุติธาดา อดีตอัยการอาวุโส นายฤชา ไกรฤกษ์ อัยการเจ้าของสำนวน กับพวก ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ปล่อยให้ผู้ต้องหา (นายวรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทธุรกิจกระทิงแดง) หลบหนีออกนอกประเทศด้วย (อ่านประกอบ : ร้อง ป.ป.ช.สอบ‘จักรทิพย์-ศานิตย์-บิ๊กอัยการ’ ละเว้นไม่จับ‘บอส’ฟ้องศาลทำคดีขาดอายุความ)
ปัจจุบันข้อหาของนายวรยุทธ เหลือเพียงข้อหาเดียวเท่านั้นคือ ขับรถโดยประมาทจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย (หมดอายุความ 3 ก.ย. 2570) จากทั้งหมด 5 ข้อหา
ท้ายสุดนายวรยุทธจะถูกติดตามจับกุมตัว เพื่อมาดำเนินคดีในชั้นศาลประเทศไทยได้หรือไม่ ต้องรอติดตามกันต่อไป
อ่านประกอบ :
ป.ป.ช.สอบอยู่คดี ตร.ไม่สั่งฟ้องทายาทกระทิงแดง ลั่นไม่ปล่อยหมดอายุความแน่
ไทม์ไลน์ทายาท‘กระทิงแดง’ขอเลื่อนพบอัยการ 7 ครั้งก่อนจ่อถูกหมายจับ?
ไม่สนตระกูลดัง! รมว.ตปท.ดูความชัดเจนปมถอนพาสปอร์ตทายาท ‘กระทิงแดง’